พื้นที่ ๆ (ไม่) เหลือของ “สิงห์อมควัน”
สิ่งเสพติดส่วนใหญ่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้น “บุหรี่” ซึ่งถูกกฎหมาย สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด มีราคาถูกกว่าสิ่งเสพติดชนิด อื่น ๆ การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว แต่ควันบุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนรอบข้าง จึงมีกฎหมายเกิดขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของคนที่ไม่สุบบุหรี่
“โดยที่เป็นการยอมรับในทางการแพทย์ว่าควันบุหรี่เป็นผลเสียแก่สุขภาพของผู้สูบและผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ใกล้เคียงหลายประการ เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็งของปอด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ...นอกจากนั้นยังพิสูจน์ได้ว่าการที่ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องสูดควันบุหรี่ซึ่งผู้อื่นสูบเข้าไป ก็ยังเป็นผลเสียแก่สุขภาพของผู้นั้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่เอง...สมควรที่จะคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่มิให้ต้องรับควันบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยการห้ามสูบบุหรี่ในบางสถานที่หรือการจัดเขตให้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ”
นี่คือเหตุผลที่ถูกระบุไว้ท้าย พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 กฎหมายต้นกำเนิดของประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่จำกัดผู้สูบบุหรี่หรือสิงห์อมควันทั้งหลายให้สูบอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้ควันบุหรี่ไปรบกวนและทำลายสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบ
โดยกำหนดสถานที่ซึ่งต้องปลอดบุหรี่ไว้จำนวนมาก แทบทั้งหมดเป็นสถานที่สาธารณะ บางสถานที่ต้องปลอดบุหรี่ 100% บางสถานที่อนุโลมให้จัดสถานที่เฉพาะสำหรับผู้สูบบุหรี่ เช่น ห้องสูบบุหรี่ในท่าอากาศยาน สถานที่ทำงานของเอกชน เป็นต้น
เร็ว ๆ นี้มีผลวิจัยสำรวจสภาพอากาศในท่าอากาศยานในประเทศไทย 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยเก็บตัวอย่างในห้องพักสูบบุหรี่ บริเวณใกล้ประตูห้องพักสูบบุหรี่ และบริเวณปลอดบุหรี่ 112 ตัวอย่าง พบว่า ในห้องพักสูบบุหรี่มีควันบุหรี่มือ 2 ในปริมาณ 773.4 ไมครอนสูงกว่าท่าอากาศยานในสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับ 188.7 ถึง 4 เท่า
ส่วนบริเวณใกล้ประตูห้องพักสูบบุหรี่มีควันบุหรี่มือ 2 ในปริมาณ 54.6 ไมครอน สูงกว่าค่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ไมครอน และบริเวณปลอดบุหรี่ยังพบควันบุหรี่มือ 2 ในปริมาณ 14.3 ไมครอน
ซึ่งข้อมูลนี้เปิดเผยโดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ นำมาสู่การเปิดประเด็นใหม่ ต้องการให้ล้างบาง ห้องสูบบุหรี่ (Smoking Room) ที่ทางสนามบินนานาชาติในเมืองไทยได้จัดไว้ให้ โดยจี้ให้รัฐบาลเร่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปิดฉากที่พักสำหรับสูบบุหรี่ในสนามบินนานาชาติทุกแห่งในไทย ซึ่งมี ทั้งสิ้นรวม 12 แห่ง
ซึ่งต้องยอมรับกันว่า เหตุที่มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายมาจำกัดเสรีภาพของคนสูบบุหรี่ ก็เพราะว่าโลกนี้มีคนที่ไม่สูบบุหรี่มากกว่าคนสูบ ประมาณการกันว่าทั้งโลกใบนี้ มีผู้สูบบุหรี่อยู่ 25% ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าพลเมืองของประเทศใดจะสูบบุหรี่จัดกว่ากัน
คนสูบบุหรี่จึงถูกทำให้กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคม ถูกทำให้เป็นที่รังเกียจ ผ่านกระบวนการสร้างความหมายว่า บุหรี่เป็นสิ่งอันตราย เป็นสิ่งเสพติด และมีหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งที่ทำหน้าที่รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งดูเหมือนว่าในระยะหลายสิบปีมานี้จะได้ผล ในการทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยจากควันบุหรี่มากขึ้น
คนทำงานด้านการเขียนการใช้ความคิดรายหนึ่งซึ่งเป็นคนติดบุหรี่ยอมรับว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด ซึ่งตัวเองมีความเชื่อว่าการสูบบุหรี่จะช่วยให้ตนทำงานได้เป็นปกติ ช่วยผ่อนคลายเวลาทำงาน เคยลองพิสูจน์โดยไม่สูบ ก็รู้สึกว่าปวดหัว หงุดหงิดถ้าไม่ได้สูบ นอกจากนี้เคยพยายามเลิกบุหรี่หลายครั้งแต่ก็เลิกไม่ได้
ส่วนมาตรการจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ คนทำงานรายนี้ระบุว่า ตนเข้าใจ เป็นเรื่องส่วนรวม คนหลายคนไม่ชอบคนสูบบุหรี่ จึงต้องจำกัด เราก็พร้อมปฏิบัติตามกฎ แต่ในความรู้สึกลึก ๆ ก็รู้สึกต่อต้านถ้ามาจำกัดคนสูบมากเกินไป
“เขาต้องเข้าใจว่า คนสูบบุหรี่น่าสงสาร เพราะเราติดไง ก็พยายามไปหาที่สูบที่ไม่กระทบคนอื่น ๆ แต่ก็เคยมีบางครั้ง เช่น เรายืนสูบอยู่ในที่รโหฐาน อยู่ก่อนแล้วมีคนมายืนข้าง ๆ ทีหลัง แล้วมองเราว่าเราไปสูบบุหรี่รบกวนเขา ทั้งที่เรามาก่อน อย่างนี้ใครควรจะเป็นคนหลีกมากกว่ากัน หรือการตั้งเงื่อนไขการปรับที่แพงเกินไป รวมถึงสิ่งที่เพิ่มมากขึ้นตอนนี้ก็คือมาตรการเชิงสังคม ที่มองว่าคนสูบบุหรี่เป็นตัวประหลาด” นักสูบรายนี้กล่าว
ส่วนมาตรการเรื่องราคาบุหรี่ที่แพงขึ้น หรือฉลากภาพเตือนสติข้างซอง นักสูบรายนี้รู้สึกเฉย ๆ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องภาษีบาป และในแง่ผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เขาก็รู้ดี จึงเคยพยายามเลิกด้วยตัวเองหลายครั้ง แต่ก็ยังเลิกไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่าด้วยลักษณะงานที่ทำ และสังคมที่เขาอยู่ ยังมีคนสูบ นอกจากนี้ยังเคยโทรไปถามที่ศูนย์ปรึกษาเรื่องเลิกสูบบุหรี่ แต่ติดต่อยาก
“เรื่องว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด หรือสูบเพื่อผ่อนคลาย อาจเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะคนที่เขาเลิกได้ก็มีเยอะแยะเพราะฉะนั้น จริง ๆ แล้วปัญหามันอยู่ที่ตัวเรามากกว่า ที่ยังเลิกไม่ได้” นักสูบรายนี้ทิ้งท้าย
กับประเด็นที่สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ต้องการให้ยกเลิกห้องพักสูบบุหรี่ในสนามบินนานาชาติทุกแห่งในประเทศไทยนั้น นักสูบรายนี้ตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะไปสูบที่ไหน?” ก่อนระบุต่อว่า เนื่องจากสนามบินมีขนาดกว้างใหญ่ จะเดินทางไปสูบที่อื่นก็ลำบาก จึงถูกต้องที่จะมีการจัดสถานที่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของคนสูบ ส่วนผลการวิจัยที่ระบุว่าในห้องพักสูบบุหรี่และบริเวณใกล้ประตูห้องพัก มีปริมาณควันบุหรี่เกินค่ามาตรฐาน เห็นว่าเนื่องจากสถานที่สูบมีจำกัด คนสูบไปสูบกันอย่างแออัด ดังนั้นที่ถูกควรต้องเพิ่มห้องพักสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นรึเปล่า หรือมิฉะนั้นก็ปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ระบายควันบุหรี่ให้ดีขึ้นกว่านี้
ดูเหมือนที่ยืนของคนอมควันจะถูกรุกให้เหลือน้อยลง ๆ
บางทีในยามที่นักสูบพ่นควันของเขาออกจากปาก ซึ่งว่ากันว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งสุขุม อยู่กับตัวเอง เขาคงจะคิดได้ว่า ตัวเอง-ควันบุหรี่ และคนอื่น ๆ จะอยู่ร่วมกันอย่างไรต่อไปดี.