ตัวตน "ซะการีย์ยา อมตยา" กวีซีไรต์คนใหม่...กับความในใจถึงชายแดนใต้
ฮือฮาไม่น้อยเมื่อ ซะการีย์ยา อมตยา กวีหนุ่มเลือดมุสลิมจากดินแดนเทือกเขาบูโด คว้ารางวัลซีไรต์ หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2553 ในสาขากวีนิพนธ์ "ทีมข่าวอิศรา" มีโอกาสได้พูดคุยเพื่อค้นหาตัวตนของเขา และเรื่องราวชีวิตจากจังหวัดปลายด้ามขวานสู่คืนวันของการเป็นกวีแถวหน้าของเมืองไทย
ซะการีย์ยา ถือได้ว่าเป็นกวีมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ หากย้อนอดีตกันสักนิดก็จะทราบว่า ซะการีย์ยา เป็นชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส มีความเป็นมลายูเต็มเปี่ยมในสายเลือด สมัยเด็กเขาร่ำเรียนหนังสือเหมือนคนอื่นๆ ในละแวกบ้าน จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่นราธิวาสบ้านเกิด และมีโอกาสได้ไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
เมื่อครั้งยังละอ่อน ซะการีย์ยามีความฝันอยากไปรัสเซีย แต่หลังจากเรียนจบ ม.ปลายแล้ว เขาได้เดินตามฝันของตัวเองเพียงแค่ไปเลียบๆ เคียงๆ แถวสถานทูตรัสเซียเท่านั้น ด้วยหวังว่าอาจจะมีทุนอะไรสักอย่างส่งให้เขาไปศึกษาต่อที่นั่น ทว่ามันก็เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ
ซะการีย์ยาเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ แต่เรียนได้แค่ 2 เทอม ก็ไม่อาจฝืนใจเรียนต่อไปได้...
"สิ่งที่ผมเรียนมันขัดต่อความรู้สึก ผมคิดว่าเราไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตมากกว่าตัวบุคคล" เขาบอกเล่าความในใจเมื่อครั้งกระโน้น
ตลอดเวลา ซะการีย์ยา ไม่เคยละทิ้งความฝันที่อยากจะไปต่างประเทศ กระทั่งมีโอกาสได้บินลัดฟ้าไปอินเดีย
"ผมไม่เลือกไปซาอุดิอาระเบียหรือคูเวต ทั้งๆ ที่มุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชอบไปเรียนที่นั่นกัน เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เพราะอินเดียค่าเครื่องบินถูกกว่า...ก็เท่านั้น" เขาให้เหตุผล
แต่ใครล่ะจะหยั่งรู้ว่า ปลายทางของเขาที่เคยคิดแค่ว่าค่าเครื่องบินถูก ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของการบ่มเพาะประสบการณ์ กระทั่งก้าวขึ้นเป็น "กวีซีไรต์" คนล่าสุดของเมืองไทย
ที่อินเดีย...แม้จะมีมุสลิมจำนวนไม่น้อย แต่ซะการีย์ยาก็ต้องปรับตัวมากพอสมควร
"ช่วงปีแรกผมต้องฝึกพูดภาษาอาหรับ เพราะในประเทศอินเดีย มุสลิมจะใช้ภาษาอาหรับเป็นหลัก รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ผมไปเรียนด้วย จริงๆ แล้วผมพูดมลายูได้ แต่มันใช้ไม่ได้ที่นั่น"
และซะการีย์ยาก็เริ่มต้นขีดๆ เขียนๆ ด้วยการระบายความรู้สึกที่ต้องจากบ้านไปสู่ต่างแดนอันไกลโพ้น...
"ผมเริ่มเขียนเกี่ยวกับความรู้สึก ความที่คิดถึงพ่อแม่ ผมระบายออกมาเป็นตัวหนังสือ และเริ่มเขียนกวี แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งผมจะได้เป็นกวีซีไรต์" เขาเล่ายิ้มๆ
จุดเปลี่ยนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่ทำให้เขาเลือกเส้นทางสายกวี ก็คือการเริ่มแปลบทกวีของต่างประเทศ กระทั่งราวๆ ปี 2547 เขาส่งผลงานไปที่จุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในคอลัมน์ "กวีต่างแดน" ที่มี นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ เป็นบรรณาธิการ และผลงานของเขาได้รับพิจารณาตีพิมพ์ หลังจากนั้นเขาก็แปลงานและเขียนงานสั่งสมวัตถุดิบและความเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ
ซะการีย์ยา เล่าต่อว่า หลังจากจบปริญญาตรีด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ จากวิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ ประเทศอินเดีย เขาเดินทางกลับเมืองไทย และได้เข้าศึกษาต่อปริญาญาโทที่มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ปริญาโทใบนี้เขาทำไม่สำเร็จ
"ตลอดเวลาผมก็ยังเขียนบทกวีอยู่ และได้มีโอกาสรวมเล่มผลงาน แต่ไม่ทันที่ผลงานของผมจะได้วางแผง สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือให้ผมเกิดปัญหาขาดทุนเสียก่อน จึงไม่สามารถผลิตหนังสือให้ผมได้ ทำให้ต้องพับโครงการไว้ชั่วคราว แต่ถึงอย่างไรผมก็ยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับรางวัลที่ผมคิดว่าสูงสุดในชีวิต นั่นก็คือได้รับเลือกให้เป็นกวีซีไรต์ประจำปี 2553 และได้พิมพ์หนังสือเป็นของตัวเองเป็นผลสำเร็จ"
ในฐานะเป็นคนจากชายแดนใต้ ดินแดนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติความไม่มั่นคง ซะการีย์ยาพูดถึงปัญหาที่บ้านเกิดเอาไว้อย่างน่าสนใจ
"ผมไม่คิดว่าบทกวีหรือตัวผมจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก หรือเป็นแบบอย่างสำหรับเยาวชนในพื้นที่ได้ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือพวกเขาเหล่านั้นต้องเปิดกว้างเพื่อรับสิ่งใหม่ๆ ถ้าคนเราไม่ยอมเปิดใจรับอะไร ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ผมก็ยังหวังว่าบทกวีของผมจะสามารถช่วยกล่อมเกลาให้ความรุนแรงลดลงได้บ้าง แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความรู้สึกก็ยังดี"
ซะการีย์ยายังให้มุมมองเกี่ยวกับมุสลิมด้วยว่า ความเป็นมุสลิมที่เขาได้สัมผัสในอินเดียกับมุสลิมไทยนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมุสลิมอินเดียต้องอยู่ร่วมกับประชาชนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอื่นเนื่องจากยินยอมและพร้อมที่จะอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ในบางมิติอาจจะมีข้อขัดแย้งกันบ้าง แต่ถ้าเลือกจะไม่อยู่อินเดีย ก็ต้องอพยพไปอยู่ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่แยกตัวไปจากอินเดีย
"แต่สำหรับมุสลิมไทย ผมคิดว่าไม่มีทางเลือก ประเทศที่แบ่งแยกออกไปก็ไม่มี จึงไม่แน่ใจว่ามุสลิมในไทยต้องการจะแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่ต้องการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น แต่ผมก็หวังว่าสถานการณ์คงจะสงบในเร็ววัน และไทยพุทธกับมุสลิมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข"
ซะการีย์ยา ยังได้สำทับทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับเขาแล้ว การได้เป็นหรือไม่ได้เป็นกวีซีไรต์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขาได้ และเขายังคงดำเนินชีวิตเรียบง่ายเหมือนเดิม
-----------------------------------------------------------------------------
* ลภัสรดา หินอ่อน เป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะ researcher ในเครือ The Nation