จับตา"สงครามอุดมการณ์ใหม่" จากไฟใต้ถึงเสื้อแดง
"ทีมข่าวอิศรา" เห็นว่าเป็นเงื่อนแง่ทางความคิดที่น่าสนใจ จึงนำมาเสนอไว้เพื่อร่วมกันขบคิด วิพากษ์วิจารณ์ และหาทางออกให้กับบ้านเมือง ทั้งปัญหาขัดแย้งทางการเมือง และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้...
รัฐไทยเผชิญ 2 ความท้าทาย
แม้เหตุระเบิดเที่ยวล่าสุดที่ "สมานเมตตาแมนชั่น" จะถูกสรุปไปแล้วว่าเป็น "ระเบิดการเมือง" และโยงเข้ากับ "กลุ่มคนเสื้อแดง" แต่การจะปลดชนวนความรุนแรงนี้ ย่อมไม่ใช่แค่การคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อไปเป็นแน่ เพราะในมุมมองของนักยุทธศาสตร์การทหารแล้ว การใช้กฎหมายไปไล่จับคนที่คิดเห็นต่างกับรัฐในแง่ "อุดมการณ์ทางการเมือง" คือหนทางสู่หายนะ หรือหากจะชนะ ก็ชนะแค่เพียงชั่วคราว
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ประธานอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม และนายทหารนักวิชาการคนสำคัญของกองทัพ มองว่า หากพิจารณาในมิติที่กว้างกว่าและลึกกว่าการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลทางการเมือง จะพบว่า "รัฐ" ซึ่งหมายถึงกลไกรัฐของประเทศไทย ไม่ใช่จำกัดเฉพาะรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
พล.ท.พีระพงษ์ อธิบายแง่คิดของเขาผ่านสมมติฐาน 2 ข้อที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือ
1.มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เหตุระเบิดครั้งนี้จะเกี่ยวโยงกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สมมติฐานนี้ พล.ท.พีระพงษ์ อธิบายว่า เหตุระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ไม่น่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองล้วนๆ พิจารณาจากระเบิดป่วนเมืองที่ผ่านๆ มา เกือบทั้งหมดเป็นระเบิดลูกเล็ก สร้างความเสียหายไม่มาก และไม่ได้มุ่งหวังเอาชีวิตใคร เพียงแต่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาลเท่านั้น แต่ระเบิดที่บางบัวทองใหญ่เกินกว่าที่ขบวนการทางการเมืองอย่าง "กลุ่มคนเสื้อแดง" จะทำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ถึงจะเป็นการต่อระเบิดผิดพลาดก็ตาม
นอกจากนั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับ นายสมัย วงศ์สุวรรณ์ ก็ยังไม่ชัดเจน แม้จะอ้างว่าเคยร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่จะเหมาว่าเป็น "กลุ่มคนเสื้อแดง" เสียทีเดียวก็ไม่น่าจะได้ เพราะต้องถามว่าเคยไปร่วมชุมนุมกี่ครั้ง การรีบสรุปว่า นายสมัย เป็นแค่ "คนเสื้อแดง" คนหนึ่ง อาจทำให้ตีโจทย์ผิดพลาดได้
ฉะนั้นจึงไม่อาจมองข้ามสมมติฐานที่ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ขยายอิทธิพลมายังเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างใหม่ และน่ากลัวกว่าเดิมอันสืบเนื่องมาจากปัญหาในสามจังหวัดชายแดน
2.หากนายสมัยเป็น "คนเสื้อแดง" จริงๆ โดยไม่ได้เกี่ยวโยงกับภาคใต้ คนอย่างนายสมัยคือผู้ที่ท้าทายอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเก่าของประเทศไทยใช่หรือไม่
สมมติฐานนี้ พล.ท.พีระพงษ์ อธิบายว่า ในอดีตเราเชื่อกันว่า คนไทยโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวกัน คือรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่วันนี้คนอย่างนายสมัย ซึ่งถูกเปิดเผยประวัติว่าเป็นเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือ "ยาม" คนหนึ่ง ได้เสี่ยงตายและปฏิบัติการจนตัวตายเพื่อคนๆ หนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกโค่นล้มอำนาจไปโดยการรัฐประหาร
หากเป็นไปตามสมมติฐานนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างใหม่เกี่ยวกับ "อุดมการณ์ทางการเมือง" ที่ยึดถือกันมาแต่เดิม
