ฟังชัดๆ แม่ทัพภาค 4 ตอบคำถามเรื่อง "ถอนทหาร-เขตปกครองพิเศษ"
หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ไปแล้วเมื่อครั้งรับตำแหน่งหมาดๆ แต่ดูเหมือนท่านแม่ทัพยังไม่ได้ตอบคำถามที่หลายๆ คนอยากฟัง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายเรื่องการถอนทหาร หรือลดกำลังทหาร และแนวคิดการจัดรูปการปกครองใหม่เพื่อดับไฟใต้อย่างยั่งยืน
"ทีมข่าวอิศรา" จึงเจาะลึกประเด็นคาใจเหล่านั้น ด้วยการยิงคำถามตรงๆ ไปที่ท่านแม่ทัพอีกครั้ง และคราวนี้มีเสียงสะท้อนจากหัวเรือใหญ่ภาคประชาสังคม อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่ฝากข้อเสนอแทนชาวบ้านไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
เริ่มจากบทสัมภาษณ์ พล.ท.อุดมชัย ก่อน...
O ข้อเรียกร้องเรื่องการถอนกำลังทหาร ท่านคิดอย่างไร?
ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเรื่องการถอนทหาร แต่เรื่องการปรับกำลังให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าว่าเราจะปรับใช้กำลังทหารให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างไร อันนี้เป็นประเด็นที่เราคงต้องนำมาพิจารณา ถ้าพื้นที่ไหนปลอดภัย ประชาชนดูแลตนเองได้ เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนอื่นๆ สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ ทหารก็คงไม่ต้องไปดูแลมากมาย และกลับไปทำหน้าที่อื่น แต่ถ้าพื้นที่ไหนที่ข้าราชการส่วนอื่นหรือเจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นยังไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้ หรือพี่น้องยังไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เราก็ยังต้องคงกำลังทหารไว้ อันนี้เป็นประเด็นในการพิจารณาว่าถอนหรือไม่ถอน
พื้นที่บางส่วนที่เป็นปัญหายังมีความจำเป็น ถามว่ามากไหม ตอบได้ว่าพื้นที่เหล่านั้นก็มีไม่มาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจระหว่างทุกภาคส่วน ผมคิดว่าขณะนี้จากการที่เราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องนโยบาย แม้ว่าจะมีการสับเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาก็ตาม แต่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น เพราะการทำความเข้าใจที่ผ่านมาผมว่าทุกคนเข้าใจมากขึ้นเยอะ
O กับการมีกองกำลังทหารพราน และ อส. (อาสารักษาดินแดน) ในพื้นที่เพิ่มขึ้น จะเป็นแรงเสริมให้ช่วยลดหรือปรับกำลังทหารลงในอนาคตหรือไม่?
ผมคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งในการเตรียมการที่จะให้กำลังในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป เพราะเป็นบ้านของเขาเอง การรักษาบ้านเป็นเรื่องสำคัญ การนำคนจากที่อื่นมาช่วย (หมายถึงทหารจากภูมิภาคอื่น) เพราะมีความจำเป็นเฉพาะหน้า ฉะนั้นการปรับตัวสำหรับกองกำลังในพื้นที่มีความจำเป็นในระยะต่อไป ภายใต้นโยบายการเมืองนำการทหาร
O ปัญหาเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตัวไม่ดี ประพฤติมิชอบ ท่านมีมาตรการจัดการอย่างไร?
แน่ชัดครับ ผมยังคิดขอความร่วมมือด้วยการประสานกับทุกภาคส่วนด้วย และผมเองก็ยังได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนว่าหากมีเหตุที่อธิบายได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่วนไหนทำผิด ให้เอาออกนอกพื้นที่ก่อน แล้วไปสืบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่มีการละเว้น
O ปมการละเมิดสิทธิชาวบ้าน ก็แก้ปัญหาแบบเดียวกันใช่หรือไม่?
ครับ ก็ใช้หลักปฏิบัติทั่วไปคือมาตรฐานของกฎหมายที่เราจะต้องทำเช่นเดียวกัน ไม่ว่าใคร ไม่ว่าส่วนไหน เราต้องทำอยู่แล้ว อันนี้เป็นนโยบายหลักๆ ของผู้บัญชาการทหารบกที่ท่านสั่งมาอย่างจริงจังและเด็ดขาด ความจริงก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ผู้บัญชาการท่านเก่าๆ อยู่แล้ว
O ศูนย์ซักถามที่เป็นเงื่อนไขอยู่ในพื้นที่ตอนนี้ (เพราะมีข่าวผู้ต้องขังหรือผู้ต้องสงสัยถูกทำร้ายร่างกาย และเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างต่อเนื่อง) ท่านมีนโยบายอย่างไรบ้าง?
เดิมยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง แต่หลังจากเกิดปัญหา เราได้ปรับตัวพอสมควร ได้เปิดให้มีการตรวจสอบ ทำให้ขณะนี้มีความโปร่งใสมากขึ้น ทุกภาคส่วนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว
O ข้อเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ท่านมีความเห็นอย่างไร?
ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น แน่นอน...ผมก็ต้องเสนอขึ้นไปว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ไม่ควรจะมีกฎหมายพิเศษ หลายคนอาจจะเห็นมันว่ามีปัญหา แต่ถ้าเราคงเอาไว้แล้วเราแก้ปัญหาได้ ผมคิดว่าก็ยังจำเป็น เพราะว่าเท่าที่เราใช้มา ถึงจะกระทบต่อสิทธิบางส่วน แต่ก็ทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น การที่จะยกเลิกก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามันดีขึ้นหรือไม่ ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมทำให้ดีขึ้นก็ยกเลิกได้
O เรื่องเขตปกครองพิเศษที่มีบางฝ่ายเสนอ ท่านคิดว่าจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้ได้หรือไม่?
ทางวิชาการที่หลายๆ ฝ่ายนำเสนอก็ว่ากันไป ถามว่าทางทหารมีความเห็นอย่างไร...พวกผมเป็นกลไกส่วนหนึ่ง คงไม่อาจเสนอความคิดเห็นอะไรได้ โดยเฉพาะที่ว่าเขตปกครองพิเศษดีหรือไม่ดีอย่างไร ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องเขตปกครองพิเศษขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะเอาอย่างไร
O ได้ยินได้ฟังเสียงจากในพื้นที่บ้างหรือไม่ว่าต้องการอะไร โดยเฉพาะเสียงจากผู้นำศาสนา?
บางส่วนก็มีการนำเสนอ แต่ก็ยังไม่มีขอบเขตว่าพิเศษในเรื่องอะไรบ้าง ขอบเขตจะปกครองตั้งแต่จังหวัดไหน หรือใครจะเป็นผู้ปกครอง และถ้าจะใช้กฎหมาย ต้องใช้กฎหมายชารีอะฮ์ทั้งฉบับหรือใช้ตัวแบบจากที่ไหน ทั้งหมดนี้ยังไม่เห็นและไม่ชัดเจน เพียงแต่พูดว่าเขตปกครองพิเศษเท่านั้นเอง
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เสนอให้ทหารทบทวนบทบาทหน้าที่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน...
O ปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นปัญหามาก อยากให้หน่วยงานความมั่นคงแก้ไขอย่างไรบ้าง?
ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าทางหน่วยงานความมั่นคงได้ปรับตัวมากในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่ยังห่วงใยก็คือเรื่องกลไกการตรวจสอบและการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติได้ ตรงนี้คิดว่ายังมีปัญหาอยู่
เช่น เรื่องเกี่ยวกับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว เรื่องการควบคุมตัวประชาชน ยังพบว่าในบางพื้นที่จับไปแล้ว ยังไม่ยอมให้เข้าไปเยี่ยม หรือยังมีการปฏิบัติที่ไม่ค่อยถูกต้อง หมายความว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังเป็นปัญหา ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูงพบว่านโยบายดีมาก ปัญหาทุกวันนี้จึงอยู่ที่ระดับปฏิบัติ
การควบคุมตัวที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถามของทหาร ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) จะพบว่าหลังจากที่มีเหตุการณ์การเสียชีวิตของ สุไลมาน แนซา (เสียชีวิตในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงหน้าต่าง ซึ่งฝ่ายทหารระบุว่าผูกคอตายเอง) ทำให้ชาวบ้านสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะฉะนั้นอยากให้เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ได้ทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ที่ผ่านมา เพราะพบว่ายังมีการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิสูงอยู่ พอมาถึงตอนที่สุไลมานเสียชีวิตจึงทำให้ความไม่มั่นใจของประชาชนในขั้นตอนของการควบคุมตัวหมดไปเลย
ตรงนี้เจ้าหน้าที่เองต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นใหม่ เช่น คนที่ถูกนำตัวมาควบคุมต้องให้ญาติเยี่ยมได้ หรือในบางกรณีอาจอนุโลมให้ทนายความเข้าเยี่ยม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งตรงนี้มันอยู่ในกฎหมายทั้งหมดเลย มันไม่ได้มีอะไรที่นอกเหนือกฎหมาย
O แสดงว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่าที่ควร?
