เปลือย “จีวร” พระสงฆ์ไทย ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มีอะไรมากกว่าแค่นั่งเล่น “ไพ่” ?
เปลือย “จีวร” พระสงฆ์ไทย ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มีอะไรมากกว่าแค่นั่งล้อมวงเล่นไพ่ “ดัมมี่” ? แบ่งเส้นทาง “บิณฑบาต” รับปัจจัย เล่นเน็ตผ่าน “ไอแพด” ดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สร้างอาณาจักรอิทธิพล จับมือนักการเมือง วิ่งเต้นขั้นสมเด็จ?
ภาพของเจ้าอาวาส และพระลูกวัดแห่งหนึ่ง ใน จังหวัดกาญจนบุรี ที่นั่งล้อมวงเล่นไพ่ “ดัมมี่” อย่างขะมักเขม้น ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ หลังถูกชาวบ้านแอบบันทึกเทปไว้เป็นหลักฐาน และส่งมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดตรวจสอบ
กำลังตอกย้ำให้สังคมไทย เริ่มเห็นว่า แท้จริงแล้ว พระสงฆ์ ในยุคนี้ อาจมิได้เป็นเพียงแค่ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
หากแต่ พระสงฆ์ ในวันนี้ อาจมีสถานะเป็นเพียงแค่ “สัญลักษณ์” ทางศาสนาอย่างหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อให้ครบองค์ประกอบทางศาสนา และกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของบุคคลกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“การใช้ชีวิตของพระสงฆ์ปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้แตกต่าง กับการใช้ชีวิตประจำวันของคนธรรมดาทั่วไป จะแตกต่างจากคนทั่วไปก็คือ ต้องสวดมนต์และออกบิณฑบาตในตอนเช้าเท่านั้นเอง”
นาย บ. นามสมมุติ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว เอ่ยปากตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาธรรมะ
“กิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงตี 4 ทำวัตรเช้า (สวดมนต์) จากนั้นก็ออกบิณฑบาต ซึ่งจะต้องเดินทางกลับถึงวัดในช่วงเวลาไม่เกิน 07.30-08.00 น. เพื่อฉันเช้า ก่อนที่จะย้ายแยกกันไปทำงานวัด หรือกิจกรรมส่วนตัว เพื่อรอฉันเพลในช่วงเวลา 11 โมง ไม่เกินเที่ยง จากนั้นก็แยกย้ายไปทำกิจกรรมส่วนตัว ก่อนที่จะทำวัตรเย็นอีกครั้งในช่วงเวลา 6 โมงเย็น ก่อนจะสรงน้ำและจำวัด ซึ่งทุกวันก็จะเป็นแบบนี้”
นาย บ. ยังเล่าต่อไปว่า การบิณฑบาตสำหรับพระใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราไม่สามารถที่จะกำหนดเส้นทางบิณฑบาต จะต้องรอให้มีพระพี่เลี้ยงมาแนะนำ
“ พระที่แก่พรรษา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ออกบิณฑบาต จะเป็นพระระดับรอง และพระใหม่มากกว่า ขณะที่เส้นทางการบิณฑบาต ก็จะมีคนจับจองอยู่ก่อนแล้วว่า ใครจะไปเส้นทางไหนบ้าง ใครมาบวชเป็นพระใหม่ และไปเดินบิณฑบาตทับเส้นทางใคร อาจจะถูกบ่นเอาได้”
