หมอนิรันดร์ : รัฐต้องแยกปลาออกจากน้ำ
เห็นข่าวหนังสือพิมพ์พาดหัวตัวไม้ว่า อาจมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จับกุม "คนเสื้อแดง" ผิดพลาดมากถึง 48 ราย แม้อ่านแล้วจะรู้สึกตกใจ แต่ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงยิ่งกว่าก็คือคำถามที่ว่า ขนาดคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมราวๆ 175 คน จากการใช้ พ.ร.ก.เพียง 6-7 เดือน ยัง "ผิดพลาด" กันขนาดนี้ แล้วกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ พ.ร.ก.มานานกว่า 5 ปี จับไปแล้วหลายพันคน และอีก 500 กว่าคนอยู่ในเรือนจำ จะมีความผิดพลาดสักแค่ไหน
ถึงนาทีนี้...ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นกฎหมายที่ดีและมีประโยชน์ในแง่ของการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การใช้ในบางลักษณะ โดยเฉพาะกับการชุมนุมทางการเมือง หรือความขัดแย้งที่มีฐานมาจากความเห็นต่างทางการเมือง หรือใช้อย่างยืดเยื้อยาวนาน ไม่บันยะบันยัง น่าจะนำมาสู่ปัญหา และส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ไปบรรยายให้นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4 ส.2) ฟังที่สถาบันพระปกเกล้า โดย หมอนิรันดร์ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งในบริบทคนเสื้อแดงและไฟใต้ ที่ทุกฝ่ายอยากให้จบลงด้วยสันติสุข
หมอนิรันดร์ เริ่มต้นว่า ในแง่หลักการ สังคมสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศยึดหลักนิติรัฐ การยึดหลักนิติรัฐหมายถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นธรรมได้ก็ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และการจะยอมรับหลักสิทธิมนุษยชนได้ ประเทศต้องยึดหลักประชาธิปไตย
"ความหมายของประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่การกระทำใดๆ ต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนด้วย ไม่ใช่มุ่งเพียงประโยชน์ของชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจ" หมอนิรันดร์ กล่าว
เมื่อมองเจาะลงไปถึงการใช้กฎหมายพิเศษต่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง หมอนิรันดร์ ชี้ว่า เต็มไปด้วยปัญหา และไม่คุ้มเลยที่รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจัดการสถานการณ์
"ผมได้ตรวจสอบเหตุการณ์หลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พบว่าการใช้กฎหมายพิเศษมีปัญหามาก สิ่งที่เป็นความขัดแย้งไม่ใช่แค่ผู้ก่อการร้ายชุดดำ ไม่ใช่เป็นแค่อาชญากรรม แล้วมีคนตายเมื่อวันที่ 10 เมษาฯ เท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มีประชาชนออกมาปกป้องสิทธิของตน เข้ามามีส่วนร่วมในสิทธิพลเมืองทางการเมืองด้วย ฉะนั้นถ้ารัฐบาลไม่แยกปลาออกจากน้ำ จะอยู่แต่ในวังวนความขัดแย้งอย่างไม่มีวันจบ"
"ที่ผ่านมามีนักศึกษายกป้ายประท้วงรัฐบาลก็ถูกจับ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ก็ยังถูกจับ คนเหล่านี้แค่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่กลับถูกจับ ถือว่าไม่คุ้มเลยที่รัฐบาลเลือกใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเมื่อเป็นแบบนี้ แนวคิดปรองดองจึงไม่เกิดขึ้น"
"จากที่ผมไปเยี่ยมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทุกแห่ง ยืนยันได้ว่าเสื้อแดงในต่างจังหวัดที่ถูกจับขณะนี้ไม่ใช่ตัวการเผาศาลากลาง แต่เป็นคนยากคนจนทั้งสิ้น พวกเขาเป็นคนยากจน แต่กลับถูกจับกุม และไม่ได้รับประกันตัว" หมอนิรันดร์ กล่าว
จากการใช้กฎหมายพิเศษคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลาง มองเลยไปถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.มาแล้วถึง 21 ครั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้นี้ เห็นว่า ความไม่เป็นธรรมยังคงฉายชัดอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"เห็นได้จากในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเพิ่งจะครบ 6 ปีไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้ในขณะนั้นจะยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็มีการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการละเมิดทำให้ประชาชนต้องสูญเสียชีวิต บางส่วนทุพพลภาพ มีอาการไตวายแทรกซ้อน แขนขาไม่มีแรง เพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานานจากการถูกจับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง เรียงซ้อนกันไปบนรถยีเอ็มซี ภายหลังสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส"
"เหตุการณ์ลักษณะนี้ตัองทำความจริงให้ปรากฏ เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ใช่จ่ายเงินเยียวยาแล้วปรองดองหรือมองข้ามๆ ไป เพราะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนถูกทำลาย เขาถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ บางคนแค่ไปร่วมชุมนุม บางคนแค่ผ่านไปดู นี่คือภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมที่ยังมีอยู่ทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" หมอนิรันดร์ กล่าว
ฉะนั้นหากรัฐยังไม่แยกปลาออกจากน้ำ ไม่แยกแยะเพื่อใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม สันติสุขก็จะยังถูกตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นที่ปลายด้ามขวาน หรือที่ไหนๆ ในประเทศไทย!
--------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จากศูนย์ภาพเนชั่น