ติงมท.1 ไม่ใส่ใจแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น-ชงตั้งองค์กรเฉพาะกิจเยียวยา
คลอดกม.คนไทยพลัดถิ่น 1 ปี ขอสัญชาติไม่คืบ ‘เตือนใจ ดีเทศน์’ ติงมท.1 ไม่ใส่ใจแก้ปัญหา-ชงตั้งองค์กรเฉพาะกิจเยียวยา
วันที่ 31 พ.ค. 56 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จัดประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 โดยในเวทีเสวนา ‘ตอบโจทย์ 1 ปี กฎหมายไทยพลัดถิ่น’
น.ส.รสิตา ซุยยัง ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า คนไทยพลัดถิ่นเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่มะริด ทวาย ตะนาวศรี แต่เมื่อถูกอังกฤษยึดครอง ชาวไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญชาติพม่า หากแต่พม่าบอกว่าเราเป็นคนไทย เมื่ออพยพมายังจังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไร้สัญชาติ แม้จะมีพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 ว่าด้วยการคืนสัญชาติ พร้อมกฎกระทรวง แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากไปกว่านี้ทั้งที่เรียกร้องมากร่วม 10 ปี
“เหมือนมีคนพยายามกีดกันคนไทยพลัดถิ่นไม่ให้ได้รับสัญชาติ ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายแล้ว แม้จะบิดเบี้ยวก็ตาม แต่ก็รับได้ อยากถามว่าทำไมต้องปล่อยให้เราเดือดร้อน ทำไมต้องปล่อยทิ้งพวกเราอย่างนี้ เราไม่มีสิทธิเข้าถึงระบบการศึกษาหรือสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น จะออกนอกพื้นที่ได้เพียง 2 กรณี คือ ทำงานกับเรียนหนังสือเท่านั้น ดังนั้นการที่ภาครัฐระบุว่าจะเร่งดำเนินการ ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่ามีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แต่ในเมื่อเป็นคนไทยด้วยกันจึงไม่อยากทะเลาะกันให้อายต่างชาติ” น.ส.รสิตา กล่าว
นายวิโรจน์ ศรีสวัสดิ์ ผอ.ส่วนกลางทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กล่าวว่า พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 ว่าด้วยการคืนสัญชาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มี.ค. 55 เป็นต้นมา มีเจตนารมณ์ที่จะคืนสัญชาติไทยโดยการเกิดให้แก่ผู้เป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยมีคณะกรรมการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่พิจารณาเห็นชอบรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น 15 คน มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานนั้น จะทำหน้าที่พิจารณาให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งการประชุมคณะกรรมการฯ ล่าสุดเมื่อ 26 พ.ค. 56 มีข้อสรุปถึงสาเหตุที่ผู้ยื่นคำขอเป็นคนไทยพลัดถิ่นไม่ได้การรับรองนั้น เพราะการพิจารณาหลักฐานของผู้ยื่นคำขอมีความเห็นของคณะกรรมการที่แตกต่างกัน บางท่านเห็นว่ารูปแบบไม่ชัดเจน หรืออาจต้องเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วน ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ตามกฎกระทรวง ข้อ 8
“การประชุมก่อนหน้านั้น คณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบผู้ยื่นคำขอแล้ว 30 ราย แต่ต่อมากรรมการบางท่านเห็นว่าเรายังขาดตกบกพร่องไปส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นทำให้เกิดความล่าช้าจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ การรับรองว่าผู้ยื่นคำขอเป็นคนไทยพลัดถิ่นจะต้องไม่ได้ถือสัญชาติของประเทศอื่นจริง ซึ่งต้องให้ประเทศเหล่านั้นออกหนังสือรับรองดังกล่าว เช่น จะต้องให้กัมพูชาเป็นผู้รับรองว่ามิได้ถือสัญชาติกัมพูชา”
สำหรับข้อสรุปปัจจุบันให้ทำบัญชีรายชื่อผู้ขอยื่นคำขอไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประสานยังประเทศกัมพูชาหรือพม่าภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้รับการตอบรับจากประเทศเหล่านั้นถือว่าเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้หากมีการตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ขอยื่นคำขอถือสัญชาติประเทศอื่นอยู่จะถูกตัดสิทธิโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ขอยื่นรับรองคนไทยพลัดถิ่นราว 1.8 หมื่นคน แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครได้รับการรับรองสิทธิ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 เปรียบเป็นกฎหมายฉบับพิเศษที่ถูกผลักดันโดยภาคประชาชน โดยความเข้าใจของสังคมไทยมักคิดว่าได้กฎหมายแล้วสำเร็จ แต่ความจริงแล้วกลับขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามครรลองของกฎหมาย ซึ่งจำเป็นที่ผู้ยื่นคำขอรับรองจะต้องมีความรู้เรื่องดังกล่าว นอกจากนี้มองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย หากรู้จักเอาใจใส่ในการติดตามและสร้างกลไกแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้สัญชาติคงจะขับเคลื่อนเร็วขึ้น พร้อมเสนอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะกิจ และพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญด้วย.