ชิดชนก ราฮิมมูลา...ตัวแทนจากชายแดนใต้ร่วมขบวนปฏิรูปประเทศ
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เดินหน้ากันมาระยะหนึ่งแล้วสำหรับกระบวนการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะ “ความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งในสังคมไทย โดยรัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด หนึ่งคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กับสองคือ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า มีตัวแทนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่นี้ด้วย นั่นคือ ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ.ชิดชนก เคยให้สัมภาษณ์กับ “ทีมข่าวอิศรา” เอาไว้เมื่อวันที่ประกาศรายชื่อว่าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปชุดของ ศ.นพ.ประเวศ ว่า สาเหตุที่ได้รับเลือกให้ไปร่วมงาน น่าจะเป็นเพราะเธอเคยเป็นหัวเรือใหญ่ในคณะทำงานขับเคลื่อนสันติวิธีในภาครัฐ ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2548
วันนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสพูดคุยแบบยาวๆ กับ ผศ.ชิดชนก อีกครั้ง ถึงแนวคิด แนวทางที่เธอจะทำเพื่อปฏิรูปประเทศทั้งในบริบท “ดับไฟใต้” และ “ดับไฟการเมือง”
O รู้สึกอย่างไรที่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งเดียวจากชายแดนใต้ในหัวขบวนปฏิรูป?
คิดอย่างเดียวว่าเป็นงานที่หนัก และระยะทางอีก 3 ปี (กรอบเวลาของคณะกรรมการฯ) ก็ยาวไกล เพราะเรื่องการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ถือเอาวิกฤตินี้เป็นโอกาส ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง แม้ว่าเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายจะบอกว่าไกลเกินจริง รัฐบาลจะรับแนวทางที่เสนอไปปฏิบัติหรือไม่ หรือกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร แต่จากการประชุมครั้งแรก กรรมการทุกคนก็เห็นตรงกันว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เริ่มต้น
ดิฉันคิดว่าเราควรมองในแง่บวกไว้ก่อนว่าเมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้เราก็ไม่ควรปล่อยให้เสียโอกาสไป หากเราคิดว่าบางอย่างไม่ดีก็ควรเปลี่ยนแปลง
O ในระยะเริ่มต้น ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯให้ดูเรื่องอะไรบ้าง?
ตอนนี้ยังไม่ได้แบ่งงานกันชัดเจนว่าใครทำอะไร แต่จะเห็นได้ว่าผู้ที่มาเป็นคณะกรรมการฯจะทำงานภาคสนาม จะออกแนวเอ็นจีโอเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยคุ้นชื่อมากนัก เมื่อเทียบกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดของท่านนายอานันท์ ปันยารชุน
O การทำงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศของท่านอานันท์หรือไม่?
ไม่ซ้ำซ้อน เพราะคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปไม่ได้อยู่ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แต่จะทำงานคู่ขนานกันไปดังที่ได้รับสมญานามว่าคณะปฏิรูป “อิน-จัน” (เปรียบเทียบเป็นฝาแฝดสยาม “อิน-จัน”)
O ถ้าเช่นนั้นหน้าที่หลักของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปคืออะไร และมีแผนงานอะไรบ้าง?
เราต้องหาให้ได้ว่าสังคมที่มีความเป็นธรรมในความฝันของเราและคนไทยควรเป็นอย่างไร และเราจะนำเสนอมาตรการอะไรบ้างที่จะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะประชาชนในแต่ละภูมิภาคก็มีความรู้สึกต่อความเป็นธรรมไม่เหมือนกัน มีความเหลื่อมล้ำในมิติที่แตกต่างกัน
กรอบการทำงานของคณะกรรมสมัชชาปฏิรูปก็คือ ต้องหาคำตอบในประเด็นดังกล่าวให้ได้ก่อน เมื่อได้คำตอบแล้วก็จะนำเสนอข้อมูลทั้งหมดให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศของท่านอานันท์ และจะนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาชาติอีกครั้ง
ที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง ก็ได้วางกรอบการทำงานไว้ว่าเราจะทำอะไรบ้างในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งมีภาคส่วนหรือภาคีใดบ้างที่สามารถสร้างความร่วมมือได้ ซึ่งจากที่ได้รวบรวมมาจนถึงขณะนี้มีด้วยกัน 7 ภาคีจากภาคประชาสังคม รัฐ มหาวิทยาลัย เยาวชน เป็นต้น
การทำงานในลำดับต่อไปจะเป็นการลงรายละเอียดในแต่ละภาคีที่เข้าร่วมการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งกำหนดกรอบการทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น คนในสังคมคิดอย่างไรต่อความเป็นธรรม มาตรการอะไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จากนั้นก็จะหารือในระดับเครือข่ายว่างานไหนที่ทำได้หรือไม่ได้ และมีวิธีการทำงานอย่างไร ดิฉันเชื่อว่าคณะทำงานแต่ละส่วนมีสิ่งที่อยากทำอยู่ในใจอยู่แล้ว เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นคนทำงานในพื้นที่ทั้งสิ้น
O ส่วนตัวอาจารย์อยากผลักดันเรื่องใดเป็นพิเศษ?
สิ่งที่ได้นำเสนอในที่ประชุมและคณะกรรมการฯก็เห็นด้วย คือเรื่องของกลไกรัฐ เหตุที่นำเสนอเรื่องนี้เพราะเห็นว่า ถึงจะทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์ดีอย่างไร แต่ถ้ากลไกของรัฐนำไปปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นต้องปฏิรูปกลไกรัฐด้วย ถ้าภาครัฐไม่ให้ความร่วมมือ ความคืบหน้าในการทำงานก็จะไม่ปรากฏ เหมือนกับรายงานของ กอส.เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า รายงานทำมาอย่างยาวนาน และใช้เวลาพอสมควร ข้อเสนอต่างๆ ก็ได้รับการยอมรับ แต่กลับไม่ได้ถูกขับเคลื่อนอะไรเลย
เช่นเดียวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาของประเทศในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา แต่ละนโยบายเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าขับเคลื่อนไม่ได้และปฏิบัติไม่ได้ตามนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายเสริมสร้างสันติสุขเป็นนโยบายที่ดีมาก และอีกหลายๆ นโยบายที่แก้ปัญหาได้ แต่เมื่อนำมาแปรสู่การปฏิบัติแล้วกลับทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องเงื่อนไขกลไกรัฐเกิดขึ้น ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จตามนโยบาย
ฉะนั้นปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปสู่ภาคปฏิบัติ ควรให้ข้าราชการระดับล่างสุดได้พูดบ้าง โดยที่ไม่มีระดับหัวหน้านั่งอยู่ เพราะข้าราชการระดับล่างนั้นเป็นคนทำงานอยู่ในพื้นที่ จะทราบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นเพราะอะไร ปัญหาอยู่ที่ระดับบัญชาการ อยู่ที่งบประมาณ หรือกลไกไหน สิ่งนี้คือปัญหาที่เราต้องการให้เขาได้พูดบ้าง เพราะทุกครั้งที่รายงานผลการปฏิบัติงาน ต้นสังกัดจะบอกว่าทุกอย่างดีแล้ว เดินมาถูกทางแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าคงไม่มีใครรายงานปัญหาขึ้นไปอยู่แล้ว
เหมือนปัญหาภาคใต้ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็รายงานผู้บังคับบัญชาว่าทุกอย่างดีขึ้น แต่เราก็เห็นแล้วว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา หมดงบไปเป็นแสนๆ ล้านแล้วดีขึ้นตามที่รายงานหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หน่วยงานรัฐเปิดใจกว้าง ให้คนระดับล่างสุดได้มีโอกาสร่วมปฏิรูปประเทศบ้าง
อีกกลุ่มหนึ่งคือประชาชนที่อยู่ล่างสุดโดยไม่ผ่านแกนนำ เพราะจากการสังเกตมาช่วงเวลาหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือกิจกรรมก็ดีจะต้องผ่านแกนนำ โดยคิดจากสมมติฐานว่าชาวบ้านไม่กล้าทำอะไร แกนนำเป็นผู้นำ รัฐก็ดึงแกนนำมา แต่แกนนำไปขยายต่อหรือไม่นั้นไม่ทราบ บางทีเปลี่ยนแปลงเป็นเจตนาอื่นหรือไหม เราจึงต้องหาวิธีเข้าถึงประชาชนให้ได้อย่างแท้จริง
ส่วนตัวตั้งใจจะขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหา ทั้งเรื่องโครงสร้างและกฎหมายบางฉบับ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสร่วมงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำคดีสุไลมาน (นายสุไลมาน แนซา ที่เสียชีวิตในศูนย์ซักถามภายในค่ายทหาร เมื่อ 30 พ.ค.2553) เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการซักถาม ก็มีหลายประเด็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง
O คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปแบ่งพื้นที่การทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้?
