ไฟใต้ในสายตา ผบ.ทบ. หวั่นข้อเรียกร้อง “ถอนทหาร-เจรจา-เขตปกครองพิเศษ” นับหนึ่งแยกดินแดน!
ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
อีกเดือนเศษ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็จะกลายเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลังจากนั่งบนเก้าอี้ตัวนี้ยาวนานถึง 3 ปี และมีบทบาทอย่างสูงต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุมมองส่งท้ายของเขาเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ทำไป และแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เพิ่งไปบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 หรือ (4 ส.2) ของสถาบันพระปกเกล้า และได้ตอบทุกคำถามคาใจเกี่ยวกับไฟใต้ในแบบที่หาฟังหาอ่านไม่ได้ง่ายๆ จากนายทหารพูดน้อยคนนี้
O ยุทธวิธีที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้
ยุทธวิธีในภาคใต้มี 3 อย่าง คือก่อการร้าย ก่อความไม่สงบ และปฏิบัติการกองโจร โดยกระทำต่อประชาชนและข้าราชการของรัฐ
O ยุทธวิธีของฝ่ายเรา (ทหาร รัฐบาล)
แก้ด้วยกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยกฎหมายอาญาปกติ
O เงื่อนไขที่ทำให้เกิดสถานการณ์
แบ่งเป็น 2 มิติ คือ 1.เรื่องจิตใจ ได้แก่ปมประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา 2.เรื่องความคิด ได้แก่ปมความไม่เป็นธรรม การไม่ได้รับการพัฒนาเทียบเท่ามาเลเซีย
O โครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบ
จากที่กองทัพบกทำงานในพื้นที่มาหลายปี ทำให้มีข้อมูลหมดแล้ว กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธศาสตร์บันได 7 ขั้น นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันใช้ไปแล้วทุกขั้น เริ่มมาตั้งแต่ก่อนการยุบเลิก ศอ.บต. (ศุนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกยุบเลิกเมื่อปี พ.ศ.2545 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มีการจัดโครงสร้าง ฝึกความพร้อมของบุคคล พอยุบเลิก ศอ.บต.ก็ปฏิบัติได้ทันที รวมคนออกมาปฏิบัติการได้เป็นจำนวนมาก
O เป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบ
แย่งชิงประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนและสี่อำเภอของสงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ตัวเลขกลมๆ คือ 2 ล้านคน โดยไม่ได้หวังผลการต่อสู้กับอำนาจรัฐแบบขบวนการโจรก่อการร้าย หรือ ขจก.ในอดีต หรือตั้งกองกำลังประชาชนมาต่อสู้กับกองทัพบกไทย แต่เปลี่ยนมาใช้วิธีดึงประชาชนเป็นพวกและให้แข็งขืนต่ออำนาจรัฐ จากนั้นก็ยกสถานการณ์นี้ขึ้นสู่เวทีนานาชาติ ทั้งโอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม) และยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) เพื่อให้เป็นเหมือนติมอร์ตะวันออก และอาเจะห์
O จำนวนผู้ก่อความไม่สงบ
มีประมาณ 7,000 คน แยกเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ 1 พันคน ฝ่ายปฏิบัติการ 2,000 คน ที่เหลือเป็นแนวร่วม ซึ่งฝ่ายทหารมีข้อมูลเครือข่ายหมดแล้ว
O วิธีแก้ปัญหาของฝ่ายรัฐ
มองกลุ่มที่เคลื่อนไหวเป็นอาชญากร ไม่ใช่ก่อการร้าย ถ้าใช้ทหารไปปราบจะเป็นแนวทางที่ “ผิด” เพราะการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของหัวใจกับความคิดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เอาทหารไปบังคับอย่างไรก็เปลี่ยนไม่ได้
O แนวทางที่ฝ่ายรัฐใช้
