‘ตัดเหี้ยนงบกองทุนสวัสดิการชุมชน’ เหตุการเมืองต่างขั้ว หรือโปะถังแตกประชานิยม
หนึ่งในบรรดาเทศกาลม็อบหน้าทำเนียบฯช่วงนี้ คือ ‘ม็อบร้อง ครม.หั่นงบพัฒนาชุมชนจาก 5 พันล้านบาทเหลือ 500 ล้านบาท’ โดยเฉพาะงบสวัสดิการชุมชนที่โดนหั่นแบบไม่เหลือรากจาก 1,200 ล้านบาทเป็น 0
เครือข่ายชุมชน 4 ภาค ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 56 เรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ตัดลดงบประมาณสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชนผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ปี 2557 ลง 10 เท่า จาก 5,183 ล้านบาทเหลือ569 ล้านบาท โดยเฉพาะงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งโดนหั่นลงจาก1,200 ล้านบาทเหลือ 0 บาท! แบบไม่เหลือราก
และพวกเขาประกาศจะกลับมาม็อบทวงคำตอบจากรัฐบาลอีกครั้งปลายเดือน พ.ค.นี้ ท่ามกลางข้อสงสัยมากมายว่าทำไม? ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลถังแตกจากการหว่านประชานิยมต่างๆจนต้องนำงบส่วนนี้ไปโป๊ะ หรือเพราะไม่พึงใจที่โครงการสวัสดิการชุมชนเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดก่อน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปติดตามรายละเอียด
‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’เริ่มต้นยุค‘ทักษิณ’ ผลงานชิ้นโบว์แดงยุค‘มาร์ค’
ย้อนที่มา ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เกิดขึ้นหลังไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ผู้นำชุมชนส่วนหนึ่งได้ร่วมหารือเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูทุนทางสังคม จนได้รูปแบบ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล’ ขึ้นในปี 2547 โดยหลักการให้มีการสมทบเงินเข้ากองทุนจาก3 ฝ่าย 1.เงินทุนจากการออม/สมทบของสมาชิกในชุมชน 2.เงินสมทบจากรัฐบาล 3.เงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)
กองทุนนี้มีจุดมุ่งหมายสร้างสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้หมด แม้แต่ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถออมสมทบกองทุนฯก็มีการจัดระบบเอื้อให้เข้ามาเป็นสมาชิกโดยใช้เงินอื่น เช่น เงินบริจาคมาจ่ายแทน กองทุนสวัสดิการชุมชนจึงเป็นฐานยึดโยงคนให้เกิดการรวมตัวช่วยเหลือเกื้อกูลกันในพื้นที่อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน
ปี 2548 กองทุนฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลครั้งแรกในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 32.5 ล้านบาทจากงบฯศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ต่อมายุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับงบฯสนับสนุนเพิ่ม 200 ล้านบาท กระทั่งปี 2553 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีการปรับแผนดำเนินงานของกองทุนฯเป็นแผน3 ปีโดยในปี2553-2555 ได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อปี 727.3 ล้านบาท800 ล้านบาทและ 743.58 ล้านบาทตามลำดับและล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม2556 ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันกองทุนฯได้รับงบสนับสนุนเพิ่ม 701.66 ล้านบาท ทว่าการประชุมครม.ชุดปัจจุบันเพื่อพิจารณากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วันที่ 23 เม.ย. 56 งบกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ขอไว้ 1,200 ล้านบาทกลับไม่ผ่านการอนุมัติแม้เพียงบาทเดียว!
คำถามคือกองทุนสวัสดิการชุมชนประสบความล้มเหลวหรืออย่างไร? ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่เห็นค่า?
