เปิดอาชีพแปลกคนเร่ร่อน ‘รับจ้างติดคุก-ม็อบ-หนูทดลองยา’
หากพูดถึง ‘คนเร่ร่อน’ หลายคนคงนึกภาพคนไร้บ้านไร้อาชีพ เป็นขอทานเนื้อตัวมอมแมมหลับนอนข้างถนน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน…
อาชีพของคนเร่ร่อน อาทิ รับจ้างเข็นรถผัก เก็บขวดพลาสติก-หาของเก่าขาย ไปกระทั่งทำมาค้าขายเหมือนคุณ ๆ ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ว่าพวกเขา ‘ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’เป็นบ้าน และวันนี้เราขอพาไปพบกับอาชีพที่ไม่ธรรมดาของคนกลุ่มนี้บางส่วน ซึ่งหลายคนคงนึกไม่ถึง….
‘รับจ้างติดคุกแทน’-ซีดีเถื่อน พนันรับหมด
ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องชินหูชินตาของสังคมไทย ตั้งแต่พ่อค้านักการเมืองมหาเศรษฐี แต่สำหรับคนจนปากกัดตีนถีบที่ไม่มีทางเลือก บางคนมันคือทางรอดปากท้อง เช่น “นายเอ” (นามสมมุติ) บุคคลใช้ชีวิตในที่สาธารณะบริเวณสนามหลวง เคยรับจ้างติดคุกแทนผู้กระทำความผิดตัวจริง ในข้อหาการพนัน พนันฟุตบอล ไพ่ ไฮโล และ ซีดีลามกอนาจาร ได้ค่าจ้างครั้งละ 500-3,000 บาท แลกกับการติดคุก1คืน
“ครั้งแรกที่ไปทำมีคนขี่มอไซค์มาตะโกนเรียก ซีดีๆไปไหม คนรู้จักก็บอกให้เราไปถ้าอยากมีเงินใช้ เขาจ้างเราไปติดคุก ตอนแรกก็กังวลแต่เขาบอกจะมีคนมาประกันตัวให้ พอไปถึงร้านซีดีก็ให้ถือถุงซีดีวิ่งบ้าง บางทีก็จัดหลักฐานซีดีเอาไว้แล้ว มีหน้าที่ขึ้นรถไปสถานีตำรวจ สอบพยานหลักฐานตามปกติ เขาจะมาประกันตัวที่ชั้นศาล แล้วให้ค่าจ้างให้หน้าศาล หรือบางทีก็ไปเอาที่ร้าน”
‘นายเอ’ เล่าอีกว่าส่วนการรับจ้างติดคุกการพนัน อุปกรณ์ที่ใช้เล่นจะถูกจัดเตรียมไว้หมด มีหน้าที่ไปนั่งแล้วร้อยเวรก็เขียนชื่อ โดยใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงทั้งหมด แต่มีความเสี่ยงถ้าคนจ้างไม่ประกันก็ติดคุกยาวฟรี ๆ เคยรับจ้างไปแล้วเขามาประกันตัวช้าเกือบถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ล่าสุดก็มีคนมาเรียกไปเดือนสองเดือน แต่ไม่ได้ไปเพราะไม่อยากเสี่ยงแล้ว
“บางคนมันเลือกบางงานกว่าจะได้แต่ละบาท สิบยี่สิบบาทก็ตายอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนช่วยตัวเองทุกอย่าง เพื่อเอาเงินมาไว้กินไว้ใช้ถึงรู้ว่ามันเสี่ยงหรือว่ามีคดีติดตัว” นายเอ พูดทิ้งท้าย
‘รับจ้างชุมนุม’-ส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน
อาชีพ “รับจ้างชุมนุม”อาจเป็นคำตอบในข้อสงสัยของหลายคนว่า จริง ๆ แล้วการชุมนุมทางการเมืองมีการจ้างคนมาร่วมชุมนุมจริงหรือไม่ ‘นายบี’(นามสมมุติ) ชายเร่ร่อนพื้นเพจังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่าเคยรับจ้างไปอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยคนมารับจะเป็นนายหน้ามาหาคนไปนั่งโบกธงหรือตะโกนตามแกนนำหรือผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ค่าจ้างหลังโดนหักค่านายหน้าวันหนึ่งได้ 100-300 บาท แต่จะได้รับเงินแบบผลัดวัน เช่น มาวันจันทร์จ่ายวันอังคารเหมือนบังคับ ถ้าอยากได้เงินอีกวันต้องมา
‘นายบี’ เล่าประสบการณ์ต่อว่า แรก ๆ ก็ไปรับจ้างไปชุมนุม พอสนิทกับคนคุมม็อบ ก็ไปรับตัวหนีบที่ชารต์แบตมือถือหรือสายชาร์ตของหลาย ๆ ยี่ห้อมาขอชาร์ตแบตโดยต่อปลั๊กกับคนคุมม็อบ เพราะบริเวณสถานที่ชุมนุมหาปลั๊กยาก ได้ค่าจ้างจากผู้มาชุมนุมครั้งละ20บาท
