เฮ งบฯกรมที่ดิน 6,150 ล้านบ. – ดันยุทธศาสตร์โซนนิ่ง-เกษตรอินทรีย์
‘ยุทธพงศ์’ เฮ กรมพัฒนาที่ดินได้งบ 6,150 ล้านบ. หนุนโซนนิ่ง-เกษตรอินทรีย์ สนองพระราชดำริโครงการหญ้าแฝก กปร.โชว์ต่างประเทศใช้เป็นต้นแบบป้องกันหน้าดินพัง-พัฒนาหัตถกรรม
วันที่ 22 พ.ค. 56 ที่กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดินครบรอบ 50 ปี ‘กึ่งศตวรรษพัฒนาที่ดิน ธำรงถิ่นเกษตรไทย ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม’ โดยกล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย โดยเฉพาะการฟื้นฟูและการพัฒนาทรัพยากรดินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชได้ผลดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับภารกิจสำคัญของกรมพัฒนาที่ดินในการก้าวสู่ปีที่ 50 คือ การขับเคลื่อนนโยบายเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือ โซนนิ่งเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ประเทศที่สำคัญของรัฐบาล โดยจะมีบทบาทในการทำแผนการใช้และพัฒนาที่ดินเชิงพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีภารกิจด้านการส่งเสริมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้แพร่หลายมากขึ้น ดังนั้นคณะรัฐมนตรี(ครม.)จึงมีมติเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ให้กรมพัฒนาที่ดินได้รับงบประมาณจำนวน 5,300 ล้านบาท และได้รับงบสนับสนุนจากคณะกรรมการเพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) อีก 850 ล้านบาท รวมเป็น 6,160 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่า 800 ล้านบาท ถือเป็นกรมฯสังกัดกระทรวงเกษตรฯที่ได้รับงบฯมากเป็นอันดับ 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันเดียวกันมีการประชุมวิชาการหัวข้อ ‘สองทศวรรษ พัฒนาวิชาการหญ้าแฝก’ โดยนายเกรียงศักดิ์ หงส์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินในหลายพื้นที่ของประเทศมานาน โดยได้มีพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยและพัฒนาหญ้าแฝกเพื่อใช้แก้ปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน เนื่องจากรากของหญ้าแฝกนอกจากจะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมป้องกันการพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังช่วยให้ธาตุอาหารของพืชย่อยสลายและดูดซึมได้ดี
แนวทางการใช้หญ้าแฝกประสบผลสำเร็จอย่างกว้างขวางและเป็นแบบอย่างให้หลายประเทศทั่วโลก โดยต่อจากนี้ไปกรมพัฒนาที่ดินยังมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ปลูกหญ้าแฝกตามพื้นที่ลาดเชิงเขาในภาคเหนือ อีสาน รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ที่มีปัญหาดินโคลนถล่มด้วย โดยจะเน้นส่งเสริมผ่านเครือข่ายชุมชนคนรักษ์หญ้าแฝกในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ด้านนางสุวรรณา พาศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กล่าวว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา (ปี 2536 - 2554) กปร.ในฐานะหน่วยงานหลักสนองแนวพระราชดำริ ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกในประเทศไทยไปแล้วทั้งสิ้น 3,400 ล้านกล้า คิดเป็นระยะทาง 3 ล้านกม. นอกจากหญ้าแฝกจะเป็นประโยชน์เชิงนิเวศแล้วยังเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน โดยสามารถนำไปทำงานฝีมือ หัตถกรรมพื้นบ้านได้ โดยประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของโลกในการส่งเสริมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝก จนมีตัวแทนชุมชนจากประเทศต่างๆเดินทางมาอบรม เช่น กลุ่มแม่บ้านประเทศเวเนซูเอลล่า ที่มาเรียนรู้การหัตถกรรมหญ้าแฝกและนำไปขยายผลต่อในชุมชน จนมีสินค้าตุ๊กตาจากหญ้าแฝกจำหน่ายสร้างรายได้ในท้องถิ่น
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกเพื่อรักษาทรัพยากร ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากกปร.ไปส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในประเทศที่ประสบปัญหา เช่น ส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังประเทศมาดากัสการ์เพื่อส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม เพื่อลดการชะล้างพังทลายของที่ลาดริมทางรถไฟสาย PCE ซึ่งเส้นทางขาดจากพายุไซโคลน
“ขณะนี้กปร.ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและให้ใช้หญ้าแฝก ฉบับที่ 5 (ปี 2555 - 2559) โดยเน้นการศึกษาด้านการเพิ่มศักยภาพการใช้หญ้าแฝกในพื้นที่ดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเป็นวิกฤตการณ์ธรรมชาติรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศบ่อยครั้ง ต่างจากในอดีตซึ่งส่วนใหญ่ไทยจะประสบปัญหาเพียงการพังทลายของหน้าดิน” รองเลขาฯกปร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการถ่ายทอดความรู้มากมาย เช่น การกำหนดเขตเกษตรโซนนิ่ง การใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง การจัดค่ายยุวหมอดิน การประชุมวิชาการการอนุรักษ์ดินและน้ำ การประกวดภาพระบายสีและกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจ ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน ได้ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. 56 ณ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