อดุลย์ แสงสิงแก้ว : กลุ่มป่วนใต้ถึงทางตัน ต้องใช้ยุทธการ "รวมการเฉพาะกิจ"
เพราะเขาคือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ให้กำกับดูแลงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ถึง 2 รอบ และได้วางระบบงานตำรวจที่ปลายด้ามขวาน กระทั่งเป็นโครงสร้างศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) หรือที่รู้จักกันในนาม "กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 10" ในปัจจุบันนี้
ในวาระ 7 ปีไฟใต้ที่มีการตีแผ่งบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาตลอด 8 ปีงบประมาณว่าทุ่มเทไปแล้วถึง 1.45 แสนล้านบาท บนเส้นทางที่มีผู้สังเวยชีวิตไปมากถึง 4,370 ราย บาดเจ็บ 7,136 ราย เด็กกำพร้า 5,111 คน หญิงหม้าย 2,188 คน คดีความมั่นคง 7,680 คดี ศาลพิพากษาแล้วเพียง 256 คดี และยกฟ้องถึงร้อยละ 45.31 จนมีเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ถึง "ความล้มเหลว" ในความพยายามดับไฟที่ปลายขวาน
ทว่า "แม่ทัพสีกากีภาคใต้" อย่าง พล.ต.อ.อดุลย์ กลับมองตรงกันข้าม พร้อมด้วยตัวเลขสถิติมากมายที่ลำเลียงมายืนยัน...
O สถานการณ์ในวาระ 7 ปีไฟใต้เป็นอย่างไร เพราะช่วงปีใหม่ก็มีการก่อเหตุค่อนข้างหนัก?
ช่วงปีใหม่เป็นเรื่องที่เราประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และถือว่าดักทางถูกทั้งหมด เพียงแต่การป้องกันอาจจะทำไม่ได้ 100% เราคาดการณ์ว่าจะมีคาร์บอมบ์ ก็เกิดขึ้นจริงๆ
ส่วนสถานการณ์ในภาพรวม หากดูสถิติการก่อเหตุร้ายที่รวบรวมโดย ศชต.จะพบว่า ปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดคือ 2,475 เหตุการณ์ จากนั้นก็ค่อยๆ ลดระดับลงเรื่อยๆ จนถึงปี 2553 ตลอดทั้งปีเกิดเหตุรุนแรงเพียง 1,164 เหตุการณ์ เทียบกับปี 2552 ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,348 เหตุการณ์ เท่ากับลดลง 184 เหตุการณ์ หรือ 13.65%
เมื่อพิจารณาแยกรายจังหวัด จะพบว่าเหตุรุนแรงลดลงเกือบทุกจังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ลดลง 150 เหตุการณ์ หรือ 26.60% ยะลา ลดลง 60 เหตุการณ์ หรือ 17.49% ส่วนสงขลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 2 เหตุการณ์ หรือคิดเป็น 6.90% และนราธิวาสเพิ่มขึ้น 24 เหตุการณ์ หรือ 5.83%
แต่ถ้าลองมาดูการก่อเหตุรุนแรง จะพบว่าลดลงทุกประเภท ยิงด้วยอาวุธปืนลดลง 94 ครั้ง คิดเป็น 17.49% วางเพลิงลดลง 41 ครั้ง คิดเป็น 44.09% และลอบวางระเบิดลดลง 40 ครั้ง คิดเป็น 13.89%
ความสูญเสียด้านชีวิตและร่างกายจากเหตุรุนแรงก็ลดลงมากเช่นกัน ตลอดปี 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 606 ราย ลดลงจากปี 2552 จำนวน 87 ราย หรือคิดเป็น 14.33% แยกเป็นประชาชนสูญเสียลดลง 64 ราย คิดเป็น 12.62% ทหารสูญเสียลดลง 15 นาย คิดเป็น 25.86% และตำรวจสูญเสียลดลง 8 นาย หรือ 32%
สถานการณ์ในภาคใต้เหมือนกับคลื่นสึนามิ บ่มเพาะอยู่ใต้ดินมานาน 20 ปี แล้วก็เปิดปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 .ค.2547 คล้ายวันเสียงปืนแตก คือเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส การก่อเหตุรุนแรงพุ่งสูงสุดในปี 2550 จากนั้นปี 2551-2552 ก็ลดลงถึง 44% กระทั่งปี 2553 ก็ยังลดลงต่อเนื่อง 13.65% แสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายความมั่นคงประสบผลสำเร็จ มีการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดและดำเนินคดีกระทั่งศาลพิพากษาลงโทษเป็นจำนวนมาก
O ในแง่ของสถิติคดีความมั่นคงที่วิจารณ์กันมากว่าตำรวจทำคดีกันอย่างไร ทำให้อัตราการยกฟ้องสูงเกือบครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมด ประเด็นนี้จะอธิบายอย่างไร?
คดีความมั่นคงศาลลงมากกว่ายก (หมายถึงพิพากษาลงโทษมากกว่ายกฟ้อง) จากตัวเลขที่ ศชต.รวบรวมได้ พบว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งหมดตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 77,865 คดี เป็นคดีความมั่นคง 7,680 คดี หรือคิดเป็น 9.86% ในจำนวนคดีความมั่นคง 7,680 คดีนั้น เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 5,872 คดี รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,808 คดี หรือคิดเป็น 23.54% แต่ในจำนวนนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1,264 คดี หลบหนี 544 คดี
เมื่อแยกแยะคดีความมั่นคงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต่างๆ พบว่า คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 7,680 คดี เป็นคดีที่สั่งงดการสอบสวนเพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 5,269 คดี สั่งฟ้อง 1,536 คดี สั่งไม่ฟ้อง 210 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 665 คดี พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว 655 คดี สั่งไม่ฟ้อง 299 คดี และมีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 256 คดี ลงโทษ 140 คดี หรือ 54.69% ยกฟ้อง 116 คดี หรือคิดเป็น 45.31%
ก็อย่างที่บอกคือจริงๆ แล้วคดีที่ศาลลงโทษมีมากกว่าครึ่ง โดยศาลสั่งประหารชีวิต 21 คดี จำเลย 21 คน จำคุกตลอดชีวิต 39 คดี จำเลย 55 คน จำคุกไม่เกิน 50 ปี 80 คดี จำเลย 146 คน ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อย เพราะคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษคือหาพยานบุคคลยาก ต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย
O ถ้ามองว่านี่คือแนวโน้มที่ดีขึ้น คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้สถานการณ์มีทิศทางเช่นนี้?
ก็ด้วยนโยบายของรัฐบาล การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เด็ดขาด แต่ยึดหลักความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นเรายังมีระบบการสืบสวนจับกุม นำไปสู่การออกหมายจับและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวนมาก สาวไปถึงผู้สั่งการและมือวางระเบิดได้ทั้งหมด เราทำงานจนรู้ว่าผู้ปฏิบัติการมีโครงข่ายอย่างไร ทำกันเป็นขบวนการอย่างไร ใครสั่ง ใครอยู่เบื้องหลัง
O โครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบจากฐานข้อมูลของตำรวจเป็นอย่างไร มีคนอยู่เท่าไหร่?
เรารู้โครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเครือข่ายขบวนการนี้ที่เราพิสูจน์ทราบแล้วมีทั้งหมด 10,914 คน แยกเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรืออูลามา จำนวน 307 คน แกนนำ 206 คน กลุ่มติดอาวุธอาร์เคเค 2,197 คน แนวร่วม 5,835 คน แกนนำอื่น 1,089 คน นอกจากนั้นยังมีฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบงานมวลชน หาสมาชิก และผู้สนับสนุนที่ไม่ได้แสดงตัวเป็นแนวร่วมชัดเจนอีกจำนวนหนึ่ง
O รู้โครงสร้างอย่างนี้แล้วก็แสดงว่าติดตามจับกุมได้ไม่ยาก...
ทั้งหมดได้นำไปสู่การออกหมายจับทั้ง ป.วิอาญา และหมาย พ.ร.ก.รวมทั้งสิ้น 8,324 หมาย แยกเป็นหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) 3,914 หมาย เป็นหมาย ฉฉ. (หรือหมาย พ.ร.ก. ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จำนวน 4,410 หมาย คุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2,004 ราย ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. 416 ราย
ส่วนยอดจับกุม (คนละแบบกับการคุมตัวตาม พ.ร.ก.) จับได้ทั้งหมด 4,866 หมาย เป็นหมาย ป.วิอาญา 1,625 หมาย พ.ร.ก. 3,235 หมาย จับตาย (วิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะ) 133 ราย 364 หมาย คงเหลือ 2,907 หมาย แยกเป็น ป.วิอาญา 1,823 หมาย และ พ.ร.ก.1,084 หมาย
O แล้วสถานการณ์นับจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร?
ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ปฏิบัติของฝ่ายก่อความไม่สงบเริ่มขาดแคลนกำลังพล ส่วนหนึ่งถูกจับ อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการปะทะ และอีกส่วนหนึ่งหลบหนีออกนอกพื้นที่ ทำให้การก่อเหตุรุนแรงลดความถี่ลงอย่างชัดเจน หลายๆ ครั้งต้องใช้วิธีระดมพลข้ามเขต เรียกว่า "รวมการเฉพาะกิจ" คือระดมกองกำลังจากหลายๆ พื้นที่มาก่อเหตุใหญ่ครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่สมัยก่อนผู้ปฏิบัติจะมีเขตงานชัดเจนและไม่ข้ามเขตกัน สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่าฝ่ายคนร้ายมีผู้ปฏิบัติน้อยลง และแม้ฝ่ายแกนนำจะพยายามฝึกแนวร่วมรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติการได้มีประสิทธิภาพเท่าแนวร่วมรุ่นเก่าๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2553 รถที่คนร้ายใช้คือรถที่ใช้ในเหตุการณ์ยิงทหารชุดคุ้มครองพระเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. โดยคนร้ายนำไปเปลี่ยนสี ส่วนผู้ก่อเหตุก็ระดมมาหลายสาย รูปแบบที่ใช้เช่นนี้ ระยะหลังเห็นบ่อยมาก ซึ่งต่างจากช่วงปี 2547-2548 ที่ไม่มีการข้ามเขตกันเลย
O งานนิติวิทยาศาสตร์ช่วยให้ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง?
ที่เห็นชัดเจนคือฐานข้อมูลการใช้อาวุธปืนในพื้นที่ โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเราสามารถตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุจาก "ปลอกกระสุน" ที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุจำนวน 4,381 ปลอก พบเป็นการ "ยิงซ้ำ" จากปืน 574 กระบอก จึงเชื่อว่ายอดอาวุธปืนที่กลุ่มคนร้ายมีอยู่จริงไม่น่าจะเกิน 600 กระบอก และใช้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ขณะนี้
สำหรับอาวุธปืนที่ยึดได้จากปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม มีจำนวน 420 กระบอก แยกเป็น เอ็ม 16 จำนวน 122 กระบอก (บางส่วนเป็นอาวุธปืนที่ถูกปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547) เอชเค 13 กระบอก เอเค 47 หรืออาก้า 58 กระบอก ลูกซอง 49 กระบอก ปืนพกสั้น 174 กระบอก และอื่นๆ 4 กระบอก
O ระยะหลังมีการพูดถึงปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ ทั้งยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน บ่อนการพนัน สถานบริการ ปัญหาพวกนี้เชื่อมโยงกับไฟใต้หรือไม่?
ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์แน่นอน เพราะเงินที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมายได้ถูกนำมาสนับสนุนกลุ่มขบวนการ แต่ฝ่ายกองกำลังที่ปฏิบัติการไม่ได้รู้เรื่องด้วย เมื่อได้รับคำสั่งก็ทำ แต่เหตุระเบิดหลายๆ ครั้งชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยง โดยเฉพาะในแง่เส้นทางเงิน
ภาพเหล่านี้เมื่อชัดเจนขึ้น เราก็สามารถทำความเข้าใจกับบรรดาแนวร่วมหรือผู้ที่อยู่ขบวนการจนพวกเขาหันหลังให้กับขบวนการมากขึ้น เพราะชัดเจนว่าขบวนการหลอกใช้เยาวชน เวลาถูกยิงถูกจับก็ไม่มีมาใครรับผิดชอบ คนที่ถูกจับติดคุก ถูกขังก็เห็นว่ามีแต่ครอบครัวตัวเอง พ่อแม่ลูกเมียตัวเองเท่านั้นที่มาเยี่ยม ส่วนบรรดาแกนนำผู้สั่งการไม่เคยมาเยี่ยมเลย
ในความเห็นของผม ผู้ปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเด็กดี เรียนหนังสือเก่งที่ถูกหลอกใช้ ถูกยืมมือ หากสงครามชนะแกนนำก็ได้เป็นใหญ่ ระหว่างทางก็ยังได้เงินอีก เรื่องเหล่านี้ต้องแก้ที่การศึกษาและการถอนความคิดความเชื่อ
ผมคิดว่าการใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ก่อความรุนแรงที่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์ความเชื่อผิดๆ เพราะรัฐจะเปิดช่องทางให้กลับใจหรือเข้ามอบตัวได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี
O ได้ให้นโยบายกำลังพลในพื้นที่อย่างไรบ้าง?
สำหรับตำรวจเราต้องมีเรื่องร้องเรียนน้อยลง สูญเสียน้อยลง และจับกุมคนร้ายได้เยอะขึ้น สำคัญที่สุดคือต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อรัฐ ให้พี่น้องประชาชนได้ศรัทธารัฐ เราไม่ต้องการให้เกิดกรณีแบบตากใบหรือกรือเซะซ้ำอีก เพราะรู้ดีว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการหาเหตุลักษณะนั้นเพื่อยกระดับสถานการณ์ ฉะนั้นเราต้องระวังไม่ให้พลาดพลั้งแม้แต่นิดเดียว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ตรวจเยี่ยมกำลังพลชายแดนใต้