“แต่ไม่ใช่ทุกคนนะที่ถูกจ้างไป บางคนไปด้วยความเต็มใจ แต่บ้างก็ไปอาศัยกินข้าวเพราะของกินเยอะ มีน้ำให้อาบ มีของแจกฟรีให้อิ่มหนำเลย เอาของพวกนั้นมาขายได้อีก แต่พอฟ้าเริ่มมืดก็คือต้องออกจากที่ชุมนุม เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น มันก็อันตรายเหมือนกันอาจโดนลูกหลงได้”
‘อาชีพหนูทดลองยา’ บุญบนความเสี่ยง
อาชีพทดลองยาเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนเร่ร่อนใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่สำหรับ “ลุงซี” (นามสมมุติ) ชายวัย 48ปี มีอีกความคิดที่ทำให้เคยเขายึดอาชีพนี้มากว่า 6ปี
ครั้งแรกเริ่มจากอยากตรวจสุขภาพ เพื่อนบอกว่าใครเคยเที่ยวผู้หญิงให้ลองไปตรวจเป็นยาต้านเอดส์ ตั้งใจไปเจาะเลือดเพื่อตรวจเฉย ๆ แต่พอไปถึงหมอเอายาให้เกิน จดชื่อประวัติเราและบอกให้มากินยาทุกวันวันละ 1 เม็ด ได้เงินวันละ 70บาท ถ้าหนึ่งอาทิตย์ไม่ขาดไปกินยาตามนัดจะได้โบนัส 400 บาท ซึ่งเขาจะเจาะเลือดเราทุก3เดือน
‘ลุงซี’ เล่าอีกว่าคนที่ไปลองยามีทั้งคนที่เป็นโรคเอดส์และไม่เป็น เพราะถึงเวลาเจาะเลือดหมอจะเอาไปเปรียบเทียบปฎิกิริยาที่เกิดขึ้น แต่หมอก็ไม่ได้บอกว่ายานี้มีสารอะไรบ้าง หรือกินเพื่ออะไรพูดแบบตรง ๆ ก็หนูลองยา ตอนแรกก็กลัว เพราะอาทิตย์แรกที่กินรู้สึกอ่อนเพลียและท้องเสีย 1 อาทิตย์ แต่กินไปเรื่อยๆก็ไม่มีอะไร ตอนนี้ยังแข็งแรงดีและโครงการนี้ก็ยกเลิกไปแล้ว
“บางคนไปเพราะอยากได้เงิน แต่ผมคิดว่าได้บุญ ถ้าเขาพิสูจน์ว่ายาสามารถรักษาคนอื่นๆได้ อย่างน้อยจะได้รู้ว่ายาที่ผมกินไปแต่ละเม็ดทุกวันๆช่วยรักษาคนที่เป็นให้หายได้อีกหลายชีวิต เพื่อนผมตายเพราะโรคนี้หลายคน ผมยอมลงทุน เพราะตัวผมก็แข็งแรงอยู่แล้ว”ลุงซี พูดทิ้งท้าย
‘ต้นทุนทางสังคมต่ำ-พร้อมเสี่ยง’ เป็นเหตุอาชีพแปลก
นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน องค์กรที่ทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ บอกว่าการรับจ้างติดคุกถือเป็นหนทางหนึ่งของคนเร่ร่อนในการหาเลี้ยงชีพให้อยู่รอด ซึ่งแบ่งได้เป็น 1.รับจ้างเข้าไปอยู่ในคุกโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่แลกกับการอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารมีเสื้อผ้าให้ 2.ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน อย่างกรณีเจ้าของร้านขายสื่อลากมกอนาจารมาจ้างติดคุกแทน หรือกรณีจับบ่อนการพนันอย่างล่าสุดมี2-3คนไปรับจ้าง ได้คนละ3200บาท
“ทำไมถึงเลือกคนเร่ร่อนให้รับจ้าง เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสจะลืมตาอ้าปากได้ และต้นทุนทางสังคมต่ำ ไม่มีความน่าเชื่อถือในสังคมพูดอะไรไปคนมักไม่ค่อยเชื่อ ส่วนสำคัญคือพวกเขาไม่รู้ว่าหลังจากประกันตัวคดียังไม่จบ ส่วนมากคิดว่าประกันตัวเสร็จก็คือจบ”
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์บอกว่า กรณีขายสื่อลามกอนาจารถ้าโดนจับตาม พ.ร.บลิขสิทธิ์ อาจหลุดจากคดีได้ง่ายเพราะสามารถยอมความได้หรือการเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานได้สะดวกกว่า แต่หากถูกจับตามกฎหมายอาญาและถูกประกันตัวออกมาระหว่างรออัยการส่งเรื่องขึ้นชั้นศาล แต่เมื่อศาลนัดแล้วไม่มา ศาลสามารถสอบพยานฝ่ายเดียว ถ้าตัดสินว่าผิดจริงก็ออกหมายจับได้ และถ้าเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วยก็มีบทลงโทษตามกฎหมาย
อาชีพแปลกของบรรดาคนที่คุณเรียกว่าเร่ร่อน อาจยิ่งทำให้หลายคนมองคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะด้วยสายตาที่แย่ลงอีก แต่หากเปิดใจให้กว้างจะพบว่าเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิต และทุจริตคอรัปชั่น .