ฟังชัดๆ โฆษกรัฐบาลบอกสถานการณ์ใต้ดีขึ้น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนไร้เอกภาพ!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลับมาโหมรุนแรงระลอกใหม่ มีครูถูกยิงตายวันเดียว 2 ศพ ทั้งยังมีเหตุป่วนแบบก่อกวนและหมายจะเอาชีวิตอีกวันละกว่าสิบเหตุการณ์ แต่โฆษกรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร กลับออกมายืนกรานว่าสถานการณ์ในพื้นที่กำลังดีขึ้น จึงมีความพยายามก่อเหตุเพื่อสร้างกระแสและลดทอนความเชื่อมั่นของฝ่ายรัฐ หนำซ้ำขบวนการแบ่งแยกดินก็กำลังอยู่ในภาวะขัดแย้ง แตกคอ ต่างกลุ่มต่างท่าที
ถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเขา หนุ่มใหญ่หน้าตาดี ดีกรีด็อกเตอร์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเมืองไทย แถมยังมีพื้นเพจาก จ.ยะลา ผู้มีนามว่า "ปณิธาน วัฒนายากร" เพราะนอกจากเขาจะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่มักยืนอยู่หน้ากล้องในตำแหน่งไม่ห่างกับ "วอลล์เปเปอร์" ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเท่าใดนักแล้ว เขายังปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "โฆษกรัฐบาล" อีกด้วย
สมัยยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นายปณิธาน วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภาคใต้ผ่านสื่อและเวทีสัมมนาอยู่เนืองๆ โดยมากมักจะเป็นในท่วงทำนองเตือนภัยและอธิบายสถานการณ์ว่ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้ก่อการมีพลวัตมากขึ้น แต่เมื่อเขาผันตัวมาเป็น "ฝ่ายการเมือง" มุมมองต่อปัญหาใต้ก็เริ่มเปลี่ยนไป และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับ "ข้อมูลวงใน" จากหน่วยงานความมั่นคงมากขึ้นก็ได้
คำสัมภาษณ์ของ นายปณิธาน ในฐานะโฆษกรัฐบาล ที่รัฐสภา เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟใต้เมื่อวันพุธที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมานับว่าน่าสนใจ "ทีมข่าวอิศรา" จึงนำมาเผยแพร่อย่างละเอียด โดยเฉพาะหากข้อมูลของนายปณิธานเป็นความจริง ก็เท่ากับว่าการแก้ไขปัญหากำลังเดินถูกทางแล้ว และไฟใต้ก็มีแนวโน้มจะดับมอด!
นายปณิธาน กล่าวว่าได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่ามีการพยายามสร้างสถานการณ์ในหลายพื้นที่ โดยอาศัยช่วงฤดูของการปฏิบัติศาสนากิจ (หมายถึงเดือนรอมฎอน) อีกทั้งในช่วงนี้สถานการณ์ก็กำลังคลี่คลาย นอกจากนั้นยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ใหม่ๆ เข้าไปในพื้นที่ จึงได้กำชับให้ทำงานอย่างรัดกุมมากขึ้น
"สถิติการก่อเหตุลดลงและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ลงไปทำให้ประชาชนในพื้นที่พึงพอใจค่อนข้างมาก ส่งผลให้รัฐบาลมีแนวร่วมมากขึ้น ขณะที่องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) และประเทศเพื่อนบ้านก็ตอบรับช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งหมดทำให้กลุ่มคนที่ต้องการสถานการณ์รุนแรงผิดหวัง จึงฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ทำให้คนตกใจ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปดูพื้นที่สุ่มเสี่ยง บางกรณีต้องติดตามดูกลุ่มบุคคลและคู่กรณีต่างๆ ที่มีปัญหากันในบางส่วนด้วย"
“ตอนนี้มีการแย่งชิงพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำงานได้ผลมากขึ้นจึงต้องดิสเครดิตเจ้าหน้าที่ โดยปฏิบัติการในเชิงสัญลักษณ์เพื่อที่จะสร้างกระแส ขณะนี้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มแกนนำได้ทำต่อเนื่อง ซึ่งบางกลุ่มแกนนำหันมาร่วมมือก็มี บางกลุ่มแกนนำยังจัดระบบตัวเองไม่ได้ บางกลุ่มแกนนำปฏิเสธไม่ร่วมมือ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุน้อย ซึ่งมีบางส่วนที่เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต"
"ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น บีอาร์เอ็นเก่า หรือกลุ่มพูโล เขามีแนวโน้มที่อยากมาร่วมมือ (กับรัฐบาล) แต่อยากจะแก้ไขระบบการปกครองบางอย่าง เช่น เรื่องอำนาจ เรื่องกฎหมาย เขาจะโน้มมาทางรัฐ แต่ปัญหาของกลุ่มอายุน้อยกับอายุมากเขาไม่สามารถคุยกันได้ ซึ่งกลุ่มอายุมากมีเครือข่ายต่างประเทศในการเพิ่มสถานะ ทำให้กลุ่มอายุน้อยพยายามกันไม่ให้กลุ่มอายุมากเข้ามา ซึ่งกลุ่มอายุมากไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ทำให้กลุ่มอายุน้อยยังคงเคลื่อนไหวอยู่”
นับเป็นข้อมูลความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ "ไฟใต้" ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ส่วนจะมีน้ำหนักน่าเชื่อแค่ไหน...เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ขณะแถลงข่าวอย่างขึงขังในนามศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ช่วงปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่"
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น (โดยประเสริฐ เทพศรี)