คงไม่ได้แบ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ ทุกคนทำงานร่วมกันทั้งหมด เพราะในพื้นที่หนึ่งมีหลายปัญหา ยกตัวอย่างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจได้รับงบประมาณในการพัฒนาเป็นจำนวนมาก แต่เหตุใดประชาชนจึงยังยากจนอยู่เหมือนเดิม งบประมาณกักอยู่ตรงไหน ทำไมไปไม่ถึง ทำไมไม่ตรงไปที่รายได้ของครัวเรือน เรื่องแบบนี้คงต้องย้อนกลับไปดูเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา
ฉะนั้นจะให้คนๆ หนึ่งจะรับผิดชอบพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไปเลยคงไม่ได้ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าใครจะรับผิดชอบเรื่องใดบ้าง เพียงแต่ในทัศนะของดิฉันเห็นว่าควรทำงานร่วมกันมากกว่า
ส่วนปัญหาภาคใต้ก็ควรนำมาเป็นหนึ่งในประเด็นปฏิรูปประเทศด้วย โดยควรใช้โอกาสนี้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำต้องเร่งฟื้นฟูให้เร็วที่สุด
ดิฉันเป็นทั้งอนุกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ จึงมีแผนที่จะนำเสนอรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปยังคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศอยู่ในใจแล้ว อาทิ เรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน การระงับการใช้กฎหมายพิเศษเป็นการชั่วคราว การย้ายศูนย์ซักถามซึ่งทางการปฏิบัติขัดกับบรรยากาศเสริมสร้างสันติสุข รวมถึงเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ที่มีการต่ออายุมาถึง 20 ครั้ง แต่ทุกอย่างก็ยังไม่ดีขึ้น ลองหยุดใช้ชั่วคราวสัก 3 เดือนโดยปล่อยให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นตากันเองดีไหม ดิฉันว่าทำได้
ตอนนี้อะไรที่เป็นปัญหา แม้จะเป็นคดีของคนๆ เดียวก็ต้องทำ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสังคมไทยวันนี้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมได้ด้วยกลไกรัฐที่มีอยู่ เราต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า อย่างน้อยการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้นแก้ไขได้ในวันนี้ โดยไม่ต้องรอ 3 ปีข้างหน้า เช่น กรณีของปัทมา เหมนิมะ (ชาวบ้านสะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่สามีถูกจับข้อหาวางระเบิด) ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการติดตามรับเรื่องร้องทุกข์จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ก็ต่อสู้กันพอสมควร สุดท้ายคดียกฟ้อง จบสิ้นกันไป เรื่องแบบนี้อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า ถ้าหน่วยงานในระดับนโยบายสามารถทำอะไรแบบเร่งด่วนได้โดยที่ระบบปกติทำไม่ได้ ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหารวดเร็วขึ้น
ดิฉันอยากให้งานลักษณะนี้ออกมา เพราะไม่ต้องไปหาข้อมูลอะไร เนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่แล้ว สิ่งใดที่เป็นปัญหา เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่ามีความอยุติธรรม ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ส่วนเรื่องที่ต้องหาความเห็นร่วมกันทั้งประเทศก็ค่อยว่ากัน ค่อยๆ ทำกันไปในระยะยาว อยากให้สังคมในอนาคตเป็นอย่างไร จะมีมาตรการแก้ไขความเหลื่อมล้ำอย่างไรได้บ้าง เราก็หวังว่าช่องทางนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น
O มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีคณะทำงานของสมัชชาปฏิรูปประเทศในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย?
จำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีแน่นอน เพราะเราต้องทำงานเป็นเครือข่าย แต่คงจะไม่เลือกการใช้ระดมความเห็นแบบจัดเวที เพราะใช้กันหลายปี ชาวบ้านเอือมระอาหมดแล้ว แต่คงจะมีวิธีอื่นที่เราได้สัมผัสกับประชาชนจริงๆ โดยไม่ผ่านแกนนำ แต่หากมีบางประเด็นที่ต้องผ่านแกนนำก็ต้องทำ
O หลายคนกังวลว่าบทสรุปของคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดจะเป็นเพียงเอกสารหรือหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น อาจารย์คิดอย่างไร?
บทสรุปของคณะกรรมการฯจะไม่เป็นเพียงแค่ตัวหนังสืออย่างแน่นอน เพราะแต่ละคนที่มาเป็นกรรมการเป็นกลุ่มนักวิชาการรากหญ้าที่เน้นปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนรายงานที่จะทำนั้น ก็จะพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่าคืออะไร ความไม่เป็นธรรมคืออะไร และมาตรการคืออะไร ที่สำคัญคือการแปรไปสู่ภาคปฏิบัติที่ต้องทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา