อารีเพ็ญ : ผมไม่เห็นด้วยกับนครปัตตานี!
“ผมไม่เห็นด้วยกับนครปัตตานี” คือประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความจาก อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย ปัจจุบันสังกัดพรรคมาตุภูมิ ที่ยืนยันจุดยืนของเขาต่อกระแส “นครปัตตานี” หลังจากบอกว่าได้รับเชิญไปร่วมเวทีสาธารณะประเด็นนี้เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วยเหมือนกัน แต่ติดภารกิจสำคัญจึงไม่ได้ไปปรากฏตัว
อารีเพ็ญ อธิบายแง่คิดของเขาว่า ประเด็นนครปัตตานี หรือเขตปกครองพิเศษ หรือแม้แต่ออโตโนมี (เขตปกครองตนเองที่มีความเป็นอิสระ) ไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผมทำงานในพื้นที่มานาน เป็น ส.ส.มาหลายสิบปี ได้สอบถามความเห็นคนในพื้นที่ตลอด ทราบดีว่าสิ่งที่ประชาชนสามจังหวัดต้องการมีอยู่แค่ 3 อย่าง คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความเป็นธรรม ส่วนนครปัตตานีเป็นเพียงความต้องการของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนใหญ่”
อารีเพ็ญ กล่าวต่อว่า ในฐานะ ส.ส. เขารู้ดีว่าการผลักดันเรื่อง “นครปัตตานี” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” เป็นเรื่องที่สำเร็จยาก เพราะคนไทยในภูมิภาคอื่นจะคัดค้านอย่างหนัก ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเพียงความฝันของคนกลุ่มหนึ่ง
“ถ้าไปผลักดัน คนทั้งประเทศจะค้านทันที” อารีเพ็ญ บอกด้วยสัญชาตญาณของผู้แทนราษฎร
เขายังเล่าประสบการณ์ที่เคยเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการปกครองท้องถิ่นว่า ในอดีตเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยตรง ด้วยหวังให้เป็นก้าวแรกก่อนเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถึงวันนี้ก็พบปัญหาว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.มีการใช้เงินสูงมาก
“การเลือกตั้งทำให้เกิดการแข่งขันและมีความขัดแย้งสูง มีการใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียง หลายพื้นที่จึงไม่ได้คนดีเข้าไปบริหาร แต่ได้ผู้มีอิทธิพลและอำนาจเงินเข้าไปแทน การเลือกนายก อบจ.จังหวัดหนึ่งใช้เงิน 20-30 ล้านบาท ถ้ารวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนครปัตตานี แล้วเลือกตั้งผู้ว่าการนคร อาจต้องใช้เงินถึง 60 ล้าน แล้วใครล่ะที่จะได้รับเลือกตั้งถ้าไม่ใช่พ่อค้าหรือกลุ่มทุน พวกนี้อาจแบ่งพื้นที่กัน หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ว่าการนคร ส่วนรองผู้ว่าก็ให้กลุ่มทุนแต่ละจังหวัดแบ่งกันไป ซึ่งจะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี”
อารีเพ็ญ บอกว่า อันที่จริงเขาเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง แต่นั่นต้องพิจารณาปัจจัยเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองด้วย หากเป็นพื้นที่อ่อนไหวและมีความขัดแย้งสูงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นระดับใหญ่ๆ อย่างนี้ ย่อมมีแต่ปัญหา
“ที่ผ่านมาเลือกตั้งนายก อบต. (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล) ยังยิงกันเลย ถ้าต้องแข่งกันเป็นผู้ว่าการนคร ก็ต้องมีความขัดแย้งสูงมากกว่าระดับ อบต.อีก แล้วอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายก็มีแต่ผู้มีอิทธิพลและมีเงินเยอะเท่านั้นที่จะได้ตำแหน่ง” ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย กล่าว
นอกจากมุมมองในบริบททางการเมืองแล้ว ในบริบทของประวัติศาสตร์ก็ยังอาจจะมีปัญหาในความเห็นของอารีเพ็ญ
“ทำไมต้องใช้ชื่อว่านครปัตตานี อย่างนี้คนนราธิวาสกับคนยะลาจะรู้สึกอย่างไร เพราะเขาก็มีประวัติศาสตร์ของเขาเหมือนกัน จังหวัดนราธิวาสกับจังหวัดยะลาก็ตั้งมานับร้อยปีแล้ว ก็ถือว่ามีประวัติศาสตร์ของตนเอง และหากมองย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีก ก็จะพบว่าเรามีเมืองระแงะ เมืองยาลอ เป็นหัวเมืองใหญ่ในอดีตที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญไม่แพ้ปัตตานี แล้วทำไมไม่เรียกนครระแงะ หรือนครยาลอบ้าง ทำไมต้องใช้ว่านครปัตตานี ซึ่งหมายถึงแค่ส่วนเดียวหรือจังหวัดเดียว”
อารีเพ็ญ ย้ำด้วยว่า ประเด็นนครปัตตานีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งความรู้สึกของคนในพื้นที่เอง และคนในภูมิภาคอื่น จึงไม่ควรผลักดันให้เกิดความสับสนต่อไป ยิ่งมีฝ่ายการเมืองมาขึ้นป้ายด้วย ถามว่าสุดท้ายจะเป็นจริงได้อย่างไร เพราะเป็นเพียงความฝันของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง
ดูเหมือนความฝันอันแรงร้อนว่าด้วย “นครปัตตานี” จะยังมีคำถามมากมายที่ต้องตอบคนในพื้นที่ให้ “เคลียร์” อยู่เหมือนกัน!
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา)