เมื่อ"ตำรวจ"วิพากษ์"ตำรวจ" จุดอ่อนงานสอบสวนและอันตรายจากการติดอาวุธประชาชน
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นประเด็นที่พูดจา ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันมาเนิ่นนาน แต่น้อยครั้งนักที่จะมีเสียงจากคนของหน่วยงานรัฐในท่วงทำนอง “ยอมรับความจริง” และมีข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการทำงานของตนเอง
ที่ อ.เบตง จ.ยะลา อำเภอใต้สุดแดนสยามซึ่งว่ากันว่าเป็นอำเภอที่มีเหตุรุนแรงน้อยที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับ พ.ต.อ.สมบัติ หวังดี ผู้กำกับการ สภ.เบตง ซึ่งแน่นอน...ไม่ใช่แค่ไขข้อข้องใจว่าทำไมเบตงจึงสันติสุขเท่านั้น แต่ พ.ต.อ.สมบัติ ยังเปิดประเด็นวิพากษ์ถึงหลายเรื่องหลายราวที่เคยถกเถียงกันมานับครั้งไม่ถ้วนบนเวทีสัมมนา
โดยเฉพาะการติดอาวุธให้กองกำลังภาคประชาชน และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในดินแดนด้ามขวาน เป็นปรากฏการณ์ "ตำรวจ" วิพากษ์ "ตำรวจ" ที่น่าสนใจตั้งแต่ประโยคแรกถึงประโยคสุดท้าย!
O หลายคนสงสัยว่าทำไมเบตงจึงเป็นอำเภอที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยมาก จนเรียกว่าเป็นอำเภอสันติสุข เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ตรงไหน?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจข้อมูลพื้นที่ฐานของเบตงก่อน เพราะเบตงเป็นชุมชนเมืองที่ไม่ใหญ่นัก มีประชาชนทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธอยู่กันแบบผสมผสานกลมกลืน ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่ดี มีการพบปะกัน มีการพึ่งพากัน อีกทั้งยังมีคนจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็น จคม.เก่า (อดีตสมาชิกหรือแนวร่วมโจรจีนคอมมิวนิสต์) ระบบการรวมตัวเพื่อป้องกันชุมชนของตนเองจึงค่อนข้างเข้มแข็ง
นอกจากนั้นภูมิประเทศของเบตงยังค่อนข้างจะได้เปรียบ มีเส้นทางเข้าออกเพียง 2 ทาง คือจาก อ.ธารโต จ.ยะลา และอีกทางคือฝั่งมาเลเซีย การบล็อคเส้นทางหากคนร้ายเข้ามาก่อเหตุจึงค่อนข้างทำได้ง่าย ถือว่าเป็นความได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
O แสดงว่าเบตงมีปัจจัยที่เอื้อต่อความสงบและสันติสุขทั้งในแง่กายภาพและความสัมพันธ์ของผู้คน?
ใช่ครับ และจุดนี้เองที่ทำให้การนำนโยบายส่งเสริมชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมืองค่อนข้างจะทำได้ง่ายกว่าที่อื่น การทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกๆ เรื่องก็ทำได้ไม่ยาก ประชาชนอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความสามัคคีและเสียสละเพื่อส่วนร่วม เพราะทุกคนรู้ว่าหากเกิดความไม่สงบขึ้น ผลกระทบที่ได้รับจากการที่นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาจะกระทบทุกคนในเบตง ธุรกิจในเบตงจะทรุดหมด
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากประชาชนในชุมชนแล้ว หน่วยงานราชการและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ยังบูรณาการการทำงานกันได้ดี ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ถือเป็นโชคดีที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่นี้ร่วมมือกัน ไม่มีปัญหาเหมือนที่พื้นที่อื่นๆ เคยเจอ เช่น ต่างฝ่ายต่างคิดว่าหน่วยตนใหญ่กว่า สำคัญกว่าหน่วยอื่น จึงมุ่งแต่จะแข่งขันกัน แต่ของเบตงทุกหน่วยเราทำงานร่วมกัน เพราะความสงบสุขของเบตงคือเป้าหมายของทุกภาคส่วน
O บทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง เกื้อหนุนการทำงานของภาครัฐแค่ไหน?
