"พิเชษฐ์ วิสัยจร"โชว์ผลงานก่อนอำลาใต้ ลบภาพ"แม่ทัพหน่อมแน้ม"
เรื่อง / ภาพ : นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ช่วงเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาของการ "ผลัดใบ" ในทุกส่วนราชการ ไม่เว้นแม้กระทั่งกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบภารกิจ "ดับไฟใต้" โดยตรง ปีนี้ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 2 ปีเต็ม จะขึ้นไปรับตำแหน่งใหญ่ใน 5 เสือ ทบ. คือผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (อัตราพลเอก) โดยมี พล.ต.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน มีผลวันที่ 1 ตุลาคม
ตลอด 2 ปีของ พล.ท.พิเชษฐ์ มีเสียงวิจารณ์ไม่น้อยเกี่ยวกับทิศทางการทำงาน หลายเสียงบอกว่าเขาเป็น "แม่ทัพหน่อมแน้ม" บ้างก็ว่าเป็น "นายพลอีเอ็ม" มุ่งทำแต่เกษตรชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์ หรือ "อีเอ็ม" แก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม ทว่าละเลยงานยุทธการ
พล.ท.พิเชษฐ์ พูดคุยอย่างเปิดอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงสถานการณ์ภาคใต้ และยกตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา ทั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตรงข้ามค่ายสิรินธร จนได้รับคำชมจากทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย, โครงการโยน "อีเอ็มบอล" ในอ่าวปัตตานีแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย, เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ช่วยรักษาโรค, ตัดแว่นสายตาและทำฟันปลอมแจกชาวบ้าน รวมถึงโครงการญาลันนันบารู หรือ "ทางสายใหม่" ช่วยเยาวชนชายแดนใต้ให้พ้นภัยยาเสพติด
ทั้งหมดนี้แม้จะนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู แต่ พล.ท.พิเชษฐ์ ไม่สนใจ และยืนยันว่า เป็นยุทธศาสตร์ "ดับไฟใต้" ที่ถูกทิศถูกทางแล้ว แต่คนที่วิจารณ์โดยที่นั่งอยู่แต่ในห้อง ไม่เคยลงพื้นที่ต่างหาก...ที่ไม่รู้เรื่องเอง!
O รู้สึกอย่างไรกับเสียงวิจารณ์แม่ทัพหน่อมแน้ม?
คนที่พูดผมบอกได้เลยว่ารู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงไม่พูดอย่างนี้หรอก ที่ผมกล้าทำเพราะผมได้รางวัลมาเยอะ เช่น รางวัลลูกโลกสีเขียว รางวัลพวกนี้ทหารไม่เคยได้ แม้แต่ข้าราชการเองก็น้อยคนนักที่จะได้ ผมได้รางวัลมาจริง ทำมาแล้วสำเร็จจริงในภาคอีสาน ก็เลยกล้าทำ ใครจะว่าอะไรผมไม่กลัว
ถ้าเป็นทหารด้วยกัน ผมอยากถามว่าได้ พสร.เท่าผมหรือเปล่า (พสร. - เงินเพิ่มสู้รบ สำหรับทหารที่ทำงานในสมรภูมิ) งานด้านการรบผมมีประสบการณ์เยอะ เคยได้รับบาดเจ็บจากสมรภูมิ มีสื่อบางแขนงเขียนวิจารณ์ผมว่าแม่ทัพพูดกับใครไม่รู้เรื่อง...ไม่เป็นไร เพราะผมพูดกับพี่น้องประชาชนของผมรู้เรื่องก็พอแล้ว ในอีสานลูกศิษย์ผมเยอะ ในภาคใต้ก็มีทั่ว ทุกคนพูดกับผมรู้เรื่อง
โครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมทำมาตลอด สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้แน่นอน เพราะปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เรื่องการรบอย่างเดียว อีกอย่างในภาคใต้มีต้นทุนอยู่เยอะ และเราต้องเข้าไปพัฒนาให้มันยั่งยืนถึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ที่ต้นเหตุ และส่วนใหญ่ผมจะทำงานเชิงรุก แก้ปัญหาน้ำเสียในทะเลด้วยการโยนอีเอ็มบอล น้ำก็ดีขึ้น ธรรมชาติก็กลับคืนมา อีเอ็มบอลช่วยได้เยอะ เมื่อปลากลับมา ชาวบ้านก็อยู่ดีกินดี ตรงนี้สามารถป้องกันไม่ให้เขาไปก่อเหตุรุนแรงได้ หลายพื้นที่ที่แก้ปัญหาด้วยอีเอ็ม ทั้งขยะ น้ำเน่าเสีย ถ้าใช้วิธีอื่นต้องใช้งบ 500 กว่าล้านบาท แต่วิธีของผมใช้แค่ 1 ล้านบาทก็แก้ปัญหาได้ทั้งหมด
ผมไม่ชอบทำวิจัย เพราะรู้ว่าเป็นแม่ทัพมีเวลาแค่ 2 ปี ถ้าผมทำวิจัยก็ไม่ทันได้ทำงาน ผมชอบทำมากกว่าพูด ปัญหาภาคใต้หมดเวลาที่จะพูดแล้ว ตอนนี้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่โง่ รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีสำหรับเขา อย่างเช่นมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่งนำของไม่ดีไปแจกชาวบ้าน เขาก็ไม่เซ็นรับ นี่แหละสะท้อนว่าชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น
O ตลอดหลายปีที่ทำงานในพื้นที่ คิดว่าปัญหาภาคใต้เกิดจากอะไร?
