วิเคราะห์โพลล์คนสามจังหวัด...รัฐเข้าถึงพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ใจชาวบ้าน
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
พาดหัวรายงานที่ว่า “โพลล์ระบุคนสามจังหวัดชอบช่อง 7 ดูละครหลังข่าว อ่านหนังสือพิมพ์หัวสี...” ที่เคยนำเสนอในหน้าเว็บนี้เมื่อกลางเดือนที่แล้ว สร้างกระแสฮือฮาไม่น้อย และสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีอะไรคล้ายๆ กับคนไทยในภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศเช่นกัน แม้จะนับถือศาสนาและพูดภาษาแตกต่างกันก็ตาม
แต่แม้จะสนใจความเคลื่อนไหวรอบๆ ตัว ทว่าผู้คนในดินแดนแห่งนี้ก็ยังคงเลือกที่จะรักษา "อัตลักษณ์" ของตนเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ปล่อยตัวเองไปตามกระแสของโลกาภิวัฒน์
รายงานดังกล่าวมาจากการทำวิจัยเชิงสำรวจโดยทีมงานของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในฐานะผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ของ ม.อ.ปัตตานี
เมื่อครั้งที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำรายงานชิ้นนี้มาเผยแพร่ เป็นช่วงที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ หอบเอางานวิจัยไปบรรยายในหัวข้อ “การวิเคราะห์สังคมการเมืองและอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ แต่ครั้งนั้นยังไม่ได้เสนอในมิติของการวิเคราะห์สภาพความเป็นไปและทัศนคติของคนในพื้นที่ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจมากมายหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ
วันนี้ “ทีมข่าวอิศรา” จึงนัดพบกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ อีกครั้ง เพื่อให้อธิบายถึงงานวิจัยในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะการที่ภาครัฐ “เข้าถึง” พื้นที่ แต่ยัง “ไม่ได้ใจ” ชาวบ้าน ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ในเชิง “หลักการและยุทธศาสตร์” ที่ต้องเร่งปรับแก้โดยด่วน
O ขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่อาจารย์สำรวจมีประมาณเท่าไหร่ และสำรวจประเด็นอะไรบ้าง?
กลุ่มตัวอย่างที่เราเก็บมีประมาณ 2,500 คน ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในแง่ของเหตุการณ์ความไม่สงบ ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกๆ ส่วนของราชการ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานหรือโครงการภาครัฐทั้งหลาย เช่น หน่วยพัฒนาด้านการเกษตร ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข เป็นต้น
เป้าหมายคือเราต้องการประเมินว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโครงการของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลอย่างไรต่อประชาชน และเข้าถึงประชาชนได้จริงหรือเปล่า ผมมองทั้ง 2 ด้าน คือด้านหนึ่งเป็นตัวกิจกรรมที่ลงไปสู่ประชาชนท่ามกลางกระแสที่เกิดขึ้นว่ามีงบประมาณลงไปเยอะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบปีที่ผ่านมา เราก็ต้องการดูผลกระทบในด้านนี้ว่ามันไปถึงจริงหรือเปล่า ทัศนคติ ความคิดเห็นของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร เชื่อมั่นไว้วางใจไหม
อีกด้านหนึ่งของงานวิจัยยังยังมีเรื่องพื้นฐานการรับรู้ข่าวสารด้านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราจะได้ทัศนะทางสังคมวิทยาของประชากรในพื้นที่ ตั้งแต่การใช้ภาษาพูด เขียน และประเด็นทัศนคติต่อความยุติธรรม ต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งงานวิจัยจะครอบคลุมทุกๆ ด้าน
O ประเด็นที่ค้นพบเกี่ยวกับทัศนคติของคนในพื้นที่ต่อสถานการณ์ และต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร?
มันเห็นภาพ 2 ด้าน คือด้านหนึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมวิทยาและประชากรเป็นภาพชัดขึ้น การเห็นภาพชัดขึ้นก็ในแง่ของภาษา วัฒนธรรม เรื่องการใช้ภาษา เรามักจะมองคนในพื้นที่ชายแดนใต้ว่าไม่ใช้ภาษาไทย ซึ่งเราพบว่าจริงๆ แล้วมีลักษณะการใช้คู่ขนานกันระหว่างภาษาไทยกับภาษามลายู การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันประมาณ 60% ใช้ภาษามลายู ส่วนภาษาไทยใช้ประมาณ 20% นอกนั้นใช้ 2 ภาษา คือไทยและมลายู เป็นการใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันครึ่งต่อครึ่ง
แต่อีกด้านหนึ่งในแง่ของทักษะการใช้ภาษา โดยเปรียบเทียบการใช้ภาษาไทยและมลายู เป็นทักษะการพูด อ่าน เขียน เราก็พบว่าคนส่วนใหญ่ประมาณ 80% มีทักษะการใช้ภาษาไทย สามารถอ่าน พูด และเขียนได้ ในขณะที่ภาษามลายู ทักษะในแง่ของการพูดอย่างเดียวประมาณ 50% แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วการที่คนไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้ภาษาไทย แต่มีความรู้ในการใช้ภาษาไทยสูงด้วย เพียงแต่ว่ามีการเลือกที่จะใช้ภาษาในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ไม่ใช่ไม่รู้ แต่มีจุดเน้นเรื่องของอัตลักษณ์ในพื้นที่
สภาพดังกล่าวนี้ซึ่งเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน ผมคิดว่าเป็นผลมาจากพัฒนาการของระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันทำให้เกิดการพัฒนาการใช้ภาษาพูด อ่าน เขียนเยอะ ทำให้สอดคล้องกับข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เราพบว่าการรับสื่อ อันดับหนึ่งของคนในพื้นที่คือโทรทัศน์ อันดับ 2 คือวิทยุ และอันดับ 3 คือหนังสือพิมพ์ สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลของสื่อและอิทธิพลของภาษา วัฒนธรรมในแง่ของการรับรู้ข่าวสารมีค่อนข้างสูง
O ผลสำรวจที่ออกมาพบประชาชนในพื้นที่สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้ แต่กลับเลือกที่จะไม่ใช้ เป็นเพราะอะไร?
เป็นประเด็นปัญหาเชิงอัตลักษณ์ ความรู้สึกผูกพันที่มีความเชื่อมั่นต่อท้องถิ่น อัตลักษณ์ของความเป็นมลายูปัตตานี หรืออิสลามที่ผูกไว้ด้วยกัน อันนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ถึงแม้ว่าการรับรู้ การเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยมากขึ้น แต่ว่าเมื่อถึงเวลาเลือกที่จะใช้ ก็ยังเลือกภาษาที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของเขามากกว่า
ฉะนั้นภาษาในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นมลายู แต่พอเราทดสอบในแง่ของทักษะ ปรากฏว่า เขารู้ ไม่ใช่ไม่รู้ มันก็สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า รัฐควรจะให้ความสนใจในเรื่องนโยบาย 2 ภาษา และไม่ต้องกลัวว่าคนแถวนี้จะไม่รู้ภาษาไทย และมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ไม่ใช่ปิดตัวอยู่ในโลกแคบอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน สภาพที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย
O ลักษณะความคิด ความเข้าใจ และความเชื่อของคนในพื้นที่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ เคลื่อนไปในทิศทางไหน เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนๆ?
ผมว่าตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การรับรู้ต่อบทบาทของรัฐในการที่จะลงไปทำงานในพื้นที่และแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายความมั่นคง เพราะเราจะเห็นได้ว่าประชาชนมีประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมโครงการของรัฐมากขึ้น ผมคิดว่าคนส่วนมากทั้งระดับท้องถิ่น ชุมชน จะมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐสูงขึ้น รวมถึงบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) อย่างน้อยก็แสดงว่ารัฐยังทำงานได้ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
นอกจากนั้น โครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เป็นกิจกรรมที่ประชาชนเห็นและมีส่วนร่วม แต่ที่น่าสนใจที่เราเห็นได้ชัดในงานวิจัยคือ โครงการของทหาร งานเศรษฐกิจพอเพียง โครงการชุมชนศรัทธา และโครงการญาลันนันบารู โครงการเหล่านี้ลงไปในพื้นที่และติดอันดับในงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย หมายถึงว่าชาวบ้านรับรู้และเข้าร่วมในกิจกรรม ถึงแม้จะไม่สูงเท่าทางการแพทย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนัก แต่ประชาชนก็มีการเรียนรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการของทหาร สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทและกิจกรรมของทหารในแง่ของงานมวลชนลงไปถึงพื้นที่และกระจายครอบคลุมพอสมควร
O รัฐบาลบอกว่าการแก้ปัญหาเดินมาถูกทางแล้ว แต่ผลสำรวจก็ยังพบชาวบ้านไม่เชื่อมั่นทหาร ตรงนี้สะท้อนอะไร?
มันก็กลับกัน สะท้อน 2 ด้านก็คือ กิจกรรมของทหารหรือโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาของทหารที่ลงไปในพื้นที่ ประชาชนได้สัมผัส ได้มีส่วนร่วมจริง ถ้าเราประเมินโครงการของรัฐ ในแง่ของความสำเร็จ ผลผลิตของมันถือว่าไปถึง แต่ในแง่ผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อองค์กรของรัฐที่เราถามชั่งใจไปหลายๆ ข้อ ปรากฏว่าเมื่อเรียงลำดับคะแนนของเจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือน ผู้นำท้องถิ่นแล้ว กลับพบว่าชาวบ้านให้ความไว้วางใจมากที่สุดกับผู้นำศาสนา ทำสำรวจกี่ครั้งก็ผู้นำศาสนา อันดับสองรองจากผู้นำศาสนาที่น่าสนใจมากเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทสาธารณสุข คือ หมอ พยาบาล ตามด้วยครูและองค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนที่ไม่ไว้วางใจ ถืออยู่ในขั้นต่ำสุดคือเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
ผลสำรวจที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า ความจริงแล้วถึงแม้งานพัฒนาของทหารจะลงไปถึงประชาชน และประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมกับโครงการ แต่ยังไม่สามารถเอาชนะจิตใจของประชาชนได้ ความรู้สึกเชื่อมั่น ไว้วางใจที่มีจึงยังต่ำอยู่
O ฝ่ายรัฐควรปรับท่าทีตรงนี้อย่างไร?