การเข้ามาช่วยเหลืองานจากภาคประชาชนเห็นได้ชัดเจนที่เบตง เช่น การเข้ามาเป็นอาสาสมัครจราจร ทุกคนเข้ามาทำด้วยใจ ไม่ได้หวังผลตอนแทน จุดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เบตงสงบสุข เพราะลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเอง หากเจอสถานการณ์ในช่วงที่มีเทศกาลหรือมีบุคคลสำคัญเข้ามาตรวจเยี่ยมพื้นที่ คงรับมือไม่ไหว อาสาสมัครจากภาคประชาชนช่วยได้มากทีเดียว
ในความเห็นของผมคิดว่ากองกำลังภาคประชาชนที่เข้ามาทำงานด้วยจิตอาสาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนของตนเอง แต่ช่วงหลังๆ ภาครัฐเริ่มให้หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง เช่นมอบอาวุธ มอบมีสิทธิพิเศษต่างๆ ตรงนี้ทำให้ความเป็นจิตอาสาของประชาชนเริ่มลดลง ตรงกันข้ามกลับเป็นปัจจัยที่สร้างปัญหา และสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน
สำหรับกองกำลังประชาชนของเบตงที่เข้ามาช่วยงานตำรวจนั้น เราจะไม่ให้อาวุธปืนหรือสิทธิพิเศษที่แตกต่างจากบุคคลอื่น เพราะเขาไม่ได้มีหน้าที่ไปต่อสู้กับคนร้าย เพียงแค่เป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ก็เพียงพอแล้ว ผมคิดว่าถ้ากำลังภาคประชาชนมีอาวุธปืนแล้วนำไปใช้ในทางที่ผิด ปัญหาจะลุกลามมากกว่าเดิม
ตัวอย่างที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุ อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) ยิงเด็กวัยรุ่นมุสลิมเสียชีวิต ตอนนั้นเริ่มเกิดปัญหาความไม่พอใจของญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต ซึ่งในทางปฏิบัติเพื่อยุติปัญหานี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถูกผิดว่าไปตามกฎหมาย ไม่มีการช่วยเหลือกันเป็นพิเศษ หากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ปล่อยให้มีการช่วยเหลือกัน โดยถือว่าคนที่กระทำผิดเป็นกองกำลังประชาชนที่ช่วยเหลือทางราชการ ก็จะยิ่งสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนในพื้นที่ เรื่องนี้ผมใช้กระบวนการทางกฏหมายเข้ามาตัดสิน ปัญหาเลยยุติ ไม่เกิดปัญหาบานปลายเหมือนพื้นที่อื่น
สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่าเป็นตัวปัญหาในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ คือการเลือกปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่เอง ประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่มากขึ้น อย่างเช่นการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ ถ้าตรวจแต่คนไทยมุสลิม แต่ไม่ตรวจคนไทยพุทธเลย ตรงนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เป็นเรื่องทางความรู้สึก และปัญหาลักษณะนี้ยังคงพบเห็นอยู่ในหลายๆ พื้นที่
ผมคิดว่าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม ประชาชนก็จะรู้สึกมั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้น เชื่อถือเจ้าหน้าที่ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ เรื่องนี้ผมได้กำชับตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาของผมให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะในบรรดาหน่วยงานความมั่นคงที่มีอยู่ ตำรวจถือว่าเป็นหน่วยที่ต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าหน่วยอื่น จึงยิ่งต้องปฏิบัติตัวให้เป็นที่มันใจของประชาชนมากเป็นพิเศษ
O พูดถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่พบมากและมีการร้องเรียนมากในพื้นที่คือการจับกุมผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา แต่พอทำสำนวนฟ้องและคดีขึ้นสู่ศาล สุดท้ายศาลยกฟ้อง ตรงนี้ทำให้ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่น คิดว่าปัญหาเกิดจากอะไรและจะแก้อย่างไร?
การคลี่คลายคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่างานของพนักงานสอบสวนมีความสำคัญมาก แต่เชื่อไหมว่าในพื้นที่แทบจะไม่มีพนักงานสอบสวนที่เชี่ยวชาญคดีความมั่นคงเลย เห็นได้จากในอดีตมีการจับกุมคนร้ายที่กระทำผิดจริงๆ เราก็สามารถทำสำนวนส่งศาลให้ศาลลงโทษตามกฎหมายได้ แต่ปัจจุปันพนักงานสอบสวนแทบไม่มีความรู้เลย แม้ว่าจะจับคนร้ายที่มีพยานหลักฐานมัดว่ากระทำผิดจริงมาได้ แต่สำนวนคดีกลับอ่อน ทำให้คนร้ายสามารถต่อสู้คดีจนพ้นผิดได้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ที่ผ่านมาเคยมีหลายคนเสนอว่า น่าจะมีหน่วยที่รับผิดชอบงานสอบสวนโดยตรงไปเลย เป็นศูนย์รวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีความมั่นคงทั้งหมดในพื้นที่ เพื่อให้พนักงานสอบสวนได้มีข้อมูลวามต่อเนื่องของคดีต่างๆ เพราะคนร้ายที่ก่อเหตุในคดีความมั่นคงไม่ได้ก่อเหตุครั้งเดียวหรือในพื้นที่เดียว แต่มีการก่อเหตุหลายครั้งในหลายพื้นที่ แต่ความต่อเนื่องของพยานหลักฐานตรงนี้เราไม่มีเลย
นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนของแต่ละโรงพักต้องแยกพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคงไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อจะได้ทำคดีอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ทำงานปะปนกันไปหมด ทั้งคดีทั่วไปและคดีความมั่นคง หากมีพนักงานสอบสวนด้านคดีความมั่นคงในแต่ละโรงพัก การทำงานจะชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น
ผมอยากให้ลองย้อนไปดูการทำงานของทนายที่ค่อยแก้ต่างให้กับกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคง ทนายเขาทำงานด้านนี้มาเฉพาะ มีความต่อเนื่องในการว่าความสู้คดี รู้จุดบกพร่องในสำนวนคดีที่ตำรวจยื่นฟ้องผู้ต้องหา จึงทำให้หลายๆ คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเอาผิดผู้ต้องหาได้
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ตำรวจจะต้องเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา ถ้าตำรวจสามารถนำตัวคนร้ายที่ก่อเหตุจริงมาลงโทษได้จริง พิสูจน์ให้เห็นว่าคนที่กระทำผิดต้องได้รับโทษ ประชาชนก็จะเชื่อมั่นตำรวจและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ขณะที่คนร้ายหรือคนที่คิดจะก่อเหตุก็จะเกรงกลัว เพราะรู้ว่าถ้ากระทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 พ.ต.อ.สมบัติ หวังดี