ที่ผ่านมาในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ บางครั้งขอเยี่ยม เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ตรงนี้เลยกลายเป็นข้อกังขาว่าที่ไม่ให้เข้าไปเยี่ยมเป็นเพราะผู้ถูกควบคุมตัวถูกกระทำการบางอย่างหรือเปล่า
O จะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้อย่างไร?
ในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่ต้องเริ่มจากงานด้านการข่าวที่แม่นยำ ก่อนจะไปจับใคร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการข่าวที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่ไปการกลั่นแกล้งกัน หรือบางทีก็เหมาจับรวมไปหมดเลย ปัญหาเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่งานข่าว ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติการน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
O ใจจริงอยากให้ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์หรือศูนย์ซักถามอื่นๆ คงอยู่ในพื้นที่ต่อไปหรือไม่?
จริงๆ อยากให้มีการทบทวน เพราะศูนย์ฯนี้ทำงานมา 4-5 ปีแล้ว ถามว่าที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาความไม่สงบลดลงเลย แล้วศูนย์ฯนี้ทำงานเพื่อการข่าว ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความยุติธรรม ฉะนั้นตรงนี้ต้องชัดเจนว่าต้องมีการประเมินผลเรื่องงานการข่าว ต้องพิสูจน์ว่าการข่าวที่ได้มาแล้วเป็นอย่างไร ก่อให้มีการจำคุก ควบคุมตัวผู้ใช้ความรุนแรงได้มากขึ้นหรือไม่ เหตุการณ์ดีขึ้นไหม
อยากให้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีผลเสีย เพราะที่ผ่านมายังคงมีการร้องเรียนศูนย์ฯนี้มาก จึงเห็นว่าควรทบทวนใหม่ และคำนึงถึงผลที่ได้ว่ามันคุ้มไหมกับผลที่เสียไป นั่นคือประชาชนขาดความเชื่อถือเจ้าหน้าที่รัฐ
O เห็นอย่างไรกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ?
จริงๆ เราเคยอยู่กันมาได้ตั้งนานโดยไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พอมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา ก็เลยคิดว่าเราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มี พ.ร.ก. จริงๆ ไม่ใช่ ส่วนตัวเห็นว่าที่ผ่านมาใช้พ.ร.ก.แล้วมีการละเมิดสิทธิมาก เอาง่ายๆ ว่าแค่สงสัยใครก็เอาตัวมาแล้ว 30 วัน มันเลยทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความรอบคอบในการทำงาน
อันที่จริงอยากให้คิดแบบนี้ว่า พ.ร.ก.มันไม่ใช่กฎหมายพิเศษ เลิกไปแล้วถ้าวันไหนเหตุการณ์มันฉุกเฉินหรือควบคุมไม่ได้ก็กลับมาใช้ได้อีก เพราะฉะนั้นอยากให้เลิกมากกว่าคงอยู่ต่อไป เนื่องจากว่ามันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่สำคัญมันทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ
O ทางฝ่ายความมั่นคงบอกว่าจะประเมินจากสถานการณ์เพื่อประกอบการพิจารณายกเลิก พอฟังได้หรือไม่?
บางทีฝ่ายรัฐมุมหนึ่งก็บอกว่าเหตุการณ์ดีขึ้น การแก้ไขปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งพอจะให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็บอกว่าเหตุการณ์ยังไม่ดี ตรงนี้อยากให้ฟังเสียงของประชาชนด้วย เพราะอย่าลืมว่าเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตั้งแต่ 19 ก.ค.2548 จวบจนวันนี้ก็ 5 ปีกว่าแล้ว เราใช้กันมานาน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าบุคคลที่มีการนำมาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. จริงๆ บุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ บางครั้งเอามาเพื่องานการข่าวอย่างเดียว
จริงๆ ถ้ายังไม่อยากยกเลิก ก็อยากให้ทบทวนใหม่ได้ไหม เพราะการนำตัวประชาชนมา มันไม่จำเป็นต้องให้ครบ 30 วันตามที่ พ.ร.ก.กำหนดหรอก อาจจะเอามาแค่ 2-3 วัน ถ้ารู้ว่าเขาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ก็ควรปล่อยเขาไปเสีย ไม่ใช่เอามาแล้วต้องให้อยู่ครบ 30 วัน เพราะครอบครัวของเขาได้รับความเดือดร้อน
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (ขวา) อังคณา นีละไพจิตร
ภาพโดย : แวลีเมาะ ปูซู