ฟังชัดๆ “หมอวรงค์” ปะทะ “เสี่ยเปี๊ยก” ทุจริตระบายข้าว ในปท. ใครจริง-เท็จ?
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท ช่วงหัวค่ำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
บรรยากาศเต็มไปด้วยความตรึงเครียด เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยสร้างวีรกรรมครั้งใหญ่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากล การระบายข้าว แบบ รัฐ ต่อรัฐ หรือ จีทูจี ถึงคิวลุกขึ้นอภิปราย
พร้อมนำเอกสารหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสต็อกรัฐบาล มาแสดงต่อสภาฯ ผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
นพ.วรงค์ ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลจะมาขอเงินเป็นแสนล้านบาท ไปทำโครงการรับจำนำต่อ แต่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้ โดยเฉพาะการระบายข้าว ก็พบหลักฐานการกระทำผิดชัดเจน คนที่รวยจากโครงการนี้ มิใช่ชาวนา แต่กลายเป็นกลุ่มนายทุนผู้ขาดข้าว ที่ร่วมมือกับนักการเมืองที่มีอำนาจ ใครจะยอมให้เงินรัฐบาลไปทำโครงการที่ไม่ดีแบบนี้อีก
“ เรื่องนี้อยากให้ทุกคนตั้งใจฟังให้ดี ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน หรือเพื่อนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถ้าท่านตั้งใจฟังจะเข้าใจ และมาร่วมมือกับผม ในการคว้า ร่าง พรบ.ฉบับนี้ ”
นพ.วรงค์ กล่าวย้ำหลายครั้งว่า ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงพลัง ต่อต้านทุนสามานย์ข้าว ให้หมดไป
ก่อนจะเริ่มต้น อภิปรายว่า การระบายข้าวของรัฐบาล มี 4 รูปแบบ คือ 1. รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 2. ขายให้กับผู้ประกอบ 3. ขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอแฟด) และ 4. นำไปบริจาค ทำข้าวถุง
ในส่วนของการระบายข้าวจีทูจี มีข้อมูลหลักฐานปรากฏชัดเจนแล้วว่า ข้าวไม่ได้มีการส่งออกไปนอกประเทศจริง แต่วนเวียนอยู่ในประเทศ อยู่ในมือของ เสี่ยเปี๋ยง ผู้ใกล้ชิดคนจากแดนไกล ตัวละคร ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีทั้งลูกน้อง ส.ส. และคนใกล้ชิดเสี่ยเปี๋ยงเอง
ขณะที่การเข้ามาซื้อข้าวของ บริษัท จีเอสเอสจี ส่อว่าจะมีปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.การค้าข้าว
(อ่านประกอบ : ดูกันจะๆ หลักฐาน “มัด” ระบายข้าว "จีทูจี" (จีเจี๊ยะ - จีโจ๊ก- จีghost) รัฐบาลยิ่งลักษณ์)
ส่วนข้อมูลล่าสุด ที่จะนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ คือ การระบายข้าวในประเทศให้กับผู้ประกอบการ
พร้อมระบุว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีความใกล้ชิดกับ “เสี่ยเปี๋ยง” ผู้มากบารมี ในวงการค้าข้าวอีกแล้ว
นายแพทย์วรงค์ ได้โชว์เอกสารชิ้นแรก เป็นใบเสร็จขายข้าวของอคส. ที่ออกให้กับ โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งเรืองกิจ ในราคาที่ ตันละ 5,700 บาท
(ดูหลักฐานประกอบ)
ก่อนจะขยายความว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขายข้าวขาว 8 แสนกิโลกรัม ราคาตันละ 5,700 บาท ให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งขึ้น วันที่ 22 ธันวาคม 2554 โรงสีโชควรลักษณ์นำขายข้าวไปขายต่อแก่โรงสีแห่งหนึ่งที่ จ.กำแพงเพชร ในราคาตันละ 12,000 บาท โดยใช้แฟกซ์โอนใบมอบอำนาจแค่ใบเดียวราคา 5 บาท แต่ฟันกำไรถึง 6,300 บาทต่อตัน และเป็นการขายก่อนที่จะได้ข้าวมาจากรัฐบาล
“ตอนแรกผมคิดว่าเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุคนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่การขายข้าวดังกล่าว เกิดขึ้นในยุคที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่า คนอย่างนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย จะไม่ฉลาดพอที่จะไม่รู้เรื่องพวกนี้”
พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมีการขายแบบนี้หลายครั้ง เม็ดเงินที่สะพัดในจังหวัดกำแพงเพชร มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
เหตุผลที่มีการขายข้าวให้โรงสีโชควรลักษณ์ ในราคาต่ำเช่นนี้ได้ นพ.วรงค์ ระบุว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงสีแห่งนี้ชื่อ “เสี่ยเปี๊ยก” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เสี่ยเปี๋ยง” ที่เป็นนายทุนผูกขาดการค้าขายรายใหญ่และมีความใกล้ชิดนายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ
ก่อนจะโชว์เอกสารสำคัญชิ้นที่สอง คือ หนังสือสัญญา นาปรัง ไซโล อคส. 1/2555 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าไซโลระบบควบคุมบรรยากาศเพื่อจัดเก็บรักษาข้าวสาร (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555)
ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง พันตำรวจตรี ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. "ผู้เช่า" กับนายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ “ผู้ให้เช่า”
ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ผู้เช่าตกลงเช่าและผู้ให้เช่าไซโล ระบบรวบคุมบรรยากาศของผู้ให้เช่นจำนวน 24 ถัง ปริมาณความจุรวมทั้งสิ้น 288,000 ตัน เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่ผู้เช่าสั่งให้โรงสีส่งมอบ
โดยปรากฏชื่อ เคทีบี ไซโล ตั้งอยู่เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในสัญญาดังกล่าวด้วย
(ดูหลักฐานประกอบ)
นายแพทย์วรงค์ กล่าวอ้างด้วยว่า เป็นที่รู้กันในวงการว่า เคทีบี ไซโล เป็นไซโลของ เสี่ยเปี๋ยง ในอดีตใช้ชื่ออื่น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้
“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ข้อมูลนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อคส.รายหนึ่ง เอาเอกสารฉบับนี้ มาให้ พอเห็นแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เสี่ยเปี๊ยก กับ เสี่ยเปี๋ยง สองเสี่ย ป. นี่ แท้จริงแล้วมีความใกล้ชิดกัน และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไม เสี่ยเปี๊ยกถึงสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ต่ำและนำไปขายต่อทำกำไรได้จำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จากบริการสอบถามข้อมูล 1133 ได้รับแจ้งว่า เป็นสถานที่ตั้ง บริษัท เคทีบีไซโล จำกัด
ข้อมูลจากการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ทุน 750,000,000 บาท ประกอบธุรกิจ ไซโลเก็บพืชผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เลขที่ 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษก 20 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ปรากฏชื่อ นางสาว เรืองวัน เลิศศลารักษ์ และนางรัตนา แซ่เฮ้ง เป็นกรรมการ
นางสุดา คุณจักร ผู้ถือใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ถือหุ้นใหญ่อยู่
จากการตรวจสอบพบว่า เดิมที่บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท สยามธัญรักษ์ ไซโล ปรากฏชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นผู้ก่อตั้ง
(ดูหลักฐานประกอบ)
มีทุน 100 ล้าน ตั้งอยู่ที่ 557/1 ซอยสุทธิพร ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจ มีผู้ถือหุ้น 7 คน นายอภิชาติ ถือหุ้นใหญ่สุด
ก่อนที่จะมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ และกรรมการหลายหน รวมถึงการเพิ่มทุนเป็น 750 ล้านบาท
ขณะที่ นายอภิชาติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และโอนหุ้นไปให้คนใกล้ชิดถือครองแทน
จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มที่ตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ 23/3หมู่ที่3 ถนนบางมูลนาก -ตะพานหิน ตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก พิจิตร อีกแห่งหนึ่ง
โดยที่ตั้งดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงกับ เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าไซโล ระหว่าง อคส. กับ นายอเนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ตามเอกสารที่นายแพทย์วรงค์นำมาเปิดเผย
สำหรับ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 มีหุ้นส่วน3 คน นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นางสุมาลี. ฉัตรไชยศิริ และนางสาววราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ สำนักงานตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 9 ตำบลโพตลาดแก้ว. อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แจ้งประกอบกิจการโรงสีข้าว และค้าข้าว