"เหตุระเบิดที่บางบัวทอง และการสังเวยชีวิตของนายสมัย น่าจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้กลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยได้ตระหนักว่า อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดิมๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนๆ หนึ่งซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของอีกหลายพันหลายหมื่นคน ประกาศตัวสนับสนุนคนๆ หนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในแบบที่พวกเขาเชื่อ และต่อสู้เพื่อคนๆ หนึ่งที่เขามองว่าถูกกลั่นแกล้ง และเป็นคนที่พวกเขารัก"
พล.ท.พีระพงษ์ บอกว่า ขอเรียกการกระทำของนายสมัยว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเชื้อชาติหรือศาสนา แต่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในแบบของตนเอง และความรักชอบส่วนตัวที่มีต่อผู้นำทางการเมืองคนหนึ่งที่เคยหยิบยื่นโอกาสหรือสิ่งดีๆ ให้กับเขา
"ในสภาพการณ์เช่นนี้ วิธีแก้ย่อมไม่ใช่การไปไล่จับคนอื่นๆ ที่คิดแบบเดียวกัน หรือสาดโคลนว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะจะยิ่งทำให้แนวคิดนี้ขยายตัว จากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน ไม่ใช่พอนายสมัยตาย ก็ไปเอาอีก 8 คดีมาบวกให้ เหมือนกับกรณีเสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ที่พอถูกยิงเสียชีวิต ก็กลายเป็นผู้ร้ายที่เกี่ยวข้องกับทุกคดีจนลูกสาวของเสธ.แดงยังงงว่า พ่อตัวเองเก่งขนาดนี้เชียวหรือ"
พล.ท.พีระพงษ์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คือ "สงครามอุดมการณ์ใหม่" เป็นสงครามของคนจากสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจระดับล่าง ซึ่งไม่มีใครเคยเชื่อว่าจะกล้าท้าทายกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบดั้งเดิม แม้คนเหล่านี้จะไม่เข้าใจบริบทของประชาธิปไตยที่ถูกทุนครอบงำการเมืองอย่างในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ รู้แค่ว่าผู้นำคนนี้ช่วยเหลือ หยิบยื่นโอกาสให้ก็ตาม แต่การต่อสู้ในลักษณะนี้ก็ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป
"สมมติฐานนี้หากเป็นจริงและรัฐแก้ไขผิดวิธี จะยิ่งไปกันใหญ่ กลุ่มชนชั้นนำอย่าคิดว่าตัวเองชนะแล้ว เพราะจะเป็นชัยชนะเพียงชั่วคราว ลองย้อนดูเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ2519 ก็ได้ กลุ่มชนชั้นนำชนะจริงในเหตุการณ์วันนั้น แต่หลังจากนั้นนักศึกษาก็เข้าป่า และสุดท้ายก็ต้องออกนโยบาย 66/23 ซึ่งก็คือการแก้ไขด้วยวิถีทางทางการเมือง ผมจึงอยากเตือนว่าปัญหานี้แก้ไม่จบหากยังยึดแต่กฎหมายซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรม เพราะประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองต้องแก้ด้วยการเมืองเท่านั้น"
พล.ท.พีระพงษ์ ยังบอกด้วยว่า เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว การแก้ไขปัญหาโดยใช้ตำรวจออกตรวจตรา ตั้งด่าน ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ที่สำคัญลองดูต่อไปได้เลยว่า ตำรวจจะโยนคดีไปให้ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ปวดหัวแทน
"ตำรวจอาจจะคิดว่าในเมื่อคุณเก่งนัก ก็รับไป ดีเอสไอรับไปทำเลย และผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วก็จะทำอะไรไม่ได้ เพราะปัญหานี้ต้องแก้ด้วยการเมือง" พล.ท.พีระพงษ์ ย้ำในตอนท้าย
ดูเหมือนหลายๆ บริบทของปัญหาขัดแย้งและความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับ "คนเสื้อแดง" จะคล้ายคลึงกับสภาพปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อยทีเดียว!
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค.2553