ประการแรก ผมว่านโยบายฝ่ายความมั่นคงและบทบาทของทหารต้องอ่อนนุ่มลงในการเข้าถึงประชาชน การปฏิบัติตามกฎหมายและความยุติธรรมก็เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญมาก ต้องเปิดเผย โปร่งใส และอาจจะหาที่ปรึกษาอย่างผู้นำศาสนาหรือผู้นำในท้องถิ่นเข้ามาร่วม เพราะได้รับความไว้วางใจมากจากประชาชน
ประการที่สอง การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เกินหน้าที่จากการปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุม ทำให้เกิดปัญหา ในแง่ชาวบ้านเกิดความกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ ถึงแม้งานพัฒนาจะเข้ามาตลอดก็ตาม แต่ก็ยังไม่ไว้วางใจอยู่ดี
ผมมองว่าปัญหาทั้งหมดต้องแก้โดยใช้การเมืองนำการทหาร แต่ที่ผ่านมาแนวคิดการแก้ปัญหาแบบนี้ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ถึงแม้จะมีความพยายามก็ตาม ฉะนั้นเมื่อประมวลเหตุต่างๆ แล้ว จึงคิดว่าควรทำต่อไป แก้ไขจุดอ่อน และระมัดระวังประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหรือการใช้กฎหมายพิเศษให้มากขึ้น เพราะมันเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากถ้าเกิดว่ายังไม่สามารถยกเลิกกฎหมายพิเศษเหล่านี้
O อาจารย์ได้สำรวจลงลึกเกี่ยวกับประเด็นการเมืองบ้างหรือไม่ เช่น ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อกลุ่มคนเสื้อแดง?
เราไม่ได้ทำ เพียงแค่ถามความนิยม ความเชื่อถือ และการยอมรับของประชนที่มีต่อรัฐบาล แต่ก่อนหน้านั้นเคยมี เราเคยทำโพลล์เกี่ยวกับเสื้อแดงมาเหมือนกัน ภาพส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านสะท้อนคือไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวแบบนี้ ชาวบ้านไม่ชอบวิธีการที่กลุ่มเสื้อแดงใช้ความรุนแรง กลุ่มที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงต่ำมาก ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
O ปัจจุบันกระแสเรื่องนครปัตตานี (ข้อเสนอการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ) ในความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร?
ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังมุ่งไปที่การแสวงหาโมเดลหรือรูปแบบที่เหมาะสมในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สอดคล้องกับใจกลางปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และความอยุติธรรม ทุกฝ่ายต้องการจะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมองว่ารูปแบบของการปกครองน่าจะนำมาสู่การปฏิรูปหรือแก้ไขให้มีลักษณะการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น แต่รูปแบบการจัดการควรเป็นอย่างไร คือสิ่งที่กำลังถกเถียงกันอยู่
เท่าที่สำรวจพบว่า การยอมรับของประชาชนที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ พบปัญหาเรื่องผู้นำท้องถิ่นและนักการเมืองท้องถิ่นมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น คอร์รัปชั่น ขัดแย้งอำนาจ อิทธิพล ประชาชนยังติดปัญหานี้อยู่ คือการไม่ยอมรับบทบาทในด้านนี้ และไม่ไว้วางใจ มองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐส่วนกลางมากกว่า แทนที่จะมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวแทนของตัวเอง
ส่วนท่าทีของรัฐยังไม่ตอบรับอะไรกับแนวคิดนี้ ทั้งๆ ที่เราทำข้อเสนอมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราเสนอรูปแบบมาตลอด ทั้งรูปแบบการบริหารจัดการการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะพิเศษในพื้นที่ แต่ท่าทีของรัฐคือยังไม่ไว้วางใจที่จะมอบอำนาจให้กับท้องถิ่นโดยตรง หรือเปลี่ยนรูปแบบการกระจายอำนาจให้มีลักษณะพิเศษ
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
อ่านประกอบ :
- โพลล์ระบุคนสามจังหวัดชอบช่อง 7 ดูละครหลังข่าว อ่าน นสพ.หัวสี เผย "ทหาร" อันดับหนึ่งชาวบ้านไม่เชื่อมั่น