เดิมที่มีทุน 5 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 100 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 โดย นายอเนก ลงหุ้นด้วยเงิน 60 ล้าน ส่วนนางสุมาลี และนางสาววราภรณ์ลงหุ้นด้วยเงิน คนละ 20 ล้าน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 หจก.ฯ แจ้งทำเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ ขอประกอบกิจการให้บริการในการบริหารจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า ปรับปรุงข้าว และบรรจุ
จากการตรวจสอบพบว่า นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 3 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชควรลักษณ์ ค้าข้าว บริษัท กนก เมทัลแลนด์ จำกัด บริษัท กู๊ด ไรซ์ อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด
แต่เลิกกิจการไปหมดแล้ว
ไม่ปรากฏข้อมูลความเขื่อมโยงกับ คนบริษัทในเครือข่าย สยามอินดิก้าแต่อย่างใด
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นำสิทธิ์อะไรมาลงนาม ให้ อคส. เช่าไซโล ของบริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด ในเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง เก็บข้าวจำนวน 2.8 แสนตัน หลายแสนตัน และเรียกเก็บค่าเช่าได้จำนวนหลายล้านบาทต่อเดือนแบบนี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจาก นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ว่า ข้อมูลที่นายแพทย์วรงค์นำมาอภิปราย ไม่ใช่ความจริง เป็นการจับแพะชนแกะ
“ผมเข้าไปประมูลข้าวตามปกติ ข้าวกองนี้เป็นข้าวเก่า ปี 2549-50 ซื้อมาได้ในราคาต่ำเพราะเป็นข้าวที่มีสภาพไม่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็นข้าวลม ไม่มีอยู่จริง เพราะโรงสีที่เก็บข้าวนี้ ไว้เอาข้าวออกไปขายก่อนแล้ว เมื่อผมประมูลมาได้ เขาก็กลัวคดีความ ก็เลยมาขอซื้อต่อในราคาตันละ 12,000 บาท”
“ต่อมาภายหลังจากที่มีปัญหาเกิดขึ้น ผมก็ได้ยกเลิกการซื้อข้าวกองนี้ไปแล้ว หากสื่อมวลชนไม่เชื่อขอให้ไปสอบถามข้อมูลจาก อคส.ได้ เขามีบันทึกไว้หมดเลยว่า ข้าวกองไหนมีปัญหา กองไหนเป็นลมบ้าง แต่แล้วมามีเรื่องแบบนี้ เขามาแทงหลังผม ”
ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อของตน ในเอกสารให้เช่าไซโล กับอคส. และมีการระบุข้อมูลว่า ไซโล นี่เป็นของ บริษัทเคทีบี ของเสี่ยเปี๋ยง นายเอนก ยืนยันว่า “ผมไปเช่าโกดัง นี้ มาจากธนาคารกรุงไทย เพราะเจ้าของเดิมมีหนี้อยู่ เช่ามาเกือบปีแล้ว ผมก็ทำธุรกิจของผม ไม่ได้มีอะไรเลย ไปเช็คประวัติผมดูได้ว่าเป็นอย่างไร”
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป นายเอนก ตอบว่า "คงจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว เพราะทำธุรกิจอยู่ดีๆ ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอปัญหาอะไรแบบนี้ กลายเป็นแพะ เป็นจำเลยของสังคม ตอนนี้มีความคิดจะปิดกิจการแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว ถอนตัวอำลาวงการข้าวไปเลยดีกว่า”
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า ตนเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตรวจสอบมาได้ เพราะมีการยืนยันจาก โรงสีเป็น 10 แห่ง ว่า เสี่ยเปี๊ยก คือ มือขวาในวงการค้าข้าวของ เสี่ยเปี๋ยง
“ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราคาข้าวเก่า ไม่ว่าจะเสื่อมสภาพขนาดไหน ก็ขายอยู่ที่ตันละ 8,000 –9,000 บาท การขายในราคาตันละ 5,700 บาท เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ส่วนที่อ้างว่า ขายข้าวให้โรงสีไปในราคาสูง เพราะโรงสีต้องการจะนำไปปกปิดหลักฐานเรื่องสต็อกลม ถ้ามั่นใจในข้อมูลก็ควรจะต้องรีบชี้แจง และต่อสู้ ไม่ใช่คิดที่จะปิดกิจการหนีแบบนี้”
นายแพทย์วรงค์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเช่าไซโล บริษัท เคทีบี ว่า จากการสอบถามข้อมูลกับนายธนาคารหลายคน ได้รับการยืนยันว่า ต่อให้บริษัทเคทีบี เป็นหนี้สถานบันเงินกู้อยู่เท่าไร กรรมสิทธิ์ของไซโล ก็ยังเป็นของบริษัทเคทีบีอยู่ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าแท้จริงแล้วบริษัทแห่งนี้เป็นของใคร
“คุณจะมาบอกว่า ไปเช่าจากธนาคารกรุงไทย แล้วบริษัทเคทีบีไม่รู้เรื่องด้วยมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสี่ยเปี๊ยกไม่ได้มีความสนิทสนมกับ เสี่ยเปี๋ยง เขาจะยอมให้ไปเช่าโกดังรับฝากข้าวจำนวนมากแบบนี้หรือ” นายแพทย์วรงค์ระบุ
นี่คือ ข้อเท็จจริงจาก 2 ด้าน ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นหนังคนละม้วน
ส่วนใครจะพูดความจริงหรือพูดเท็จ คงต้องจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา?