18-20ธ.ค.ดีเดย์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ’56 ดึงประชาสังคมร่วมแก้มติไม่ขลัง
ดีเดย์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 56 วันที่ 18-20ธ.ค. เปิด 4 ประเด็นหลัก สุขภาวะชุมชน-โฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย-อาหารโรงเรียน-ตรวจสุขภาพประชาชน ดึงรัฐ-เอกชน-ประชาสังคมร่วมแก้ปัญหามติไม่ขลัง
วันที่ 28พ.ค.56 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) โดย ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดงานฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า คจ.สช.ได้แต่งตั้งอนุกรรมการ 10 คณะเพื่อดำเนินการในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ปี2556 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-20ธ.ค.56 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ(UNCC) ทั้งนี้จากการประเมินผลการจัดงานปีที่ผ่านมา พบว่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายประเด็นไม่มีผู้รับผิดชอบดำเนินงานต่อในทางปฏิบัติ ดังนั้นครั้งนี้จึงพัฒนาโดยดึงทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น
รศ.ดรุณี รุจกรกานต์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ คจ.สช.กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดประชุมว่า ได้มีการเห็นชอบ 4 ประเด็นที่นำเข้าการประชุมสมัชชาฯตามที่อนุกรรมการวิชาการเสนอ ได้แก่ 1.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน 2.จัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากมติสมัชชาคราวก่อน 3.ระบบจัดการอาหารในโรงเรียน 4.นโยบายตรวจสุขภาพประชาชน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองประธานกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า ที่ประชุม คจ.สช.ได้ข้อสรุปให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 นี้จัดภายใต้หลักแนวคิด “สานพลังสร้างสุขภาวะชุมชน” โดยดึงการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการวิชาชีพและหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชุมชนมีสุขภาวะที่ดี
“4ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยปัจเจกบุคคล การทำให้ประชาชนมีสุขภาวะหรือสุขภาพที่ดีต้องร่วมกันแก้ปัญหาคือการสานพลัง เราจึงดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นเพื่อให้รู้สึกมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่การถูกสั่งให้ทำเพียงอย่างเดียว”
นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์ ตัวแทนภาคประชาชนในเครือข่ายรัฐชุมชนคนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรากล่าวว่า ปัญหาสุขภาพที่ชาวบ้านเป็นมากที่สุดคือโรคทางเดินหายใจและมะเร็ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมีอยู่ 2ส่วนคือ สารเคมีจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งชาวบ้านยังขาดความรู้มองว่าเป็นสิ่งไกลตัว ไม่รู้ว่าการใช้สารเคมีสุดท้ายแล้วก็กลับสู่ร่างกายของตนเองจากการใช้น้ำหรือการบริโภคอาหาร สิ่งที่อยากให้งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ความสำคัญคือเน้นให้ความรู้แก่ประชาชน.