สวัสดิการชุมชน ช่วยชาวบ้าน-ผู้ด้อยโอกาส3.4 ล้านรายมีหลักประกันชีวิต
จากรายงานการเติบโตกองทุนสวัสดิการชุมชน (ณ วันที่ 30 เม.ย. 56 : พอช.) ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เมืองทั่วประเทศจัดตั้งไปแล้ว 5,599 กองทุนสมาชิก3.48 ล้านรายจำนวนนี้มีทั้งคนวัยทำงานเด็กผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาสมีเงินกองทุนฯรวมกว่า4,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินจากสมาชิก2,626 ล้านบาทหรือร้อยละ 66 เงินสมทบจาก อปท. 124 ล้านบาทหรือร้อยละ 3 และเงินสมทบจากรัฐบาลผ่านพอช. 891.57 ล้านบาทหรือร้อยละ 23 ที่เหลืออีกร้อยละ9 เป็นเงินจากแหล่งอื่นเช่น ภาคเอกชนเงินบริจาค
5 ปีที่ผ่านมากองทุนฯมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จากสมาชิก 9 แสนคนในปี 2552 เพิ่มเป็น 3.48 ล้านคนในปี 2556 จำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 กองทุนเป็น 5,995 กองทุน โดยจัดสวัสดิการพื้นฐานให้สมาชิกครอบคลุมการเกิดแก่เจ็บตาย เช่น สวัสดิการรับขวัญเด็กแรกเกิด ทุนการศึกษา รักษาตัวในกโรงพยาบาล บำนาญผู้สูงอายุ สวัสดิการเสียชีวิต งานศพ สวัสดิการผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ทุนประกอบอาชีพ ภัยพิบัติ
พรรณทิพย์เพชรมากผู้ช่วยผู้อำนวยการพอช. กล่าวว่าปัจจุบันมีการขยายผลดำเนินงานของกองทุนฯมากขึ้น อิงจากสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชุนจ.สระแก้วบริเวณชายแดนเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสถานะตามกฎหมายซึ่งเข้ามาอยู่ในชุมชนเป็นเวลานานหรือแต่งงานกับคนในชุมชนได้รับสวัสดิการที่ไม่เคยมีโอกาสได้ ขณะที่บางชุมชนมีเกษตรกรยากจนไร้ที่ทำกินก็ให้กู้เงินกองทุนฯไปจัดซื้อ-เช่าที่ดินว่างเปล่าเพื่อสร้างอาชีพ แล้วให้ผ่อนชำระคืน นอกจากนี้ยังมีให้ทุนการศึกษานักเรียนในชุมชนโดยส่งไปเรียนต่อด้านพยาบาลเพื่อกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
“กองทุนนี้ทำให้คนในชุมชนมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงประโยชน์แค่การได้เงินช่วยเหลือที่รวดเร็วใกล้ตัว แต่ยังทำให้เกิดการช่วยเหลือดูแลกันเองในชุมชน เช่น เมื่อมีงานเช่นงานศพ หรือ คนแก่เจ็บป่วย ชุมชนจะช่วยดูแลกัน โดยมีกองทุนฯเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์”
ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวอีกว่าในจำนวนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้งหมดทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 5 ข้อ 4,500 กองทุนร้อยละ80 เป็นกองทุนที่ประสบความสำเร็จเพราะมีการเติบโตทั้งแง่ของสมาชิกเงินทุนและการขยายผลสวัสดิการช่วยเหลือชุมชน
เช่นเดียวกับวารุณีธารารัตนกุลประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้จ.ภูเก็ต ที่ประเมินผลสำเร็จกองทุนฯจ.ภูเก็ต ว่าสมาชิกกองทุนฯมีเพิ่มขึ้นทุกปี จนปัจจุบันมีสมาชิก 14,050 คน และประสบความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาชาวบ้าน ทั้งปัญหาระบบนิเวศ ที่อยู่อาศัย และหนี้นอกระบบ
ตัดงบสวัสดิการชุมชนเหลือศูนย์ เหตุผลการเมืองต่างขั้ว?
แม้จะเป็นที่ประจักษ์ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นโครงการที่มีประโยชน์และประสบความสำเร็จ อีกทั้งตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาชุมชนให้เข็มแข็งพึ่งตนเองได้ แต่เหตุที่ ครม.หั่นงบเป็น 0 หรือไม่สนับสนุนต่อนั้น เครือข่ายองค์ชุมชนตั้งข้อสังเกตว่า 1.การเสนอของบ 1,200 ล้านบาท ไม่น่าจะเป็นเหตุผลของการไม่อนุมัติ เพราะเงินจำนวนนี้คำนวณตามสัดส่วนการเติบโตของกองทุนฯ ซึ่งปีที่ผ่านมาๆมาก็เสนอขอไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แม้จะถูกตัดลดลงบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดที่เหลือศูนย์ 2.ฝ่ายการเมืองอาจมองว่าโครงการกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลก่อนสมัยนายอภิสิทธิ์
3.รัฐบาลอาจเข้าใจว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนซ้ำซ้อนกับกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบต่อประเด็นหลังนี้พรรณทิพย์ผู้ช่วย ผอ.พอช.กล่าวว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือคนละรูปแบบและไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะมาตรา 40 เป็นหลักประกันเพื่อแรงงานนอกระบบวัยทำงานงอายุ 15-60 ปีเท่านั้น ทั้งยังบริหารกองทุนฯเป็นระบบใหญ่ผ่านสำนักงานประกันสังคมโดยกำหนดอัตราส่งเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ชัดเจนตายตัว ขณะที่กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นระบบสวัสดิการระดับชุมชนที่มีความยืดหยุ่นสูง ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย เน้นดูแลช่วยเหลือกันทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงินตามความต้องการท้องถิ่น
4.รัฐบาลอาจคิดว่า พอช.ยังมีเงินดำเนินโครงการกองทุนฯอยู่มาก ซึ่งพรรณทิพย์ชี้แจงว่า เงินที่ พอช.มีอยู่นั้นมีภาระผูกพันแล้วและอยู่ระหว่างขั้นตอนเบิกจ่ายทั้งสิ้น “เงินส่วนที่ชุมชนขอให้รัฐบาลสมทบเข้ากองทุนฯไม่ใช่เงินจำนวนมากและไม่ใช่โครงการให้เปล่าเหมือนโครงการช่วยเหลืออื่นๆแต่ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกองทุนออกเงินสมทบเพิ่มเองถึงร้อยละ66”
ขณะที่ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้กล่าวว่า“ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนงบต่อ จะกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนสวัสดิการแต่ละชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้ชาวบ้านบริหารจัดการบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเอง ถ้ารัฐบาลต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งจริงก็ควรให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”
ประกาศม็อบใหญ่ปลายเดือน ความหวังสุดท้าย ‘พึ่งสภาฯแปรญัตติคืนงบชุมชน’
ที่น่าสนใจคือนอกจากงบกองทุนสวัสดิการชุมชนจะถูกตัดเหี้ยนแล้วครม.ยังตัดงบสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชนผ่านพอช. ปี57 ในส่วนอื่นๆลงอีกในสัดส่วนมากจนมีนัยยะสำคัญได้แก่โครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัดไม่มีที่อยู่อาศัยที่เสนอขอวงเงิน2,400 ล้านบาทถูกพิจารณาตัดเหลือ174 ล้านบาท โครงการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบทเสนอ 550 ล้าน ตัดเหลือ 264.8 ล้าน งบสภาองค์กรชุมชนเสนอ 223 ล้านบาทตัดเหลือ 50.8 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นหนุนพื้นที่ตำบลจัดการตนเองจัดทำข้อมูลพัฒนา 1,000 ตำบลเสนอ 370 ล้านตัดเหลือ 23.8 ล้านบาท
สัญญาณจากรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงการลดความสำคัญในการพัฒนางานด้านชุมชน ทำให้เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และประกาศว่าในวันที่29 พ.ค. 56 ตัวแทนองค์กรชุมชนจะยื่นหนังสือที่รัฐสภาให้สภาฯแปรญัตติเพิ่มงบสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชนในการประชุมพิจารณางบประมานรายจ่ายประจำปี2557 หลังจากที่ไม่สามารถต่อรองในชั้นครม.ทัน
แหล่งข่าวจากพอช. รายงานว่าเวลานี้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ที่เห็นประโยชน์การดำเนินงานขององค์กรชุมชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนสวัสดิการชุมชน กำลังพยายามทำความเข้าใจกับ ส.ว. และ ส.ส. ในพื้นที่ เพื่อให้เป็นปากเสียงแทนชาวบ้านในขั้นตอนการแปรญัติเพิ่ม/ลดงบประมาณรายจ่ายปี 57 ซึ่งจะมีการประชุมปลายเดือนพฤษภาคมนี้ต่อไป โดยพวกเขาหวังว่าเมื่อฝ่ายบริหารละเลยความสำคัญในการพัฒนาชุมชน ก็ต้องตับตาดูกันต่อว่าฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นตัวแทนของชาวบ้านโดยตรงจะสนใจหรือไม่
……………………
อย่างไรก็ดีผู้ช่วยผู้อำนวยการพอช.กล่าวทิ้งท้ายว่า การเรียกร้องเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน บนพื้นฐานที่ชุมชนจัดการตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการของบประมาณแต่มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อผลักดันให้หลักการนี้ให้ยังคงอยู่ในแผนนโยบายของรัฐบาลต่อไปเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งในระยะยาว ซึ่ง“หลายเรื่องที่ชุมชนทำเองถ้าเทียบแล้วถูกกกว่าที่รัฐบาลทำให้มาก”
ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลจะมีคำอธิบายที่ดีพอในการตัดงบประมาณหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งจาก 5,000 กว่าล้านบาทลงเหลือ 500 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะหั่นเหี้ยนงบกองทุนสวัสดิการชุมชนจาก 1,200 ล้านเป็นศูนย์…เหตุผลที่ไม่ใช่เพราะการเมืองต่างขั้ว และไม่ใช่เอาเงินไปโปะประชานิยมถังแตก…!!
ที่มาภาพ :::
http://1bahtfund.com/index_2.html
http://pr.prd.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=75&filename=index