ไขปมระบบสธ. นพ.เกรียงศักดิ์ ฉะ P4P เดินผิดทาง ไม่แก้ปัญขาดแคลนหมอชนบท
ไขปมระบบสาธารณสุข ชี้ P4P แก้ปัญหาผิดทาง ฉะ สธ.ไม่ปรับแรงจูงใจที่เป็นธรรม เท่าเทียม ลงทุนผลิตหมอชนบทจึงล้มเหลว กลับสมองไหลเข้าทางเอกชน เชื่อมีแผนล้ม อภ.ขวางประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ
วันที่ 1 มิ.ย. ในเวทีการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย (คสป.) เป็นวันที่ 2 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มีเวทีประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "ไขปม...ระบบสาธารณสุขไทย" จัดโดยเครือข่ายผู้บริโภค ที่มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และนายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวถึงการที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปรับหลักการจ่ายค่าตอบแทนแบบจ่ายค่าตอบแทนจากการจ่ายแบบอัตราเดียวทุกพื้นที่และทุกหน่วยบริการ เป็นการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือ P4P (Pay For Performance) ว่า จะทำให้แพทย์และบุคลากรในพื้นที่ชนบทขาดแรงจูงใจ และลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐในเมืองมากขึ้น อันจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล
"จากเดิมค่าตอบแทนส่วนนี้จ่ายเพื่อดึงบุคลากรไว้ในชนบท โดยคิดตามพื้นที่ตั้ง ความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่และเพิ่มอัตราเงินเดือนตามอายุงานสำหรับผู้ที่เสียสละอยู่ในพื้นที่ชนบทนานๆ เกณฑ์เหล่านี้เป็นวิธีในการสร้างแรงจูงใจได้ สำหรับอาชีพ หรือสาขาที่ไม่มีอยากอยู่ อยากไปทำงาน จะเห็นได้ว่ามีแนวทางในการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเท่าเทียม"
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่ภาครัฐลงทุนกว่าแสนล้าน เพื่อผลิตแพทย์ชนบท แต่เป็นการลงทุนที่ไม่ได้ประสิทธิผล เนื่องจากไม่สนับสนุน ไม่ปรับแรงจูงใจแพทย์ชนบทอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม เมื่อแพทย์ใช้ทุนเสร็จก็ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลรัฐในเมือง กลายเป็นการลงทุนผลิตแพทย์เพื่อโรงพยาบาลเอกชน และไม่สามารถแก้ไขการขาดแคลนแพทย์ชนบทได้ ทั้งนี้ ไม่ควรยอมให้โรงพยาบาลเอกชน เข้าสู่ตลาดหุ้นได้ เพราะการรักษาพยาบาลเป็นบริการคุณธรรม
ขณะที่นายระวัย กล่าวถึงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก่อตั้งมา 50 ปี ผลิตยาเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและลดราคายาลงได้มาก แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกลับไปแจ้งความกับดีเอสไอว่า อภ.นำพาราเซตามอลปนเปื้อนมาผลิตยา ทั้งที่ยังไม่มีการสืบสวนภายใน หลายเหตุผลเห็นได้ชัดว่ามีเป็นการตั้งใจทำลายชื่อเสียง เป็นแผนทำลายภาพลักษณ์ และเปิดทางให้มีการแปรรูปอภ. เรียกว่า แผนบันได 3 ขั้น ได้แก่ ทำลายภาพลักษณ์ เข้าแทรกแซงการทำงาน และนำไปสู่การแปรรูป
"เหตุที่มีการพยายามทำเช่นนั้น เนื่องจากเชื่อว่า อภ.เป็นปัญหาใหญ่ ชี้นำราคายาในระดับเป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทยาข้ามชาติ และบริษัทยาเอกชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ประชาชนไม่เข้าใจ ตัดสินแค่ว่า ยาที่นำเข้าดีกว่ายาของ อภ.แต่ข้อเท็จจริงยามีมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากอภ. ใช้มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกรับรอง"
ด้านน.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็เห็นด้วยว่า ไม่สนับสนุนให้ใช้ระบบ P4P อันจะทำให้แพทย์ถูกดึงออกจากชนบท ซึ่งจะทำให้ผู้รับบริการต้องได้รับผลกระทบในเชิงลบ ในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการ และใช้หลักประกันสุขภาพ การที่รัฐจะใช้ระบบภาษี การเงินการคลังของรัฐมาจัดการ ต้องทำให้ผู้รับบริการทุกคนมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการรักษาและบริการ ไม่ใช่กีดกันด้วยระบบการเลือกจ่าย
เช่นเดียวกับ ภาคประชาชนที่เข้าร่วมในการประชุมที่ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ควรนำเรื่องผลประโยชน์ และเรื่องการเมืองมาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ควรจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่ทำงานเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด