เปิดจม.อุเทน ถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โปรดทบทวนการบริหารจัดการน้ำฯ Module A5
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
กราบเรียน ท่านนายกรัฐมนตรี
เรื่อง โปรดช่วยตรวจสอบและทบทวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (โดยเฉพาะ Module A5)
ตามที่รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ กบอ. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ตาม พรก. วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ดังที่ทราบแล้วนั้น กระผม นาย อุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ทางฝั่งตะวันออก ศปภ. และในฐานะอดีตผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนข้อมูล (back up) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ขออนุญาตกราบเรียนให้ทราบถึงอุปสรรคและปัญหาที่จะมีและเกิดใน Module A5 ดังนี้
1. จากวัตถุประสงค์ที่จะก่อสร้างทางผันน้ำ (Flood Diversion Channel) ให้สามารถผันน้ำลงสู่อ่าวไทยไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 153,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำหลากที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเน้นระบบแรงโน้มถ่วงลงสู่อ่าวไทย (ตาม TOR ข้อ 2) กระผม ขอตั้งคำถาม ดังนี้
ก. หากไม่มีน้ำหลาก ทางผันน้ำตามที่สร้างจะมี หรือจะเอาน้ำจากที่ไหนมา
ข. คำตอบมีอยู่เพียงคำตอบเดียว คือ ต้องเอาน้ำมาจากเจ้าพระยา แล้วน้ำในเจ้าพระยาที่มีอยู่ จะระบายออกมาได้วินาทีละเท่าไหร่ ปัจจุบัน มีการระบายน้ำในเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,000 – 2,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากระบายน้ำน้อยกว่านี้ จะส่งผลกระทบหากมีภาวะน้ำทะเลหนุน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำในเจ้าพระยาในจำนวนดังกล่าว (โดยเฉลี่ย) ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามนั้น และมีน้ำทะเลหนุนขึ้นมาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ เช่นกัน หากท่านคงการระบายน้ำในเจ้าพระยาไว้ที่ปริมาณดังกล่าวแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่จะเหลืออยู่ในเขื่อน ทั้งเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อาจไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภค บริโภค ส่งผลถึงการขาดแคลนน้ำ เกิดภาวะน้ำแล้งได้ แล้วท่าน และรัฐบาลจะจัดการอย่างไร
ค. ทำไมต้องระบายน้ำ จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้ามลุ่มน้ำ ไปยังลุ่มน้ำแม่กลอง
2. หากมีการดำเนินการก่อสร้างทางผันน้ำ ตามโครงการดังกล่าวจริง ขอถามว่า
ก. ตลอดแนวก่อสร้างทางผันน้ำ (ฝั่งตะวันตกของเจ้าพระยา) รวมระยะทาง ยาว ประมาณ 300 กิโลเมตร จะมีความ กว้าง ของทางผันน้ำ เท่าไร ? จะมีความลึก ของทางผันน้ำ เท่าไร ? ความลึกของจุดเริ่มต้นโครงการนี้ (เหนือจังหวัดนครสวรรค์) มีความลึก เท่าไร ? ความลึกของจุดสิ้นสุดโครงการนี้ (เหนือเขื่อนแม่กลอง) มีความลึก เท่าไร ? สรุป ทางผันน้ำนี้ มีความลาดเอียง เท่าไร ? มีความกว้างของฐานทางผันน้ำนี้ เท่าไร ? มีความลาดเอียงของตลิ่งทั้งสองฝั่งตลอดแนวทางผันน้ำนี้ เท่าไร ?
ข. ปริมาณดินที่ขุดขึ้นมาทั้งหมดจากการก่อสร้างทางผันน้ำนี้ มีปริมาณดินทั้งสิ้น เท่าไร ? นำไปไว้ที่ไหน ? นำไปให้ใคร ? หรือ เป็นของผู้รับจ้าง
3. ใน TOR ข้อ 3.2 (2) ที่กำหนดว่า “ช่วงที่สองอาจเลือกการขุดคลองผันน้ำด้านฝั่งขวาขนานกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาลงสู่อ่าวไทยบริเวณตำบลบ้านแหลม จังหวัด เพชรบุรี โดยทำจุดเชื่อมเพื่อระบายน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน หรืออาจพิจารณาแนวทางผันน้ำโดยการระบายน้ำผ่านแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนลงสู่อ่าวไทยตามธรรมชาติ” ขอถามว่า
ก. การขุดคลองผันน้ำด้านฝั่งขวาขนานกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาลงสู่อ่าวไทย นั่นหมายถึงคลองอะไร กับ คลองอะไร
ข. การทำจุดเชื่อมเพื่อระบายน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีน หรืออาจพิจารณาแนวทางผันน้ำโดยการระบายน้ำผ่านแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีนลงสู่อ่าวไทยตามธรรมชาติ นั้น กบอ. กำลังคิด และ จะทำอะไร ? ตรงจุดไหน ? เพื่ออะไร ?
4. ใน TOR ข้อ 3.1 “ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาปรับปรุงระบบชลประทานช่วงชัยนาท – ป่าสัก พร้อมส่วนต่อขยายลงสู่อ่าวไทย ด้วยระบบแรงโน้มถ่วงและระบบดันหรือดูดหากจำเป็นในบางจุดพื้นที่ให้มีอัตราการไหล 300 – 400 ลบ.ม./วินาที” นั้น ปริมาณน้ำดังกล่าวจะมีประมาณ 25 – 30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเมื่อปี 2554 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำนักชลประทานที่ 11 ที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวใน TOR ข้อ 3.1 นั้น มีข้อมูลชัดเจนว่า ศักยภาพของคู – คลอง - อุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ – ประตูระบายน้ำที่มีอยู่นั้นเพียงพอต่อการรับน้ำจำนวนดังกล่าวข้างต้น
ด้วยเหตุนี้ ในฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยา จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมอีก นอกจากการจัดการกับกลุ่มผู้บุกรุกตลอดแนวชายคลองของทุกคลอง และไปจัดการเรื่องขยะ และสิ่งกีดขวางอื่นๆ รวมถึงการดูแล บำรุงรักษา เครื่องสูบน้ำ - ประตูระบายน้ำ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
หากจะมีการก่อสร้างในฝั่งตะวันออกนี้ กระผมขอกราบเรียนเสนอ ให้ก่อสร้างคลอง (เช่นเดียวกับสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ) พร้อมประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ บริเวณบางปู ใกล้สถานีสูบน้ำบางตำหรุ (พื้นที่ในแนวกันน้ำ) ซึ่งจะสามารถป้องกันพื้นที่ในส่วนของตัวเมืองสมุทรปราการตลอดขึ้นไปถึงบางนา พระโขนง วัฒนา หากมีน้ำหลาก หรือฝนตกหนัก ไม่ให้ท่วมได้อย่างแน่นอน
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดตรวจสอบและทบทวน
ขอแสดงความนับถือ
นาย อุเทน ชาติภิญโญ