ทุกรัฐบาลพูดแนวทางเดียวกัน คือใช้ “การเมืองนำการทหาร” และยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แต่ต้องเข้าใจว่า คำว่า “การเมือง” ไม่ได้หมายถึงวิธีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช้ทหาร แต่การเมืองคือการรบโดยไม่หลั่งเลือด ไม่ได้ใช้อาวุธเข้าประหัตประหารเท่านั้น ซึ่งทหารก็ทำงานการเมืองได้
เป้าหมายของการเมืองและการทหารตรงกัน คือประชาชน 2 ล้านคน โดยมีกลุ่มก่อความไม่สงบ 7 พันคนคอยปลุกปั่น ยุยง และปฏิบัติการความรุนแรงทุกรูปแบบ
รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้การพัฒนา ด้วยการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ รชต. เพื่อกำหนดนโยบาย มีโครงการพัฒนาที่ใช้งบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาทระหว่างปี 2552-2555 เงินจึงไหลจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ลงไปในพื้นที่ เพื่อเอาชนะจิตใจพี่น้องประชาชนให้ได้
ตรงนี้คงจะตอบข้อข้องใจเรื่อง “เลี้ยงไข้” ได้ เพราะเงินส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากทหารหรืออยู่ในมือกองทัพ
แนวทางที่ทำมาคือแนวทาง “การเมือง” คือใช้การพัฒนา แต่ผมคิดว่าแนวทางนี้เอาชนะได้เฉพาะความคิด แต่ยังไม่ใช่จิตใจ ปมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ในจิตใจยังไม่ได้แก้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามุ่งงานพัฒนาเพื่อเอาชนะใจ แต่ทำได้แค่ความคิด ผมเห็นว่าต้องแก้เรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนาด้วย
O ข้อเรียกร้องถอนทหาร
กลุ่มก่อความไม่สงบและประชาชนบางส่วนในพื้นที่ถูกกล่อมเกลาทางความคิดด้วยกระบวนการทางสังคม หรือใช้คำว่า socialization โจทย์คือจะแก้อย่างไร
คน 2 ล้านคนเปรียบเสมือนลูกสาว เราเปรียบเสมือนพ่อที่มีลูกสาว ก็ต้องคอยระแวดระวังไม่ให้ไอ้หนุ่มที่ไหนมาจีบหรือมาหลอกลูกสาวเรา ทหารลงไปทำหน้าที่ตรงนี้ คือไป “เฝ้าลูกสาว” ถามว่าถ้าจะให้ถอนทหาร แล้วจะใช้องค์กรอะไรไปดูแลคน 2 ล้านคน ที่สำคัญทหารไปทำหน้าที่เฝ้าลูกสาวเท่านั้นเอง นี่คือสาเหตุที่ทหารต้องลงไปภาคใต้ ผมไม่ได้เอาทหารไปรบ คนที่บอกให้ถอนทหารบอกผมหน่อยว่าจะมีองค์กรไหนทำหน้าที่แทนได้
ทหารเข้าหาประชาชนตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ทหารไม่ได้เป็นอย่างที่บางฝ่ายคิด ไม่อย่างนั้นคงอยู่มาไม่ได้หลายปี เราเข้าใจประชาชน ประชาชนก็เข้าใจทหาร เราไม่ได้ถือปืนเข้าหมู่บ้าน แต่ถือโครงการพัฒนาและโครงการแก้ปัญหาสังคมเข้าไป เช่น ญาลันนันบารู (โครงการทางสายใหม่ แก้ไขปัญหายาเสพติด)
ที่ผ่านมาในพื้นที่มีปัญหาสังคม เพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เรียนศาสนาอย่างเดียว ทำให้ประกอบอาชีพได้ยาก ปัจจุบันมีเยาวชนนอกระบบการศึกษาและไม่ได้ประกอบอาชีพมากถึง 2 แสนคน และเกินครึ่งของจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โครงการญาลันนันบารูเข้าไปแก้ ดึงเด็กเหล่านี้ออกมาจากวงจร แล้วกองทัพก็มีโครงการทำดีมีอาชีพเข้าไปรับช่วงต่อ
O จำนวนกำลังพลที่ใช้ปฏิบัติการในพื้นที่
ภารกิจเฝ้าลูกสาว ป้องกันไม่ให้มีคนเข้าไปกล่อมเกลาความคิด หรือใส่ความคิดญิฮาด เราใช้ทหาร 2 หมื่นนาย ตำรวจ 1.8 หมื่นนาย พลเรือน 2 หมื่นกว่า รวมแล้ว 6 หมื่นกว่าที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป้าหมายคือสามจังหวัดต้องอยู่ในราชอาณาจักรไทยพร้อมกับประชาชน 2 ล้านคน ผมพร้อมเอาทหารออก แต่ต้องมีคนไปเฝ้าแทน ทหารไม่เคยปราบ ไม่เคยฆ่า ไม่เคยใช้ความรุนแรง
O มาตรการที่ดำเนินการกับกลุ่มก่อความไม่สงบ 7 พันคน
