ฟัง "ทูตอียู" ประจำประเทศไทย พูดถึงปัญหาชายแดนใต้และไทย-กัมพูชา
"ทีมข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต และหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย ถึงมุมมองและบทบาทของสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางออกของปัญหาขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา และประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายประเด็น
การสัมภาษณ์ดังกล่าวนัดหมายกันเมื่อเร็วๆ นี้ ในโอกาสที่ "อียู" ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดงาน "EU Travelling Tour of Thailand 2011" ที่ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ โดยมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการภาพถ่าย "EU faces in Thailand" ปาฐกถาพิเศษโดย ฯพณฯ เดวิด ลิปแมน ในหัวข้อ "EU in the World"
นอกจากนั้นยังมีการบรรยายเรื่อง "ทุนอีราสมุส มุนดุส (Erasmus Mundus)" ฉายภาพยนตร์จากสหภาพยุโรป หรือ EU Film Screenings การบรรยายเรื่องความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนโอกาสของความร่วมมือต่างๆ รวมถึงการบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป และการบรรยายเรื่องการศึกษาต่อและทุนการศึกษาในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรด้วย
O อียูมองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และวางบทบาทอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้น?
ประการแรกคือเราติดตามปัญหา มองเห็นความสูญเสียที่เกิดกับชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เราให้น้ำหนักตรงนี้ ฉะนั้นอียูจึงทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ซึ่งทำงานในระดับรากหญ้า เน้นที่กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย องค์กรเหล่านี้เป็นพันธมิตรสำคัญของอียูที่ช่วยให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปมอบเงินสนับสนุนโครงการหลากหลายขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมไปถึงส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อม การส่งมอบบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน การสร้างกระบวนการปรองดองผ่านการดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน การต่อสู้กับการกีดกันและทำให้ไม่มีความสำคัญทางสังคม
องค์กรเหล่านี้ก็เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นต้น งานของเราเน้นสนับสนุนให้ประชาชนกับรัฐทำงานร่วมกันได้ดี และเน้นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้ถูกจับกุมมีทนายแก้ต่างในคดีได้
O อยากให้ขยายความเรื่องการทำงานในระดับรากหญ้าที่อียูให้ความสนใจ?
เราเน้นทั้งเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจชุมชน และสิ่งแวดล้อม เรามีโครงการช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจด้วย เช่น การทำฟาร์มกุ้ง และการสนับสนุนชุมชนเครือข่ายชาวประมงขนาดเล็กของ จ.ปัตตานี นี่คือตัวอย่างขององค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากอียู โดยทางชุมชนต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดำรงไว้ซึ่งการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกชุมชนต้องพึ่งพิงในการดำรงชีวิต ชาวบ้านในชุมชนปาตาบูดี (อยู่ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี) ได้ร่วมกันสร้างเพิงพักเรือบริเวณชายหาด เมื่อชาวประมงกลับจากการหาปลาในแต่ละวัน ชาวบ้านที่อยู่บนชายฝั่งก็จะช่วยกันเข็นเรือขึ้นไปพักเก็บไว้ในเพิง นี่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อียูให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนั้นยังมีทูตอียูจากประเทศต่างๆ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยพาเดินทางลงพื้นที่หลายครั้งหลายช่วงเวลา แต่สถานที่ที่ไปเป็นสถานที่ที่ทางอียูเลือกเอง ไม่ได้ถูกพาไป หรือบางครั้งคณะทูตก็จะมากันเอง
สิ่งที่ผมอยากฝากก็คือ เราอยากให้เกิดสันติภาพ สันติสุข และการปรองดองแก่คนในพื้นที่ให้มากที่สุด
O การที่อียูมีประสบการณ์เรื่องการรวมตัวกันเป็นสหภาพ ก้าวข้ามเรื่องพรมแดนและเส้นเขตแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนกำลังก้าวตาม อยากทราบว่ามีการจัดการปัญหาหรือข้อพิพาทในระดับทวิภาคีอย่างไร เทียบกับกรณีที่กำลังเกิดปัญหาอยู่ในอาเซียน คือกรณีพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา?
อียูเป็นดินแดนที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมา ฝรั่งเศสกับเยอรมนีมีปัญหาชายแดนระหว่างกันเป็นประจำ อียูพยายามแก้ไขปัญหาการเมืองผ่านเศรษฐกิจ พยายามทำให้การค้าสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน สร้างความมั่นใจให้กับทุกประเทศ สร้างรายได้ สร้างการค้าร่วมกัน ฉะนั้นเมื่อมีอียูจึงไม่มีสงครามอีก
กรณีของไทยกับกัมพูชาก็มีอาเซียนดูแลอยู่ ฉะนั้นต้องสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยผ่านการเจรจา เพราะการเจรจาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ควรทำสงครามต่อกัน ความเป็นจริงผู้นำของทั้งสองประเทศก็เคยทำงานร่วมกันมาในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศก็มีกลไกหลายระดับ สามารถใช้พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันได้
O โครงการ EU Travelling Tour of Thailand 2011 มีวัตถุประสงค์อะไร และทำไมถึงเลือกมาจัดในภูมิภาค (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา)?
การจัดกิจกรรมในภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญในฐานะของทูตของสหภาพยุโรปที่เห็นว่าประเทศไทยมีมากกว่ากรุงเทพฯ เรามีความตั้งใจที่จะเดินทางไปทั่วประเทศทุกภูมิภาค ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นหลักในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสหภาพยุโรปให้มากขึ้น และในครั้งนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น
O ทุนอีราสมุส มุนดุส เปิดโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้แค่ไหน อย่างไร?
ทุนนี้เป็นทุนใหญ่ที่ทางอียูให้กับนักเรียนทั่วโลกและประเทศไทย ปัจจุบันมีนักเรียนไทยได้รับทุนนี้มากถึง 260 คน ทุนอีราสมุส มุนดุสมี 2 แบบ คือทุนที่ให้กับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร กับทุนที่ต้องเซ็นสัญญาตกลงเป็นการเฉพาะกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นทุนที่ให้ในเรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก รวมทั้งทุนวิจัยทุกด้าน ให้ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
สำหรับเฉพาะในภาคใต้ ล่าสุดอียูได้เซ็นสัญญาตกลงกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้กันที่ไว้สำหรับนักศึกษาจาก ม.อ.จำนวน 22 ทุน และอีก 29 ทุนเป็นทุนสำหรับบุคลากรกับอาจารย์ กระจายแบ่งกับมหาวิทยาลัยอื่นด้วย
O การจัด English debate training ที่ส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นต่าง มีรายละเอียดอย่างไร?
ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่มีการจัดอบรมเกี่ยวกับการโต้วาทีภาษาอังกฤษระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีนักศึกษาจาก ม.อ.จำนวน 10 คนเข้าอบรมและแข่งขันด้วย นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษได้ดี อยากให้นักศึกษา ม.อ.และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ให้มากขึ้นในปี 2554
อีกโครงการหนึ่งที่อียูกำลังทำคือโครงการถนนปลอดภัย หรือ Road Safety เหตุผลประการแรกที่ทำโครงการนี้เพราะเห็นว่าในเมืองไทยมีเยาวชนที่ใช้รถใช้ถนนอย่างไม่ปลอดภัยจำนวนมาก ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เราจึงร่วมมือกับทาง ม.อ.จัดตั้งศูนย์ Center of Excellence เพื่อให้ความรู้ โดยเน้นการสร้างศักยภาพของบุคลากรในการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปในเรื่องการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โครงการนี้ใช้งบประมาณ 16 ล้านบาท เป็นศูนย์สำหรับภาคใต้ทั้งหมดรวมทั้งของเอเชียด้วย โดยจะเปิดศูนย์ในเดือน พ.ค.นี้
O บทบาทของอียูและการมีทูตอียูประจำประเทศไทยช่วยให้ประชาคมโลกมีความเข้าใจประเทศไทยดีขึ้นแค่ไหน?
เมืองไทยมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางและเป็นที่รวมของสื่อมวลชนนานาชาติ ทั้งซีเอ็นเอ็น อัลจาซีราห์ บีบีซี แม้กระทั่งสื่อของฝรั่งเศส สื่อเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงทำให้ประชาคมโลกเข้าใจไทยได้มากขึ้นพอสมควร ขณะที่ไทยเองก็ประเทศเปิด มีความเป็นอิสระ ผมทำงานการทูตสาธารณะ เดินทางไปทั่วโลก เห็นว่าสิ่งที่ไทยกำลังทำนั้นดีแล้ว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต และหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย