ธนาคารโลกยกย่องหลักประกันสุขภาพไทยช่วยขจัดความยากจน
ประธานธนาคารโลกปาฐกถาในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 66 หัวข้อ ความยากจน สุขภาพ และอนาคตของมนุษยชาติ ยกไทยประสบความสำเร็จในการใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือลดความยากจน ชื่นชมไทยกล้าหาญที่ริเริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนแม้จะมีข้อทักท้วงจากธนาคารโลกเรื่องความยั่งยืนการเงินการคลัง แต่ไทยก็ทำได้สำเร็จและโลกต้องเรียนรู้จากไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 66 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก ได้ปาฐกถาเรื่อง ความยากจน สุขภาพ และอนาคตของมนุษยชาติ โดยได้กล่าวว่า การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดความยากจนของประชาชน และเสริมสร้างให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างถึงประเทศไทยว่าเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนได้อย่างสำเร็จ และทำให้ประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันมาจากปัจจัยสำคัญคือ การมีสุขภาพที่ดีจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเอง
นายจิม ยอง คิม กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2544 โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นได้สร้างความยั่งยืนทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนกลุ่มที่ไม่เคยมีหลักประกันสุขภาพใดๆมาก่อน และผลการดำเนินงานอย่างทุ่มเทก็ได้ปรากฏผล โดยในปี 2552 พบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ช่วยให้คนไทยมากกว่า 300,000 ราย ไม่ต้องประสบกับภาวะล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
“มีเรื่องสำคัญที่ผมต้องแจ้งให้ทราบว่า ประเทศไทยได้ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าท่ามกลางข้อกังวลจากธนาคารโลกที่ได้ทักท้วงถึงความวิตกเกี่ยวกับความยั่งยืนเรื่องระบบการเงินการคลัง อย่างไรก็ตามวันนี้ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ผู้นำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขของไทยได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้นกับประชาชนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า และวันนี้โลกก็ได้เรียนรู้ความสำเร็จจากประเทศไทยเป็นต้นแบบ”ประธานธนาคารโลกกล่าว
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของปาฐกถา นายจิม ยอง คิม ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่มีความเท่าเทียม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่ออนาคตของมนุษยชาติร่วมกัน