เลขาฯสมช.ผสมสูตรดับไฟที่ปลายขวาน...รักษาอัตลักษณ์โดยไม่แบ่งแยก
พลันที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ พูดน้อย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายดับไฟใต้ในยุคของท่าน ซึ่ง "ทีมข่าวอิศรา" ได้นำมารายงานเอาไว้อย่างละเอียดแล้วนั้น ก็มีหลายคนสะดุดกับคำว่า "นโยบาย 206/2549" ที่แม่ทัพคนใหม่จะนำมาใช้เป็นกรอบทิศทางในการทำงาน ว่าหมายถึงอะไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
จะว่าไปไม่ใช่แค่ผู้คนในสังคมทั่วไปเท่านั้นที่สงสัย แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองจากหลายๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสถานการณ์ในพื้นที่อยู่ ก็ยังทำหน้างงๆ เหมือนกัน
ล่าสุดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้เชิญ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาร่วมประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย 206 ตลอดจนทบทวนกรอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
และนับจากบรรทัดนี้คือบทสัมภาษณ์เลขาฯ สมช. ผู้กุมนโยบายความมั่นคงของประเทศ กับสูตรดับไฟใต้..."รักษาอัตลักษณ์โดยไม่แบ่งแยก"
O มีการมอบนโยบายอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?
ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัญหาด้านความมั่นคงหนึ่งในไม่กี่ปัญหาที่เราให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยืดเยื้อมาถึง 6-7 ปีเข้าไปแล้ว จึงยิ่งเป็นปัญหาสำคัญ ถ้าจัดการไม่ดีจะนำไปสู่ผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างมาก
เมื่อท่านแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ (พล.ท.อุดมชัย) เข้ารับตำแหน่ง ก็มีการพูดคุยกันว่าเมื่อท่านเข้ารับตำแหน่งแล้ว ท่านอยากจะให้หน่วยนโยบายได้มามอบนโยบาย มาพูดถึงคำสั่งที่ 206/2549 ลงวันที่ 30 ต.ค.2549 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ถือว่าเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขณะนี้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำงานกันไปพอสมควร จึงมองว่าถึงเวลาที่อาจจะต้องมาทบทวนว่าแนวทางที่เราได้ดำเนินการไปนั้น มีตรงไหนบ้างที่ยังไม่เข้าใจ มีตรงไหนบ้างที่ยังไม่ตรงกัน ก็จะได้ถือโอกาสนี้มาพูดจาให้ตรงกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
O หลักการสำคัญในคำสั่ง 206/2549 มีอะไรบ้าง?
หลักๆ ก็คือการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ ต้องลดความหวาดระแวง ลดความไม่ไว้วางใจ สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา การบังคับใช้กฎหมายยังมีความจำเป็นอยู่ แต่แนวทางหลักก็คือการใช้การเมืองนำการทหาร ใช้แนวทางสันติเป็นแนวทางหลัก
การบังคับใช้กฎหมายก็ทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่ออำนวยความปลอดภัยให้กับภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ได้มีขึ้นเพื่อปราบปรามประชาชน อันนี้ไม่มีเป็นอันขาด แต่ว่าสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายนั้นก็ยกเว้นไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการ แต่จะเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตรงไปตรงมา และจะไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้นโยบาย 206 ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคน สังคม การศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติความเป็นมา โดยจะให้ตอบสนองต่อคนในพื้นที่มากที่สุด ส่วนเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมเป็นปัจจัยหลักอีกอันหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม มีปัญหาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นต้องถอดสมการเหล่านี้ออกมาให้ได้
O ที่ต้องมาทบทวนกันใหม่ เป็นเพราะที่ผ่านมาทำนอกเหนือนโยบายหรือไม่ได้ทำตามนโยบายหรือเปล่า?
คำสั่งนี้เป็นนโยบาย และที่ผ่านมาก็ยึดนโยบายนี้เป็นหลักอยู่แล้ว แต่ว่าพอทำๆ ไปก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่านโยบายนี้ออกตั้งแต่ปี 2549 มาถึงวันนี้ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าแนวทางที่อยู่ในนโยบายเหล่านั้นยังเป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่ เพียงแต่ว่ามีสถานการณ์ในบางเรื่อง เช่นในช่วงปี 2549-2551 มันอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สมช.จะรับไปดำเนินการอยู่แล้ว อีกอย่างท่านแม่ทัพท่านก็ยึดแนวทางนี้มาตลอดตั้งแต่ท่านเป็นรองแม่ทัพ
ปัญหาในพื้นที่จริงๆ คือเขา (พี่น้องมุสลิม) อยากอยู่อย่างมีลักษณะเฉพาะ เป็นอัตลักษณ์ ซึ่งทางราชการก็พยายามทำตรงนี้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ประเด็นสำคัญก็คือว่าเราแตกต่างกันได้ แต่เรารวมกันอยู่เพราะเรามีผลประโยชน์ร่วมกันในการเป็นประเทศประเทศหนึ่ง ส่วนการแบ่งแยกออกไปนั้นทำไม่ได้ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่
เรื่องการแก้ไขปัญหา การรักษาความสงบเรียบร้อย และเรื่องการเข้าถึงประชาชน รวมทั้งพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ภาคประชาชนในพื้นที่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำนอกเหนือจากกฎระเบียบที่มีอยู่ และทำผิดไม่ได้ จึงอยากให้มั่นใจเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ขอให้เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการทำงานด้วย
O มีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2549) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียที?
ขณะนี้ทางท่าน ผอ.รมน.ภาค 4 (พล.ท.อุดมชัย) และทาง สมช.ได้ประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ซึ่งวันอังคาร (19 ต.ค.) จะเสนอเข้าที่ประชุมครม. (คณะรัฐมนตรี) เพื่อตัดสินใจว่าจะเลิกหรือจะต่ออายุ (หากต่ออายุจะเป็นการต่อครั้งที่ 21 หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เดือน ก.ค.2548)
ตอนนี้ในภาคใต้กับพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีกสามจังหวัดปริมณฑลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่เหมือนกัน แต่ลักษณะปัญหาค่อนข้างจะแตกต่างกัน ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล (รวม 4 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) เป็นการใช้กฎหมายในเชิงป้องปรามและป้องกันเสียมากกว่า แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วนทราบดีว่ายังมีความจำเป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผลจะออกอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
รู้จักนโยบาย 206
นโยบาย 206 ที่พูดถึงกันอยู่นี้ คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206/2549 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประเด็นหลักๆ ของคำสั่งฉบับนี้ คือ
1.จัดตั้งองค์กรบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ (ซึ่งก็คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งโดยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ หลังจากถูกยุบเลิกไปในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปัจจุบันกำลังพิจารณาออกกฎหมายรองรับ เพิ่งผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา)
2.กำหนดนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองประการมุ่งขจัดเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่
รายละเอียดของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 มีการกำหนดนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อสนับสนุนนโยบายหลักของรัฐ อาทิ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมได้อย่างปกติสุข, เปิดให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น, ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม , เคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมของสังคมอันหลากหลาย, สนับสนุนภาคประชาชนในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และรณรงค์ป้องกัน ปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช. (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ : "รับฟังเสียงที่แตกต่าง พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
http://www.south.isranews.org/index.php?option=com_content&view=article&id=564:q-q--4-&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=19