ชงรบ.แก้ปัญหา‘เกษตรพันธะสัญญา’ – สำรวจความเดือดร้อน -ชะลอดำเนินคดี
อนุฯเกษตรพันธะสัญญารับลูก‘พีมูฟ’ จ่อชง ‘เฉลิม’ทั้งคณะทำงานสำรวจปัญหารายคน – ชะลอดำเนินคดีเกษตรกรถูกเอกชนฟ้อง-ดึงกองทุนฟื้นฟูฯช่วยแก้
เร็วๆนี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) มีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกษตรพันธะสัญญา ตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)หรือ พีมูฟ เพื่อนำข้อสรุปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานทในวันที่28พ.ค.56
นาย อุบล อยู่ว่า แกนนำเครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นับจากประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ซึ่งมีสาระของการสนับสนุนภาคเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา ทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลิตที่ตอบสนองการส่งออกเป็นหลัก แต่มองข้ามประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับบริษัทเอกชน ซึ่งกลไกใดเข้ามาดูแลเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ทำให้เกิดเป็นคู่สัญญาที่มีความเหลื่อมล้ำ
“ระบบที่ไม่เป็นธรรมชาวบ้านต้องแบกรับ ถือเป็นการผูกขาดตลอดสายพานตั้งแต่ควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น กรณีฟาร์มเลี้ยงหมู บริษัทจะควบคุมจำนวนหมู อาหารหมู ยารักษาหมู ชาวบ้านต้องซื้อเขาหมด แต่เกษตรกรไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานปัจจัยการผลิตอย่างคุณภาพลูกหมูได้ ว่าน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ บริษัทจะดูแลฝ่ายเดียวหรือเรื่องคดีความบริษัทฟ้องร้องชาวบ้านกรณีที่พบส่วนใหญ่คือ บริษัทจะส่งอุปกรณ์เครื่องมือให้เกษตรกรและให้เซ็นรับสภาพหนี้เอาไว้ แต่เมื่อชำระหนี้ไม่ได้บริษัทก็ฟ้องร้อง หรือธนาคารฟ้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้สิน” นายอุบลกล่าว
นายอุบล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ทำการสำรวจปัญหาดังกล่าวในพื้นที่เพียง 3 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น และเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรที่ถูกเอาเปรียบจากระบบเกษตรพันธะสัญญามีมากกว่า 1,000 คน ซึ่งมีหนี้สินรวมกันเกือบ 800 ล้านบาท ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาในสองระยะ ระยะสั้น คือขอให้ชะลอการบังคับคดี เพื่อไม่ให้เกษตรกรที่เดือดร้อนถูกยึดที่ทำกินและขอให้กระทรวงเกษตรฯอำนวยความสะดวกในการเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนต่างๆที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกร ส่วนข้อเรียกร้องระยะยาว คือ ขอให้รัฐบาลผลักดันให้มีกลไกดูแลเงื่อนไขการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรมต่อทั้ง2ฝ่าย
ด้านนาง อารี โสมวดี รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบโดยหลักการว่าเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบบดังกล่าวจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีที่ประชุมพิจารณาว่าข้อเท็จจริงต่างๆยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะแจกแจงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด จึงจะเสนอให้ให้คณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟชุดใหญ่ พิจารณาตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นกลางเพื่อสำรวจตัวเลขเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและปัญหาที่พบเจอเป็นรายบุคคลโดยละเอียด
พร้อมทั้งจะเสนอให้รัฐบาลหยุดการดำเนินคดีแก่เกษตรกรที่มีปัญหาฟ้องร้องกับบริษัทนายทุนหรือธนาคารไว้ก่อน นอกจากนี้จะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือด้วยกองทุนต่างๆฯที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามที่เครือข่ายเกษตรพันธะสัญญาร้องขอด้วย
ที่มาภาพ : http://voicelabour.org/wp-content/uploads/2012/01/tn-1.jpg