ชำแหละ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องละเมิดสิทธิ-สวนทาง รธน.
หลายคนคงกำลังลุ้นด้วยใจระทึกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีสิทธิพ้นจาก "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ประกาศมาแล้วกว่า 5 ปี 3 เดือนโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งต่ออายุทุกๆ 3 เดือนมาแล้วถึง 21 ครั้ง ตามที่ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จุดพลุขึ้นมาหรือไม่
แม้ในหลายๆ บริบทของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลใต้เงาท็อปบูทของทหาร แต่ก็ต้องให้เครดิตรัฐบาลชุดนี้เช่นกันว่า เป็นผู้นำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเปิดทางให้ใช้มาตรการตาม "กฎหมายความมั่นคง" หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งว่ากันว่ามี "ดีกรี" อ่อนกว่าแทน
ฉะนั้นโอกาสในการนำร่องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องบอกว่ายังพอมีหวัง...
แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ลองมาอ่านบทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยนักกฎหมายที่ศึกษามาอย่างเป็นระบบ และพบประเด็นน่าสนใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้ละเมิดสิทธิผู้ต้องสงสัยซึ่งทางการยังไม่มีหลักฐานดำเนินคดี มากยิ่งกว่าการตกผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.อาญา) ซึ่งมีรัฐธรรมนูญกำกับรับรองสิทธิเอาไว้เสียอีก
สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ปัญหาสิทธิมนุษยชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ว่า สิทธิของผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา นั้น ถูกกระทบโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่มีบทบัญญัติการคุ้มครอง “สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย” รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นหลักสากล ใช้กันทั่วโลก
หลักที่ว่านี้ ประกอบด้วย หนึ่ง การแยกผู้บริสุทธิ์ออกจากอาชญากร สอง ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย รวมทั้งประชาชนทั่วไปไม่ให้เกิดความเดือดร้อนจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยกระทบสิทธิของประชาชนเท่าที่จำเป็น และ สาม การใช้ต้องกฎหมายต้องมุ่งผลโดยรวมต่อการดำเนินคดีอาญาเท่านั้น
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ "ทำผู้บริสุทธิ์ให้เป็นผิด”
อาจารย์สาวตรี อธิบายต่อว่า สาเหตุที่ต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งเป็นหลักการสากล เนื่องจากมีความจำเป็นบางประการในการคุ้มครองสิทธิของคนเหล่านี้ เพราะพวกเขามี 2 สถานภาพ กล่าวคือ สถานภาพผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกรัฐจำกัดหรือลิดรอนสิทธิหรือเสรีภาพเมื่อถูกกล่าวหา จึงเป็นผู้ถูกกระทำโดยรัฐ กับอีกสถานภาพหนึ่งคือ การเป็นแต่เพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณาหรือชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่ากระทำความผิดจริง
ฉะนั้นหลักสากลซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทยจึงต้องให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะได้พิสูจน์จนถึงที่สุดว่ากระทำความผิดจริง บทบัญญัติดังกล่าวนี้อยู่ในมาตรา 39 ระบุว่า "ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้"
จากหลักใหญ่ดังกล่าว นำไปสู่หลักการอีก 4 ข้อที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่
(1) การต้องพิสูจน์พยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย
(2) การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
(3) การปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว
(4) หลักประกันสิทธิเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ ของผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น การต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย หรือให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เป็นต้น
แต่การจับกุมหรือควบคุมตัวโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการยกเว้นหลักดังกล่าวทั้งหมด เพราะเจ้าพนักงานสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อหา!
