มองผ่านแว่นนักวิชาการ...เสนอทางสายกลาง “ลดกำลังทหาร-เลิก พ.ร.ก.”
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ข้อเสนอดับไฟใต้ของคณะสมัชชาปฏิรูปซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ที่ให้ทดลองงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหยุดส่งทหารลงพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือนนั้น แม้จะ “โดนใจ” คนสามจังหวัดไม่น้อย แต่รู้สึกว่าผู้รับผิดชอบในภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจะไม่ค่อยยอม "รับลูก" สักเท่าไหร่
สาเหตุประการหนึ่งที่ประเมินกันก็คือ อาจจะเป็นข้อเสนอที่ “สุดโต่ง” มากเกินไป...
ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะนักวิชาการในพื้นที่ จึงมีข้อเสนอแบบ “ทางสายกลาง” ที่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อเปลี่ยนผ่านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่รัฐใช้มาแล้วเกือบ 7 ปี แต่ยังไม่มีวี่แววว่าไฟใต้จะมอดดับ!
O คิดอย่างไรกับข้อเสนอทดลองงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหยุดส่งทหารลงพื้นที่เป็นเวลา 3 เดือน?
เราต้องมาเริ่มกันที่ตัวเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รวมไปถึงยุทธศาสตร์และแนวนโยบายที่รัฐใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งจะมองเห็นภาพอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ดำเนินการโดยกองทัพ กับส่วนที่สองคือยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดำเนินการโดยฝ่ายข้าราชการพลเรือน
ต้องยอมรับว่าผลงานทั้ง 2 ส่วนเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โดยทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ชัดเจนว่าไม่เป็นที่น่าพึงพอใจนัก คือยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ฝ่ายความมั่นคงจะยืนยันว่าสถิติเหตุร้ายเริ่มลดลง แต่ในแง่ของความรู้สึกทั่วๆ ไปของประชาชน ต้องบอกว่ายังไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ เพราะเหตุการณ์ยังไม่สงบ และยังมีปัญหาทับซ้อนอยู่อีกหลายประการ
ด้วยเหตุนี้การที่เราประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ความรุนแรงยังคงอยู่ ยังคุกรุ่นอยู่ เราก็ต้องหันมาทบทวนทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเสียใหม่
O นั่นคือในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่อาจารย์มองว่าควรทบทวน แล้วการส่งทหารลงมาในพื้นที่ อาจารย์คิดอย่างไร?
โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ของคนในสามจังหวัดที่พูดกันมานาน และท้าทายการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ นั่นก็คือเรื่องของกองกำลัง พี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าการทุ่มกำลังลงมาในพื้นที่ บางแง่มุมก็เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจคุ้มครองครู ซึ่งตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะถือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องไปดูแลความปลอดภัยครูในพื้นที่ห่างไกลและเสี่ยงอันตราย ประกอบกับบริเวณที่เป็นพื้นที่สีแดง หน่วยของพลเรือนไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ตรงนี้มองว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังทหารเข้าไป
แต่ในอีกบางมิติเราก็มองว่าไม่มีความจำเป็น อย่างเช่นในเขตเมือง ไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังหรือทหารมายืนเฝ้าตามสถานที่ต่างๆ มากมายขนาดนี้ เราอาจจะใช้โครงการตาสับปะรดในการเฝ้าระวังพื้นที่แทน หรือเปิดรับสมัคร อส. (อาสารักษาดินแดน) เข้ามาดำเนินการ ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่า เพราะคนเหล่านี้รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี และรู้จักคนจำนวนมาก มองเห็นความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด
O สรุปได้ไหมว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูป...
ส่วนตัวผมเห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากให้เป็นการทดลอง เพราะเรื่องของบ้านเมือง เรื่องที่มีความเสี่ยง และเรื่องที่มีอันตรายแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทดลองได้ แต่ควรหาวิธีการที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น บางพื้นที่ที่จำเป็น เราก็ต้องคงกำลังทหารเอาไว้ ส่วนบางพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็น ก็ควรจะถอนออกมา และลองเปิดให้กองกำลังประชาชนเข้าไปดูแลแทนในส่วนที่ไม่อันตราย อย่างเช่นในเขตเมือง หรือพื้นที่ที่สงบอยู่แล้ว และชาวบ้านดูแลตัวเองได้
เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากยกเลิกไปจริงๆ ก็คงจะมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ในส่วนดีก็คงทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้รับการคลี่คลาย เช่น การใช้กฎหมายไปสร้างผลกระทบหรือทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ในแง่ที่ไม่ดี ก็คือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติขาดเครื่องมือที่จะสามารถเข้าไประงับเหตุหรือป้องกันเหตุร้ายได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ฉะนั้นเราต้องมองผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้านด้วย
แต่ถ้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเลยจริงๆ ผมก็คิดว่าน่าจะทำได้ เพียงแต่ต้องสร้างระบบงานยุติธรรมให้เข็มแข็งและน่าเชื่อถือกว่านี้
O แนวคิดของอาจารย์คือให้ทหารถอยออกไปบางส่วน แต่ พ.ร.ก.นั้นสมควรยกเลิก?
ใช่ครับ เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งยังมีความรู้สึกเคลือบแคลงทหาร ประกอบกับทหารที่ถูกส่งลงมาก็มาจากนอกพื้นที่ จึงมีปัญหาเรื่องความเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบประเพณี ศาสนา หรือแม้แต่ภาษา ซึ่งสาเหตุมาจากการส่งทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ลงมา
ที่ผ่านมามีบางฝ่ายเสนอให้ใช้เฉพาะทหารจากกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้น แต่ในมุมมองของผมแล้วคิดว่าไม่ควรใช้ทหารแก้ปัญหาเลย ไม่ว่าจะกองทัพภาคไหนๆ ก็ตาม ถ้าคิดว่าปัญหาตรงนี้เป็นปัญหาของคนในพื้นที่สามจังหวัด คนที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือคนในพื้นที่เอง ฉะนั้นต้องใช้กองทัพประชาชน
ทำไมเราจึงไม่เปิดรับ อส.ให้มากๆ แล้วฝึกเรื่องจิตวิทยาสังคม ฝึกเรื่องการข่าวให้กับพวกเขา และส่งลงไปในพื้นที่ เพราะคนเหล่านี้รู้จักพื้นที่ รู้จักคน รู้ความเคลื่อนไหว และรู้บริบททั้งหมดในสามจังหวัด ที่สำคัญหากมีความสูญเสียเกิดขึ้นมา คนเหล่านี้ก็เป็นพี่น้องของคนในพื้นที่เอง ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่จะอยู่กับฝ่ายรัฐก็มีสูง แต่ถ้าเป็นทหารจากนอกพื้นที่เข้ามา เมื่อเกิดความสูญเสีย แน่นอนว่าพี่น้องในพื้นที่ก็เสียใจ แต่ว่าความเจ็บปวดนั้นอาจจะไม่มาก เพราะไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่น้อง ความรู้สึกมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ผมจึงสนับสนุนให้ใช้กองกำลังประชาชน ให้รับสมัคร อส.เข้ามา ส่วนทหารก็ค่อยๆ เริ่มขยับถอนออกไป เชื่อว่าจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ในที่สุด.
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในฐานะกองกำลังประชาชน ทำงานควบคู่กับทหารในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ขอบคุณ : ภาพจาก จรูญ ทองนวล ศูนย์ภาพเนชั่น