เล็งชงรัฐบาลรับร่างพ.ร.บ.สภาชาติพันธุ์ฯ หวังลดเหลื่อมล้ำ-เข้าถึงสิทธิฐานะคนไทย
กลุ่มชาติพันธุ์หวั่นทุนนิยมทำวัฒนธรรมสูญ เล็งเสนอรัฐบาลรับร่างพ.ร.บ.สภาชาติพันธุ์ฯ ลดเหลื่อมล้ำ-เข้าถึงสิทธิฐานะคนไทย
วันที่ 1 มิ.ย. 56 งานประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 เครือข่ายผู้เสียโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ จัดสัมมนา ‘เหลียวหลัง แลหน้า เบิ่งดู พ.ร.บ.สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ส.ช.ช.ท.)’ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายสุรพงศ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวถึงข้อมูลจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ที่ระบุไทยมีประชากรกลุ่มคนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสิ้น 6.1 ล้านคน โดยปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้พยายามผลักดันให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนไทยอื่นมากขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก เช่น จีน เวียดนาม หรือสหรัฐฯ ที่มีองค์กรดูแลปัญหาโดยเฉพาะแล้ว
“พม.พยายามผลักดันให้วันที่ 9 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดกิจกรรมสนับสนุนขึ้น”
ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ฉบับประชาพิจารณ์) เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ พร้อมคาดหวังเวทีสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 3 จะมีการเสนอให้รัฐบาลรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเสนอเป็นร่างของรัฐบาลต่อไป โดยใช้มติครั้งนี้เป็นข้อสรุปร่วมกัน นอกจากนี้เสนอให้ประชาชนเสนอกฎหมายทางตรงเป็นร่างฯ ฉบับประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ประชาชนมีความต้องการจริง รวมทั้ง พม.ควรเสนอร่างฯ ฉบับกระทรวงควบคู่ด้วย
"ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจำเป็นต้องเจรจากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้ร่วมสนับสนุน รวมถึงเสนอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เสนอความเห็นต่อรัฐบาล เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เกิดกฎหมายอีกทอดหนึ่งด้วย"
ด้านนายสุพจน์ หลี่จา ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีความงามทางวัฒนธรรมและภาษา แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย ที่เกิดและอาศัยในไทยมานาน แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐคอยสร้างกลไกให้ความช่วยเหลือ แต่บางครั้งกลับไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการ ดังนั้นจึงอยากยืนด้วยลำแข้งตัวเอง โดยมีภาครัฐและเอกชนเป็นเพียงหน่วยงานที่สนับสนุนเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนกันเอง
“อดีตพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีพื้นฐานการดำรงชีวิตมาจากการเกษตรทั้งสิ้น เราอยู่ท่ามกลางความเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พี่น้องที่อยู่ในหุบเขา ที่ราบเชิงเขา ชายทะเล ท่ามกลางทรัพยากรที่หวงแหนรักษาไว้ แต่ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตการพัฒนาที่มุ่งเน้นทุนนิยมมากขึ้น อาจทำให้วัฒนธรรมความดีงามและวิถีชีวิตถูกผลกระทบและถูกกีดกันไปด้วย” ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าลีซู กล่าว
ขณะที่นางชุติมา มอแลกู ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นบ้านเกิดความเท่าเทียมกันกับคนในสังคม ช่วยยกระดับคนกลุ่มนี้ให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง
"พวกเราไม่เคยคิดจะแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่อยากเป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิและหน้าที่พลเมือง ฉะนั้นจึงต้องเกิดสภาชาติพันธุ์ฯ ขึ้น เพื่อจัดการตนเอง" นางชุติมา กล่าว และว่า ปัจจุบันแม้แต่การมีเงินมากกว่า 1 หมื่นบาท ก็ถูกภาครัฐตรวจสอบ ทั้งๆ ที่ทำมาหากินมาด้วยตัวเอง ที่สำคัญการเรียกร้องในสิทธิชุมชนมิได้เรียกร้องเพื่อชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่ง แต่เรียกร้องตามสิทธิที่พึงมีพึงได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สภาชาติพันธุ์เเละชนเผ่าพื้นเมืองเเห่งประเทศไทย มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเเละส่งเสริมการเเก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา ภูมิปัญญา สิ่งเเวดล้อม เเละสิืทธิมนุษยชนของกลุ่มประชากรเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เเละกรรมการ 15 คนรวมคณะกรรมการทั้งสิ้น 19 คน จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิก มีวาระเท่ากับสมาชิก
สำหรับงบประมาณนั้นจะได้รับเงินจากหลายฝ่าย ได้เเก่ เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรม. 32, เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณเเผ่นดิน โดยคำนวณตามรายหัวประชากรชาติพันธุ์เเละชนเผ่าพื้นเมืองในไทย เเละเงินจากการบริจาคเป็นหลัก.
ที่มาภาพ:http://tribalcenter.blogspot.com/2011/06/blog-post_26.html