การดำเนินคดีอาญาของ จนท.ไทย
อาจารย์สาวิตรี ยังได้ยกทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งประเทศไทยสมควรปรับเปลี่ยน กล่าวคือ
1.ทฤษฎีควบคุมอาชญากรรม หรือ Crime Control model ทฤษฎีนี้จะเน้นประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เคร่งครัด เด็ดขาด เพื่อมุ่งปราบปรามอาชญากรรม โดยไม่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน
2.Due Process model มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น สิทธิการไม่ให้การใดๆ ในชั้นสอบสวน การต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรับทราบ เป็นต้น
ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมของไทยมักเน้นทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว จึงกลายเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา จำเป็นต้องปรับทัศนคติเป็นการด่วน
ชำแหละ พ.ร.ก.รายมาตรา-เปิดช่องละเมิดสิทธิ
อาจารย์สาวตรี ยังตั้งข้อสังเกตว่า บทบัญญัติใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 ว่าด้วยการจับกุมผู้ต้องสงสัย เปิดช่องให้ละเมิดสิทธิยิ่งกว่า ป.วิ.อาญา มาตรา 66 ว่าด้วยการขอออกหมายจับผู้ต้องหาเสียอีก กล่าวคือ การจะขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ใดได้ ต้องมีการแสดงหลักฐานและพยานพอสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่มาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้เพียง "มีเหตุสงสัย" ว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สามารถจับกุมได้แล้ว ทำให้ง่ายต่อการละเมิดสิทธิ
นอกจากนั้น ในมาตรา 66 แห่ง ป.วิอาญา ยังระบุด้วยว่า หากเป็นคดีที่ไม่มีอัตราโทษสูง การจับกุมจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องสงสัยจะหลบหนี หรือก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลอื่น แต่มาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีเรื่องนี้เลย
ที่สำคัญผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทางปฏิบัติมักไม่ได้รับสิทธิในการพบทนายความหรือญาติในเวลาที่เหมาะสม โดยมีการอ้างกันว่าคนที่ถูกควบคุมตัวไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ต้องหา จึงไม่นำบทบัญญัติตาม ป.วิอาญา มาบังคับใช้
"ตามรัฐธรรมนูญและ ป.วิอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังมีสิทธิพบทนายความ ญาติ หรือบุคคลที่ตนเองไว้ใจ ถือว่ามีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่กรณีของผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับไม่มีตรงนี้ มันจึงเหมือนแย้งกับรัฐธรรมนูญ หนำซ้ำในมาตรา 16 ยังตัดอำนาจศาลปกครองในการตรวจสอบการปฏิบัติหรือการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีกด้วย"
พรก.ฉุกเฉิน กับประเด็นที่ต้องทบทวน
อาจารย์สาวตรี สรุปว่า จากความคลุมเครือเรื่องการคุ้มครองสิทธิซึ่งดูจะสวนทางกับบทบัญญัติที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงมีข้อพิจารณาดังนี้
1.ยังมีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่จะต้องบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรการและอำนาจตาม ป.วิอาญา ไม่เพียงพอต่อการคลี่คลายคดีความมั่นคงจริงหรือ
2.ความเหมาะสมในการยกเว้นหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยโดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ในหลายๆ กรณีเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องบอกว่ามีน้อยมาก เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจไปก่อนโดยไม่ต้องมีการกลั่นกรองโดยศาล เช่น ไม่ต้องขออนุมัติหมายจับ เป็นต้น หนำซ้ำกระบวนการตรวจสอบภายหลังการใช้อำนาจไปแล้วก็ยังทำไม่ได้ เพราะกฎหมายตัดอำนาจของศาลปกครอง ตรงนี้ถือว่ารับไม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้รับการยกเว้นการตรวจสอบในทุกขั้นตอน
3.สภาพปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ทัศนคติของผู้บังคับใข้กฎหมาย ไม่ได้มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา และมีการบังคับใช้แบบหลายมาตรฐาน
4.สภาพปัญหาที่เกิดจากองค์กรผู้ตรวจสอบเองที่หลายๆ กรณีไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ
ทั้งหมดนี้คงไม่ต้องสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าในความเห็นของ อาจารย์สาวตรี สมควรยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เพราะทุกประเด็นที่หยิบยกมาคือคำตอบที่ชัดเจนยิ่งในตัวเอง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 / 3 อาจารย์สาวตรี
2 บรรยากาศในห้องสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี