เมื่อแยกดินแดนคือเป้าหมาย สันติภาพแค่ผลพลอยได้!
รายงานของหน่วยข่าวกรองไทยทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งได้รวมตัวกันเป็น "ประชาคมข่าวกรอง" และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ประเมินผลการพูดคุยสันติภาพที่ตัวแทนรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ
และในหลายบรรทัดที่ต้องขีดเส้นใต้ ได้กลายเป็นคำตอบของคำถามที่คาใจคนไทยเกือบทั้งประเทศว่า เหตุใดความรุนแรงที่ปลายด้ามขวานจึงยังไม่ลดระดับลง
ป่วนหนักโยงเจรจา-ฮัสซันตัวจริง
รายงานระบุว่า การพูดคุยเจรจาในรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่นับการพูดคุยแบบเปิดเผย 2-3 ครั้งหลังจากการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 นั้น ได้ทำกันมาแล้ว 17 ครั้ง ตัวแทนรัฐบาลไทยเคยได้รับข้อเรียกร้องสูงถึง 20 ข้อ ซึ่งหลายเรื่องก็ไม่ต่างจาก 5 ข้อของ นายฮัสซัน ตอยิบ และ นายอับดุลการิม คาลิบ สองแกนนำบีอาร์เอ็น ที่ได้แถลงผ่านวีดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
"ข้อเรียกร้องลักษณะนี้ไม่ใช่ไม่เคยมีการเสนอ แต่ได้เสนอมาตลอดในช่วงที่มีการพูดคุย เพียงแต่ไม่ได้เปิดให้สื่อและสังคมรับทราบ ทำให้คุยกันง่าย และไม่มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นข้างเคียง สถานการณ์ที่แรงขึ้นบางช่วงไม่ได้โยงการพูดคุยเจรจา แต่เหตุรุนแรงในระยะหลัง (หลังจาก 28 ก.พ.2556) สัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยอย่างชัดเจน" รายงานระบุตอนหนึ่ง
ส่วนศักยภาพของกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ นั้น หน่วยข่าว ระบุว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า นายฮัสซัน เป็นตัวจริงและมีศักยภาพ แต่มีปัญหาการสื่อสารกับกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีอายุแค่ 20 เศษๆ ทำให้ไม่รู้จักกับนายฮัสซัน ประกอบกับการจัดโครงสร้างของขบวนการมีระบบคัทเอาท์
สำหรับ นายอับดุลการิม คาลิบ และ นายมะสุกรี ฮารี ที่ปรากฏตัวบนโต๊ะพูดคุย มีความเกี่ยวข้องขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจสน และเชื่อมโยงกับกลุ่มที่มีอำนาจสั่งการกองกำลังในพื้นที่ เช่น ดุลเลาะ แวมะนอ หรือ นายอับดุลเลาะ แวมะนอ (อดีตครูใหญ่ปอเนาะญิฮาด จ.ปัตตานี) ที่คุมกำลังสายทหารค่อนข้างมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ติดป้ายผ้ากว่าร้อยผืนเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2556 ข้อมูลการข่าวก็ยืนยันชัดเจนว่า นายอับดุลการิม คาลิบ มีส่วนเกี่ยวข้อง ฉะนั้นหากมองในมุมของความเชื่อมโยง หน่วยข่าวสรุปตรงกันว่ามีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างคนบนโต๊ะเจรจาที่มาเลเซีย กับฝ่ายกองกำลังในพื้นที่
สันติภาพเป็นแค่ "ผลพลอยได้"
รายงานยังระบุอีกว่า การสร้างสันติภาพในพื้นที่สู้รบหรือพื้นที่ขัดแย้ง มีอยู่ 3 แนวทางหลักๆ คือ
1.รัฐใช้กำลังกวาดล้างจนฝ่ายผู้เห็นต่างยอมวางอาวุธ
2.รัฐโดดเดี่ยวกลุ่มผู้เห็นต่างให้แยกออกจากภาคประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศ
3.รัฐดำเนินนโยบายพูดคุยสันติภาพ
อย่างไรก็ดี การเลือกแนวทางพูดคุยสันติภาพควรทำในช่วงที่สถานการณ์ค่อนข้างสุกงอมแล้ว ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่าการสู้รบไม่ใช่ทางออก และเงื่อนไขข้อเรียกร้องจะเป็นในลักษณะว่า ทำอย่างไรสถานการณ์จึงจะยุติหรือบรรเทาลง
ทว่าการพูดคุยเจรจา 17 รอบที่ผ่านมากลับไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องสันติภาพ สิ่งที่ประเมินจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐคือสันติภาพเป็นปลายเหตุ ถ้าพวกเขาไม่บรรลุสิ่งที่ต้องการ สันติภาพก็จะไม่เกิด เท่ากับว่าสันติภาพไม่ใช่เจตนารมณ์ แต่เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
ขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์
หน่วยข่าวยังประเมินว่า ในขณะที่รัฐบาลเน้นกระบวนการพูดคุย แต่กลุ่มผู้เห็นต่างไม่ได้มุ่งหรือให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยมากนัก ยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ 4 ด้านสำคัญอย่างขะมักเขม้น ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ DIME (ยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ข้อมูลข่าวสาร การทหาร และเศรษฐกิจ) กล่าวคือ
D ย่อมาจาก Diplomacy หรือยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ใช้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นพื้นที่หลบซ่อน ใช้บทบาทของโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) สนับสนุนการเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นรัฐปัตตานี
I ย่อมาจาก Information หรือยุทธศาสตร์ข้อมูลข่าวสาร มีการสร้างข่าวจากความรุนแรง ใช้เว็บไซต์และสื่อในประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวขยายผล ซึ่งหลายสื่อโยงกับกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างชัดเจน
M ย่อมาจาก Military หรือยุทธศาสตร์การทหาร ยังคงก่อเหตุรุนแรงทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง
E ย่อมาจาก Economy หรือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ จากข้อมูลของหน่วยข่าวพบว่ามีการสนับสนุนทางการเงินจากหลายส่วน และเงินไม่ใช่ปัญหา
จับตา "ประชามติแยกดินแดน"
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่หน่วยข่าวให้ความสำคัญ และมีการขับเคลื่อนอย่างกว้างขวางมากขึ้นในระยะหลัง คือการขับเคลื่อนผ่านภาคประชาสังคม (ของฝ่ายขบวนการ) มุ่งสู่การลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตตนเอง หรือ self determination
"กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ ถนัดทำงานใต้ดิน เข้าไปแทนที่นักรบรุ่นเก่า กลายเป็นนักรบรุ่นใหม่ รัฐไทยกำลังต่อสู้กับคนมีความรู้ มียุทธวิธี มียุทธศาสตร์ ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา กลุ่มคนเหล่านี้กำลังขับเคลื่อนไปสู่ self determination อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม"
"ระยะหลังมีการจัดเวทีในลักษณะของภาคประชาสังคมมากขึ้น มุ่งไปสู่ self determination ที่ให้อำนาจกำหนดใจตนเองกับพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นอาณานิคมของรัฐไทย สอดรับกับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่ใช้คำเรียกขานรัฐไทยว่า 'นักล่าอาณานิคมสยาม' ทุกอย่างเชื่อมร้อยกันหมด คือรุกทางประชาสังคม ยกระดับการใช้กำลังไปสู่ arm conflict (ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ) เข้าเงื่อนไขยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) พร้อมๆ กับทำลายสัญลักษณ์ของรัฐ เช่น ครู ทั้งหมดคือการสร้างแรงกดดันต่อรัฐไทยและประชาคมโลกทั้งสิ้น"
เป้าหมายต่าง-ยิ่งคุยยิ่งแรง
รายงานของหน่วยข่าว ระบุด้วยว่า เป้าหมายสุดท้าย (end) ของบีอาร์เอ็นคือ "รัฐปัตตานี" ธรรมนูญบีอาร์เอ็นไม่เคยเปลี่ยน คือไม่เจรจา ใช้หลักศาสนาเรื่องญิฮาด และไม่ยอมรับการปกครองพิเศษทุกรูปแบบ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อจึงชี้ไปที่เป้าหมายสุดท้าย คือ "รัฐปัตตานี" แนวทาง (way) ไม่ใช้การพูดคุย แต่กดดันรัฐในทุกรูปแบบเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
"ตราบใดที่แนวทางของบีอาร์เอ็นใช้การพูดคุยเป็นเพียงเครื่องมือ (mean) ไม่ใช่แนวทาง (way) สถานการณ์ยังน่ากังวลมาก เพราะการพูดคุยเจรจาครั้งนี้ที่ทำโดย สมช.(สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับกระบวนการพูดคุย ใช้การพูดคุยเป็นแนวทาง (way) ส่วนเครื่องมือหรือวิธีการ (mean) คือการนิรโทษกรรม ปล่อยนักโทษ ลดพื้่นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลดกำลังทหาร สนองตอบต่อแนวทาง (way) ที่ใช้การพูดคุยสันติภาพเป็นหลักทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากวิถีทางของบีอาร์เอ็นอย่างสิ้นเชิง"
"ฉะนั้นถ้าไม่ปรับวิถีทาง ไม่สามารถดึงให้กลุ่มเห็นต่างกลับมามีเป้าหมายเดียวกันกับรัฐบาลไทยได้ การพูดคุยในระยะต่อไปจะมีความรุนแรงตามมามากขึ้นกว่าเดิม"