เมื่อถามว่า การบิณฑบาต ทำไมต้องมีการแบ่งเส้นทาง แบ่งแล้วได้อะไร นาย บ . กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูลจากพระรุ่นพี่ เส้นทางการเดินแต่ละสาย มีความแตกต่างกัน ทั้งปริมาณของอาหาร คุณภาพของอาหาร แต่ที่สำคัญ ที่สุด ก็คือเรื่องของ “ปัจจัย” หรือเงินทำบุญ
“พระรูปไหนที่ได้เส้นทางดี ผ่านบ้านคนเยอะ มีฐานะดี คุณภาพอาหารก็จะดี ขณะที่ปัจจัยทำบุญก็ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา ได้ทีละเป็นพันบาท พระบางรูปถึงกับพูดว่า วันนี้เป็นวันที่รายได้ดี”
นาย บ. ยังขยายข้อมูลแหล่งที่มาของรายได้พระสงฆ์ว่า รายได้ของพระสงฆ์ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่ญาติโยมนำมาถวายให้ จากกิจนิมนต์ทั้งในและนอกวัด
“ผมรับกิจนิมนต์ครั้งหนึ่ง ได้ปัจจัยที่ญาติโยมมาถวายครั้งละ 100 -200 บาท ส่วนพระรูปอื่นจะได้เท่าไรไม่รู้ แต่มีเพื่อนของผมบางคน บวชแค่ 3 เดือน มีเงินเก็บเป็นหมื่นบาทเลยก็มี ”
นี่ยังไม่รวมถึงพระบางรูป ที่มักจะให้เลขเด็ด ให้ของขลัง เจิมรถยนต์ ที่มักมีญาติโยมแวะเวียนมาหาอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน พร้อมเงิน “ปัจจัย” ด้วย
เมื่อได้ปัจจัยมาแล้ว พระนำไปทำอะไรต่อ?
นาย บ.ตอบว่า ผมบวชไม่นาน ไม่ค่อยได้ใช้เงินอะไร ก็เอาเก็บไว้เฉย ๆ ส่วนคนอื่น ก็คงเอาไปใช้ส่วนตัว
“พระบางรูปเดี๋ยวนี้ มีของใช้ส่วนตัวดี ๆ เยอะ บางคนมี คอมพิวเตอร์ มีไอแพด มีไอโฟน มีเงินไปเดินห้าง ซื้อหนังซื้อหนังสือมาดูยามว่าง พระใหม่บางรูปก็ไปซื้อปืนอัดลม เอามายิงสุนัขในวัดตอนกลางคืนก็มี”
ส่วน นาย ช. อายุ 25 ปี ซึ่งเคยบวช ที่วัดชื่อดัง ย่านราชประสงค์ เล่าให้ฟังว่า การบวชในวัดที่อยู่ใจกลางเมือง มีความเจริญทุกอย่าง ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพระแทบไม่ต่างจากการอยู่ในโลกภายนอก
“พระบางส่วนที่วัดนี้กลางค่ำกลางคืน ดูทีวีกันดึกดื่น ติดดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ติดละคร เราอยู่ได้ยากมาก ถ้าไม่มีวินัยในตัวเอง”
นาย ช. ระบุด้วยว่า การบวชทำให้ได้รู้ว่าการใช้ชีวิตของพระไม่ได้มีแต่ด้านดี มันมีด้านมืดเหมือนกัน เช่น พระก็มียศ จึงนำมาซึ่งการแข่งขัน พอมียศแล้วก็มีเงินเดือนประจำยศ ที่เป็นเรื่องของทางองค์กรสงฆ์ เพราะฉะนั้นปัจจัยของพระเยอะมาก
“ยิ่งพระผู้ใหญ่ เวลาคุยกันก็หลักแสนหลักล้าน เรื่องจะเอาเงินไปสร้างโน่นสร้างนี่ ท่านเอาปัจจัยไปทำประโยชน์แหละ...ส่วนนึง ซึ่งก็มีพระผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งที่ใช้ในทางที่ผิด”
ส่วนเรื่อง “ปัจจัย” ที่ได้ระหว่างบวช เขาเล่าว่า การออกไปบิณฑบาตแต่ละวัน ก็ได้ปัจจัยเยอะพอสมควร แต่ละเดือนปัจจัยที่ได้จากทั้งบิณฑบาตทั้งกิจนิมนต์ ก็น่าจะเกินเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี
“มีอยู่งานหนึ่งเคยได้มากสุดไปกับพระผู้ใหญ่รวมห้ารูป ได้มาห้าพันบาท เพราะฉะนั้นพระผู้ใหญ่ก็ได้เยอะมาก อยู่ที่ว่าจะเอาเงินนี้ไปใช้ในทางที่ดีหรือไม่ ถ้าเอาเงินไปช่วยเหลือสังคม ก็ดี”
อย่างไรก็ตาม พระไม่สามารถใช้ปัจจัยได้ด้วยตัวเองได้ โดยเป็นข้อห้ามอยู่ในศีลหมวดนิสสัคคิยะปาจิตตีย์ มีข้อหนึ่งห้ามพระใช้ "รูปียะ" คือ "เงิน" ไปจับจ่ายซื้อของ
ถ้าพระเอาเงินไปซื้อของ พระจะต้องอาบัติ ของที่ได้มาก็เป็นนิสสัคคิยะ จะต้องทำลายสิ่งของนั้นก่อน โดยการโยนทิ้งหรือเอาไปให้คนอื่น ให้บุคคลหรือสงฆ์ แล้วจึงมาปลงอาบัติปาจิตตีย์ ถึงจะหลุดจากอาบัติได้ อย่างพระที่ไปเดินซื้อของเองที่พันธ์ทิพย์ มันก็ผิด
โดยระบบที่ถูกต้องคือทางวัดจะมีคน ๆ หนึ่งเรียกว่าไวยาวัจกร ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเงินที่พระจะใช้สอย เวลาพระอยากซื้อของหรือปัจจัยสี่อะไรก็มาบอกคน ๆ นั้นให้ไปซื้อมาให้
นอกจากนี้ ข้อครหาในเรื่องกิจที่ไม่พึงประสงค์ของพระที่พบเห็นอยู่ทั่วไปแล้ว ยังมีเรื่องอิทธิพลในวงการสงฆ์ ที่เกิดจากระบบการซื้อขายตำแหน่งชั้นยศต่าง ๆ อีกด้วย
แหล่งข่าวจากวงการศาสนา รายหนึ่ง ระบุว่า พระที่มีชั้นยศต่ำ เช่น เจ้าคณะตำบล หากอยากเติบโตเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นเจ้าคณะอำเภอ ก็ต้องวิ่งเต้น เข้าหาพระตำแหน่งสูง ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งพระชั้นยศต่ำกว่า
“มีพระชั้นเทพ รูปหนึ่งของวัด อักษรย่อ ช. เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการแต่งตั้งชั้นยศ จึงมีพระหลายรูปเข้าหาพระชั้นเทพรูปนี้เมื่อต้องการเลื่อนชั้น ทั้งนี้พระที่ได้ชั้นยศสูงก็เป็นการรับรองว่าจะนำมาซึ่งเครดิตในการออกกิจนิมนต์ และจำนวนปัจจัยที่ได้รับในกิจนิมนต์แต่ละครั้งก็สูงตามไปด้วย ว่ากันว่า อัตราเงินที่เรียกรับในการวิ่งเต้นอยู่ที่ 4 หมื่น 5 หมื่น จนถึง 1 แสนบาท ตามลำดับความสูงของชั้นยศที่ต้องการ”
แหล่งข่าวระบุอีกว่า ในบางพื้นที่ นักการเมืองท้องถิ่นยังเข้ามามีส่วนแบ่งผลประโยชน์ในอาณาจักรอิทธิพลวงการสงฆ์ด้วย โดย ส.ส.บางคนสามารถวิ่งเต้นให้พระในสายของตัวเองได้ตำแหน่งสูงขึ้น ว่ากันว่าวิ่งเต้นได้จนถึงขั้นสมเด็จ เช่น ให้พระบางรูปได้เป็นเจ้าอาวาส หลังจากนั้นเมื่อวัดจัดงานบุญระดมทุน เช่น ทอดผ้าป่า จึงมาขอส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์
นี่ คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่กำลังบั่นทอนคุณภาพของคณะสงฆ์ไทย ให้ตกต่ำลงไปทุกวัน?