1.สร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นแนวร่วม จะดึงเข้าโรงเรียนการเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิด มีการอบรม และใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ควบคู่กันไป (กฎหมายระบุว่าถ้ายอมมอบตัว สารภาพ และเข้าอบรมตามหลักสูตรที่รัฐกำหนด ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา) ซึ่งนำร่องใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
2.ใช้กฎหมาย จับกุมเข้ากระบวนการยุติธรรม 3.ใช้มาตรการทางทหาร ที่ผ่านมามีการใช้บ้าง แต่ใช้อย่างจำกัด
O ทำไมต้องใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)
การก่อเหตุในภาคใต้ถ้าใช้กฎหมายปกติ ชาติหนึ่งก็จับไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้แค้นกันมาก่อนจึงไปกระทำ การสืบสวนจึงยาก ต้องใช้การข่าวบวกกับนิติวิทยาศาสตร์
O ทำไมคดีความมั่นคงถึงยกฟ้องเยอะ
เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว บางรายหลุดคดีก็ต้องยอม คิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรม ถ้าจับแล้วติดคุกทุกคดีสิเป็นเรื่องแปลก
O ถึงเวลาต้องแก้เรื่องจิตใจหรือยัง (ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา)
ตอนนี้ทหารเปรียบเหมือนเข้าไปในบ้านสาวได้แล้ว เหลือแต่หาวิธีพิชิตใจสาว กำลังคิดอยู่ว่าควรพูดเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนาหรือไม่ หรือว่าไม่ควรพูด อยู่เงียบๆ ดีกว่า
O ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ
ถ้าบริสุทธิ์ใจผมคิดว่า “ทำได้” แต่ถ้ามีเบื้องหลัง หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแดนดินแดน หรือตั้งรัฐใหม่ อย่างนี้คงไม่ได้ ถ้ามีตัวตนที่คิดแบบนี้อยู่ข้างหลัง ผมบอกเลยว่า “ไม่ได้”
O ข้อเรียกร้องถอนทหาร เจรจา เขตปกครองพิเศษ
ถ้าแก้ปัญหาได้ก็เห็นด้วย ถ้าประเมินแล้วที่ทหารลงไปสร้างความเสียหาย ผมสั่งถอนทหารคนแรกเลย ส่วนเขตปกครองพิเศษ ถ้าให้ไปแล้ว ต้องถามว่าปัญหาจะจบไหม เจรจาแล้วจบจริงไหม เอาอะไรมาเป็นตัววัดหรือเหตุผลว่าจะจบ สถานการณ์ล่อแหลมแบบนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นเรื่องอันตราย
ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ บอกว่าจะเลือกตั้งผู้ว่าการเขต หรือผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัด ผมอยากถามว่าทำไมไปบล็อคตัวเองแค่ 3 จังหวัด คนที่นั่นไปเป็นผู้ว่าฯเชียงใหม่ก็ได้ เป็นประธานรัฐสภาก็ได้
ส่วนการเจรจา อำนาจรัฐไม่น่าจะยอมให้ทำได้ เพราะเป็นความก้าวหน้าที่จะขยับไปเป็นเขตปกครองพิเศษ ลงประชามติ และแยกตัวเป็นอิสระ ฉะนั้นเรื่องการเจรจาต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเหมือนโมโร (ขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร หรือเอ็มไอแอลเอฟ) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เจรจาแล้วมีการยกระดับขึ้นไป ที่สำคัญคนที่ทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากร ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ยอมรับว่ามีความเจรจาอย่างไม่เป็นทางการอยู่จริง
O สถิติและแนวโน้มของสถานการณ์ล่าสุด
สถิติการก่อเหตุรุนแรงในระยะหลังเริ่มทรงตัว ไม่มีนัยยะต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ขึ้นกับโอกาสในการทำของฝ่ายก่อความไม่สงบ
----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งปาฐกถาพิเศษที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปลายปีที่แล้ว
อ่านประกอบ : 6 ปีไฟใต้...ทหารไม่เคยเลี้ยงไข้ "อนุพงษ์"เปิดใจทำไมยังระเบิดไม่หยุด!