อีกครั้งกับเลขาฯ สมช. “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯคือดาบสองคม!”
ถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกฎหมายที่ชื่อ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะรัฐบาลเคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมกันถึง 27 จังหวัดทั่วประเทศ จากกรณีเสื้อแดงและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตลอดมามีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในทางการเมืองมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองและการแสดงความจริงใจของรัฐบาลที่จะหยุดไล่ล่าคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ปัจจุบันรัฐบาลยกเลิกไปแล้ว 20 จังหวัด ยังเหลืออีก 4 จังหวัด
ส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเสียงเรียกร้องมาเนิ่นนาน และรัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยนำร่องยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว และให้ทดลองใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) แทน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในแง่ผลสัมฤทธิ์
ล่าสุด นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลปัญหาภาคใต้ เสนอให้นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1-2 อำเภอ แต่แนวคิดลักษณะนี้ถูกคัดค้านมาตลอดจากฝ่ายความมั่นคง
"ทีมข่าวอิศรา" ขอนำเสนอมุมมองที่มีต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผ่านสายตาของผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคง นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
"เริ่มจากภาคใต้ก่อน แนวคิดการใช้ พ.ร.ก.ในภาคใต้มาจากสมมติฐานเรื่องการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด แต่ผมก็ยอมรับว่าเป็นดาบสองคม คือมีผลทั้งแง่ดีและไม่ดี ภาคใต้นั้นมาจากสภาพปัญหาที่ว่าเกิดคดีแล้วไม่สามารถหาตัวคนก่อเหตุได้ เพราะเหตุรุนแรงแต่ละเหตุไม่ได้เกิดจากใครโกรธใคร หรือขัดผลประโยชน์อะไรกัน แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีมูลเหตุในการกระทำว่าทำไมต้องวางระเบิดตรงนี้ ต้องประทุษร้ายคนนั้น"
"เมื่อสาวหาต้นตอไม่ได้ ก็ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สืบสวนหาข้อมูล เพราะกฎหมายให้อำนาจเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาได้ 30 วัน ก็มีเวลาสอบสวนขยายผล มีเวลามากพอที่จะหาเส้นทางโยงใย หาตัวผู้อยู่เบื้องหลัง จึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด"
"แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็มีผลด้านลบเหมือนกัน เพราะเวลาใช้ พ.ร.ก.เชิญตัวมา 10 คน อยู่ในกระบวนการซักถามก็ปล่อยไป 5 คน เหลือสุดท้ายเข้ากระบวนการยุติธรรมจริงๆ แค่ 1 คน อีก 9 คนที่ถูกจับแต่ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็โกรธรัฐ ครอบครัวของคนเหล่านี้ เพื่อนในหมู่บ้านของคนเหล่านี้ต่างก็โกรธรัฐทั้งสิ้น ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าหากจะใช้ต่อไปจะถ่วงดุลข้อดีกับข้อเสียนี้อย่างไร"
เลขาธิการ สมช. ยืนยันว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทบทวนกันอย่างจริงจังว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหรือไม่ และหากใช้ต่อ จะใช้อย่างไร
"เราต่ออายุมาแล้ว 21 ครั้ง (ครั้งละ 3 เดือน) เป็นเวลากว่า 5 ปี ยอมรับว่าทำให้คนเกลียดชังต่อต้านรัฐมากขึ้น ฉะนั้นจึงอยู่ระหว่างการทบทวนอย่างจริงจัง สำหรับความเห็นของผมคงต้องเลือกใช้ คือให้โอกาสเจ้าหน้าที่ที่จะมีอำนาจในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด แต่การสร้างความเกลียดชัง กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับคงไม่ดีนัก ก็อาจจะต้องใช้กฎหมายอ่อนลงมาหน่อย หรือใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นตัวเสริม เพราะมีมิติของการให้อภัยโทษตามมาตรา 21 ผู้กระทำผิดโดยหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สามารถมอบตัวได้ และไม่ต้องรับโทษ ผมคิดว่า พ.ร.ก.ในภาคใต้ทิศทางจะไปแบบนี้ เพื่อนำไปสู่การใช้กฎหมายปกติในที่สุด"
ส่วนการใช้กฎหมายพิเศษกับกรณีการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะ "กลุ่มคนเสื้อแดง" นายถวิล อธิบายว่าหลักในการใช้เป็นคนละแบบกับภาคใต้
"เราใช้ พ.ร.ก.เพื่อรักษาความสงบระยะหนึ่ง คงไม่ใช่ใช้เพื่อกดดันหรือผิดฝ่ายต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดำรงอยู่ในขณะนี้คือบ้านเมืองยังมใเหตุรุนแรง เราต้องรักษาความสงบเรียบร้อย แต่อำนาจตามกฎหมายปกติมีไม่เพียงพอ พูดตรงไปตรงมาคือตำรวจทำงานไม่ได้ ตำรวจยังถามศาลไปด้วยซ้ำว่าแค่ไหนจึงจะใช้อำนาจได้หรือไม่ได้ อันสืบเนื่องจากบทเรียนเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 (การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อเหลือง ทำให้ผู้นำตำรวจถูกดำเนินคดีในข้อหาฉกรรจ์) เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ทำอะไรเลยหรือเปล่า บางเรื่องผมก็มองว่าตำรวจวิตกจริตเกินไป ถ้าวิตกจริตเกินไปก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ"
เลขาธิการ สมช. ยังย้ำถึงหลักการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
"การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำตามอำเภอใจไม่ได้ ทุกอย่างมีการตรวจสอบ การแสดงออกทางการเมืองยังสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นไปเข้าข้อห้ามต่างๆ หรือเป็นการแสดงออกที่ผิดกฎหมาย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ทำไม่ได้"
"ส่วนกรณีที่คนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 19 พ.ย. คงไม่มีปัญหาอะไร เมื่อเขาต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ต้องปล่อยให้ทำ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข่าวอะไรที่ทำให้ต้องรู้สึกวิตกหรือน่าเป็นห่วง"
"ผมเชื่อว่าคงไม่มีอะไรแล้ว นายกฯประกาศจะเลือกตั้งปีหน้าแล้ว แม้โจทย์จะยาวไปหน่อย แต่ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น"
----------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- นายกฯเอาจริงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 อำเภอใต้ ทหารขวางให้แค่ 2 อำเภอ
http://www.south.isranews.org/other-news/594--5-2-.html
- "ถาวร"ชงเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ นำร่อง "เบตง-แว้งแ-แม่ลาน"
http://www.south.isranews.org/other-news/586-qq---q--q.html
- ชำแหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องละเมิดสิทธิ-สวนทาง รธน.
http://www.south.isranews.org/interviews/587-2010-10-30-18-38-56.html
- เลขาฯสมช.ผสมสูตรดับไฟที่ปลายขวาน...รักษาอัตลักษณ์โดยไม่แบ่งแยก
http://www.south.isranews.org/interviews/570-2010-10-18-06-28-39.html