ปัญหาภาคใต้เกิดจากความหวาดระแวง จากการที่เรามีโครงการใส่ฟันปลอมให้ชาวบ้าน มีโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เท่ากับทหารใช้ภาษาดอกไม้ลงพื้นที ่ไม่ได้ใช้ภาษาแข็งๆ แบบทหาร ทำให้ชาวบ้านไว้ใจทหาร และสุดท้ายสถานการณ์ก็ดีขึ้น จากยกเท้ากลายเป็นโบกมือ เป็นสัญลักษณ์ที่แน่นอนว่าชาวบ้านเริ่มต้อนรับทหารมากกว่าเดิม ทุกวันนี้ทหารลงพื้นที่เขาไม่หนีอีกแล้ว แต่กลับโบกมือเรียก เทียบกับอดีตไม่มีเลย ทั้งหมดมาจากการเน้นงานพัฒนา
O องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าปัญหาการละเมิดสิทธิในภาคใต้ยังมีอยู่ เช่น การเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ในศูนย์ซักถามซึ่งอยู่ในค่ายทหาร (ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี)
จริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมคำนึงถึงมาก พอเกิดเหตุปุ๊บก็เรียกองค์กรสิทธิมนุษยชนทุกแห่งมา เพราะคิดแล้วว่าต้องมีการนำไปขยายผล ต้องเข้าใจว่าในภาคใต้เป็นการต่อสู้ทางความคิด ผมก็ให้ทุกองค์กรพูด สงสัยอะไรก็ถาม อยากจะพูดอะไรก็พูด ถ้าผมต้องการปิด จะเรียกมาทำไม แต่เมื่อมาแล้วต้องไม่ไปพูดทีหลัง ถ้าไม่ดีต้องบอกเลย แต่นี่ต่อหน้าไม่พูด ไปพูดลับหลัง แสดงว่ามันมีเงื่อนงำอย่างอื่น ทุกวันนี้ไม่มีใครกลัวใคร ถูกก็ว่าถูก ผิดก็ว่าผิด ถ้าไม่ดีผมจะอัดลูกน้องผม เพราะเข้มงวดมาตลอด
พื้นที่ศูนย์ซักถาม ผมอยากทำความเข้าใจว่าแต่เดิมเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ไม่มีหน้าต่าง ผมเองที่สั่งให้ทำหน้าต่าง เพราะอยากให้คนที่เราเชิญตัวมาได้พักอยู่ตรงนั้นเหมือนบ้าน มีการอบรมให้ปลูกผักสวนครัว คนที่ออกไปแล้วไม่มีเงินซื้อพันธุ์ผักยังย้อนกลับมาขอ บางคนก็ยึดอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมเอากลับไปทำที่บ้าน บางคนเอาขนมมาให้ทหารแลกกับเมล็ดพันธุ์ผัก นี่คือน้ำใจของชาวบ้าน
ปัจจุบันทหารใช้ความจริงใจ เราเน้นงานพัฒนา ผมคิดว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่มาเรียกร้องให้ทหารออกไป เพราะทหารมีความพร้อม ลงได้ทุกหมู่บ้าน และสามารถป้องกันตนเองได้ แต่หน่วยงานฝ่ายอื่นๆ ไม่มีอะไรเลย หลักการที่ว่าไล่ให้ทหารออกมันไม่ใช่แล้ว ทุกวันนี้ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ทหารเน้นงานพัฒนา เข้าไปในพื้นที่มีแต่การให้ จับจอบจับเสียม ไม่มีจับปืน ชาวบ้านก็เข้าใจ
O พล.ต.อุดมชัย ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ จะสานงานต่อได้หรือไม่?
ผมเป็นคนสนับสนุนเขาเอง ท่านอุดมชัยมีความสัมพันธ์กับผู้นำศาสนาเป็นอย่างดี และจะยึดแนวทางในการแก้ปัญหาเหมือนกับที่ผมทำอยู่ ทุกอย่างจะมีการสานต่อ ถ้าหากว่าได้คนอื่นมา สิ่งเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลง
O คิดอย่างไรกับข้อเรียกร้องให้ทดลองงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 3 เดือน?
อยากจะบอกว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พี่น้องได้ประโยชน์ คนที่มาฆ่าชาวบ้านคือคนไม่ดี ฆ่าผู้บริสุทธิ์ พ.ร.ก.เป็นตัวช่วยในการดูแลประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทุกวันนี้โต๊ะอิหม่าม ผู้นำหมู่บ้านได้ไปขอให้คนเหล่านั้นออกมามอบตัว เมื่อมาแล้วหากไม่มีอะไรก็ปล่อยกลับ ถ้าใช้กฎหมายปกติ ผิดอะไรต้องจับต้องขังทันที แต่ พ.ร.ก.ยืดหยุ่นได้ เรามาคุยกัน ไม่มีหลักฐานพอเราก็ปล่อย
ยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งพาลูกมาที่โรงพยาบาล เขาอยู่ในขบวนการ พาลูกมารักษา พอผมรู้ ก็ให้เชิญตัวมาคุย คุยเสร็จก็ให้กลับบ้าน ยังให้สตางค์ไปเสียอีก แต่ถ้าใช้กฎหมายธรรมดา ผู้หญิงคนนี้กับลูกต้องถูกจับแล้ว ไม่สามารถกลับบ้านไปดูแลลูกได้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วยตรงนี้ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย คนที่ไม่เข้าใจเท่านั้นถึงมาพูด คนที่อยู่ในห้องอย่างนักวิชาการ ไม่เคยมาสัมผัสพื้นที่ ก็ได้แต่พูด
หรืออย่างการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ อ.บันนังสตา กับ อ.ยะหา จ.ยะลา (มาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด ปัจจุบันยกเลิกแล้ว) ทุกคนก็ไม่ได้เสียสิทธิอะไร ที่สำคัญพ่อแม่พี่น้องยังรู้สึกดีใจที่ลูกหลานไม่ติดยา ประชาชนเวลาเจ็บป่วยตอนกลางคืนก็ไปโรงพยาบาลได้ปกติ เราอนุญาตหมด แถมยังมีรถบริการให้อีกด้วย
O อีกไม่นานนี้ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา งานพัฒนาก็จะถูกดึงไปอยู่กับ ศอ.บต. และทหารอาจจะต้องลดบทบาทลง ประเด็นนี้มองอย่างไร?
จะเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ขอให้คนทำงานจริงจัง จริงใจก็จะทำได้ อย่าทำแบบไม่จริงจัง ไม่จริงใจ แบบนั้นไม่ดีแน่
O ที่ผ่านมามีการพูดถึงปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายและความขัดแย้งของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ยิ่งรุนแรงขึ้น ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่?
ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาหลักที่เราพยายามแก้ไขมาตลอด และเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดความไม่สงบ ทำให้หลายๆ อย่างแก้ไขได้ยากขึ้น แต่ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนก็ฉลาดมากขึ้น ต่อไปก็จะไม่เลือกคนไม่ดีไปเป็นผู้แทนระดับต่างๆ เนื่องจากเราอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน ทำให้เขาฉลาดและคิดได้ว่าควรเลือกใครและไม่เลือกใคร ก็จะแก้ปัญหาในระยะต่อไปได้เอง
O อยากฝากอะไรก่อนอำลาตำแหน่ง?
ปัญหาภาคใต้ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้เริ่มดีขึ้น เราพยายามทำให้พี่น้องเข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เกิดความขัดแย้งอะไรก็คุยกันได้ อยากจะฝากว่าทุกวันนี้ปัญหาภาคใต้ดูเหมือนรุนแรง กลุ่มที่ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงก็คือสื่อ ต้องให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน สื่อต้องทำความเข้าใจ อยู่ภาคใต้อย่าด่วนสรุป บางทีทะเลาะกันเรื่องการเมืองท้องถิ่นแล้วไปสรุปเป็นเรื่องความไม่สงบ พี่น้องประชาชนก็จะเสียประโยชน์
นักวิชาการใหญ่ๆ ชอบพูด ชอบด่วนสรุป ทั้งๆ ที่ไม่เคยมาอยู่ บางทีมาอยู่แค่ 2-3 วันก็สรุปแล้วว่าไม่ดี ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น เวลาจัดงานต่างๆ ในพื้นที่ก็มีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมงานมากขึ้นจนดึกจนดื่น
เหมือนนักวิจัย ยังไงก็วิจัยเหมือนเดิม เพราะนักวิจัยเป็นคนเดิม กลุ่มที่ลงไปทำวิจัยก็เป็นเด็กนักศึกษากลุ่มเดิม แต่สามารถสรุปเรื่องอะไรใหญ่โตได้ บางครั้งไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยสัมผัสพื้นที่เลย แต่กลับเขียนสรุปเป็นเรื่องเป็นราว ผิดกับเราที่พูดด้วยความจริง ด้วยเหตุด้วยผล บางคนมาได้วันสองวันสรุปได้แล้ว แต่คนอยู่เป็นปี อยู่ตลอด 365 วันยังสรุปไม่ได้ ก็แปลกดีเหมือนกัน