ประเวศ : อย่ากดดันประชาชนติดอาวุธ หวั่น"มิคสัญญี-กลียุค"ลาม!
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานสมัชชาปฏิรูป เพิ่งออกมาสื่อสารกับสังคมอีกครั้ง โดยเสนอประเด็นน่าสนใจว่า การจะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมนั้น ต้องอาศัย “พลัง” ของประชาชน และการจะสร้าง “พลัง” ให้เกิดขึ้นได้ ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน หาใช่ติดอาวุธด้วยอาวุธไม่ มิฉะนั้นจะนำไปสู่ “มิคสัญญี-กลียุค-ถูกปราบง่าย” แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ “ความเป็นธรรม” ต้องเกิดขึ้นเสียก่อน
ติดอาวุธด้วยอาวุธ...มิคสัญญี-กลียุค-ถูกปราบง่าย
แม้จะถูกโจมตีแบบไม่เกรงใจจากบางฝ่าย กรณีที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายรายยอมไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการปฏิรูป และสมัชชาปฏิรูป คล้ายตกเป็น "เครื่องมือ" ของรัฐบาลเพื่อกลบปัญหาการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 92 ศพก็ตาม ทว่าหนึ่งในหัวขบวนปฏิรูปอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานสมัชชาปฏิรูป กลับมิได้หวั่นไหว และยังคงเดินหน้าภารกิจของตนต่อไป เพราะเป็นการปฏิรูปที่มีฐาน "พลังทางสังคม" สนับสนุนอย่างแน่นอน
"โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทยแก้ไม่ได้หากใช้เพียงพลังอำนาจรัฐ หรือพลังอำนาจเงินเท่านั้น การแก้ไขที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีพลังทางสังคมสนับสนุนด้วย" หมอประเวศ ระบุ
แต่ "พลังทางสังคม" นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หรือแค่เอาประชาชนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกัน โดย ราษฎรอาวุโส ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เหมือนกับมีวัว 100 ตัวอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่กลับไม่สามารถสู้กับเสือตัวเดียวได้ นั่นหมายถึงว่าการรวมกันเป็นฝูงเฉยๆ ไม่ได้ทำให้เกิด "พลัง" ทางสังคมอย่างแท้จริง
"แน่นอนว่าถ้าไม่รวมตัวกันก็จะไม่มีพลัง แต่ไม่ใช่แค่รวมกันเป็นฝูง ต้องรวมตัวกันเป็นสังคมด้วย คือร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ติดอาวุธทางปัญญา และใช้สันติวิธี"
หมอประเวศ ขยายความต่อว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยมีหลักธรรมที่เรียกว่า "อปริหานิยธรรม 7" คือธรรมะเพื่อป้องกันความเสื่อม และนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดย 2 ข้อใน 7 ข้อก็คือ การหมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมที่พึงกระทำ
"นี่คือธรรมะแห่งความเป็นสังคม เพื่อสร้างพลังแห่งสังคม เพราะการจะพาบ้านเมืองหรือสังคมของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้นั้น จะต้องใช้ทั้ง 'รัฐานุภาพ' หรืออำนาจรัฐ 'ธนานุภาพ' หรืออำนาจเงิน หมายถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ และ 'สังคมานุภาพ' คือพลังทางสังคม ทั้งสามอำนาจนี้ต้องสัมพันธ์กันอย่างได้ดุล บ้านเมืองจึงจะสงบสุข"
ด้วยเหตุนี้ หมอประเวศ จึงสรุปว่า กระบวนการปฏิรูปประเทศย่อมไม่ใช่การทำงานของคณะกรรมการแค่ 2 คณะ แต่ต้องเป็นการทำงานของประชาชนทั้งหมด รวมถึงองค์กรต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนด้วย ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 คณะเป็นเพียงกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนเท่านั้น
และสิ่งที่ราษฎรอาวุโสเน้นย้ำก็คือ การจะสร้างพลังทางสังคมต้องติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน หาใช้ติดอาวุธด้วยอาวุธไม่
"หากประชาชนติดอาวุธด้วยอาวุธ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่จะนำไปสู่มิคสัญญี กลียุค และถูกปราบง่าย สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือหากความไม่เป็นธรรมยังคงอยู่ จะกดดันให้ประชาชนติดอาวุธด้วยอาวุธ ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม และติดอาวุธด้วยปัญญา ซึ่งก็คือการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนหันมาใช้สันติวิธีในการลดความขัดแย้ง"
ความเป็นธรรมที่ หมอประเวศ พูดถึง และอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุด ก็คือการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปฏิรูประบบภาษีและการจัดการทรัพยากร
"เราจะส่งเสริมให้มีการสร้างธนาคารของคนจน เกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ธนาคารนี้จะต้องไม่ใช้ชื่อว่าธนาคาร 'เพื่อ' การเกษตรหรือเพื่อใคร แต่ต้องเป็นธนาคาร 'ของ' เกษตรกร คนจน และผู้ใช้แรงงาน โดยโครงสร้างของธนาคารจะเชื่อมกับกองทุนหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการดีๆ เพื่อเป็นตัวเสริมพลังให้กับประชาชนในการพัฒนาด้านต่างๆ ในท้องถิ่นเอง เช่น เรื่องการศึกษา เป็นต้น"
"ปัจจุบันสมัชชาปฏิรูปได้ตั้งเครือข่าย 16 เครือข่าย เพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันของประชาชน และให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายของท้องถิ่นเองบนฐานของสันติวิธี"
ในมุมมองของหมอประเวศ เขาเห็นว่าแนวทางการสร้างพลังทางสังคมอย่างหนึ่ง คือการเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ที่ผ่านมาเคยจัดประชุมผู้นำชุมชนจากทั่วประเทศ พบความเคลื่อนไหวที่น่าพอใจจากบรรดาผู้นำชุมชนเหล่านั้น
"กลุ่มผู้นำชุมชนมองว่าจะต้องปฏิรูป 3 เรื่องหลักๆ เริ่มจากปฏิรูปตัวเองก่อน ให้พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าความเป็นคน จากนั้นก็ปฏิรูปองค์กรในท้องถิ่นของตนให้มีการบริหารจัดการที่ดี และสุดท้ายคือการปฏิรูประดับนโยบาย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นการคิดเชิงปฏิปักษ์ แต่เป็นการปรับความสัมพันธ์ใหม่ของโครงสร้างในสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล"
ราษฎรอาวุโส ชี้ว่า แนวคิดนี้น่าจะเริ่มทำในระดับจังหวัดได้เลย โดยทุกภาคส่วนในจังหวัดช่วยกันสร้างภาคีขึ้นมา อาจจะเป็นภาคียุติธรรมชุมชน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในชุมชนของตนเอง เหล่านี้หากขยายไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สังคมทั้งสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ สรุปจากการบรรยายพิเศษของ ศ.นพ.ประเวศ ที่บรรยายให้กับนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่น 2 หรือ 4 ส.รุ่น 2 ที่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ต.ค.2553
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.mat.or.th/news_detail.php?section=13&news_id=3170