ค้าน FTA ผูกขาดเมล็ดพันธุ์-ขยายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต
เวทีถกผลกระทบข้อตกลงเจรจาการค้่าโลก หวั่นผูกขาดเมล็ดพันธุ์-ขยายสิทธิบัตรสู่สื่งมีชีวิต เอ็นจีโอเชื่อนักลงทุนต่างชาติไม่หนีเพราะไทยปฏิเสธ FTA
วันที่ 30 พ.ค. 56 คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.) และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จัดสัมมนา ‘ข้อตกลงทางการค้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กรณี TPP และ EU-ไทย FTA’ ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นางพิราภรณ์ กิจไพฑูณย์ ผอ.ส่วนบูรณาการ 2 (อเมริกาเหนือ) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิกฟิก (TPP) ว่า การที่ไทยประกาศตัวจะเข้าร่วมการเจรจา TPP จะได้รับประโยชน์ในด้านการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของไทย เนื่องจากไทยทำการค้ากับสมาชิก TPP ใน 11 ประเทศมีมูลค่าสูง ซึ่งสินค้าทั้งหมดจะได้รับสิทธิพิเศษภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เป็นศูนย์ถาวร ทำให้ไทยสามารถรักษาและดึงดูดการค้า การลงทุนจากสมาชิก TPP และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต การค้าในภูมิภาค แต่จำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบทางเศรษฐกิจการค้าของไทย
อย่างไรก็ตาม การเจรจา TPP ดังกล่าวก็มีผลกระทบ คือจะทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าและบริการจากสมาชิก TPP มากขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันและปรับเปลี่ยนมาตรฐานของสินค้าตามมาตรฐานการค้าที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ “ไม่สามารถบอกได้ว่าไทยจะเข้าร่วม TPP ได้สำเร็จเมื่อใด เพราะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อน”
ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงกรอบการเจรจาความตกลง EU-ไทย FTA ว่า เรามักได้รับฟังคำพูดที่เลื่อนลอยจากรัฐบาลว่า หากไทยไม่เข้าร่วมใน FTA จะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ และจะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไปยังยุโรปได้น้อยลง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแรงงานไทยจะตกงานได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดีเมื่อสัปดาห์ก่อนประธานสภาธุรกิจไทย-ยุโรประบุว่า แม้ไทยจะไม่เข้าร่วมใน FTA จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนเลย ดังนั้นหากรัฐบาลยังยืนยันจะเข้าร่วมใน FTA จำเป็นต้องหาข้อหักล้างให้ได้
“นักลงทุนจากยุโรปจะไม่ย้ายฐานจากไทย แต่อาจกระทบกับนักลงทุนชาติอื่นที่เข้ามาผลิตในไทยแล้วส่งสินค้าไปยังยุโรป เช่น เกาหลีใต้ผลิตทีวีจอแบนในไทยส่งขายยุโรป ถ้าเกิดไทยไม่มี FTA แต่มาเลเซียมีจะทำให้สินค้าที่ผลิตในมาเลเซียนั้นได้รับภาษีที่ต่ำกว่า เช่นนี้จะทำให้นักลงทุนเกาหลีใต้อาจจะย้ายฐานการผลิตไปมาเลเซีย เพื่อสามารถเข้าสู่ตลาดยุโรปได้นั่นเอง”
ทั้งนี้ เห็นว่าจะมองเฉพาะเรื่องสิทธิทางภาษีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการจะดึงดูดนักลงทุนเข้าในไทยนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านหนุนเสริม ซึ่งโครงการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของไทยก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะป้องกันได้
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงความตกลงกรณีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและพันธุ์พืชว่า การตกลงทั้ง TPP และFTA จะมีประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามสนธิสัญญาสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) โดย EU และสหรัฐฯ จะบีบบังคับให้คนไปเจรจาประสงค์ความตกลงนั้นจะต้องให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตาม UPOV1991 เพื่อให้สิทธิผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ 2.การขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต ซึ่งเดิมนั้นจะให้สิทธิบัตรได้เฉพาะสิ่งประดิษฐ์ด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่หากจะเข้าสู่กรอบ TPP และ FTA จะต้องขยายมาถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด
เช่น กรณี ‘นายจอห์น มัวร์’ ชาวอลาสก้า ป่วยเป็นโรคม้ามโต จึงไปรับการรักษาอาการที่ศูนย์การแพทย์ โดยมี ‘หมอเดวิด โกลด์’ เป็นแพทย์ผู้รักษา แต่เมื่อหมอผู้นี้ตรวจพบว่าม้ามของ ‘นายมัวร์’ มีคุณสมบัติต้านโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ได้ จึงได้นำชิ้นเนื้อดังกล่าวไปจดสิทธิบัตรเป็นของตนเอง ทำให้ ‘นายมัวร์’ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อทวงสิทธิในม้ามของตนเอง แต่สุดท้ายศาลได้ตัดสินให้ม้ามเป็นสิทธิผูกขาดของหมอ จึงแสดงให้เห็นว่าการผลักดันของบริษัทข้ามชาติและสหรัฐฯ ในการขยายการจดสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จะใช้เป็นเครื่องมือยึดครองฐานทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศทั่วโลก และจะทำให้ไทยตกอยู่ในอาณานิคมทางทรัพย์สินทางปัญญาได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับกรอบดังกล่าว
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ยังคัดค้านการยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเหมือน UPOV1991 ซึ่งเดือนที่ผ่านมาสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (ซีพี-มอนซาโต้-ดูปอง ฯ) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรไทยยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้น ทำให้ต้องยกเลิกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 42 โดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในยุโรปและภูมิภาคอื่นยังไม่ยอมรับในข้อตกลงดังกล่าวที่จะมาแทนที่ UPOV1978 เพราะจะส่งผลเสียต่อเกษตรกรในการคุ้มครองพันธุ์พืชได้
“ร่างกฎหมายฉบับใหม่มีเนื้อหาระบุถึงที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเดิมต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้เปลี่ยนให้เป็นการแต่งตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ยังเขียนในกฎหมายว่าเมื่อใดก็ตามที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์เชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อแสดงที่มาของพันธุ์พืชนั้นว่านำมาจากไหน และหากเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นจะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนจึงจะขอรับการคุ้มครองได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขนิยามเดิมของกฎหมายฉบับเก่าทั้งหมดที่จะส่งผลเสียต่อเกษตรกร” นายวิฑูรย์กล่าว