ดร.พรายพล ชี้รัฐเลี่ยงบาลี ไม่เปิดเผยราคากลาง โครงการน้ำ 3 แสนล้าน
ประธานคณะทำงานมาตรการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช. เชื่อรัฐส่อทำผิดกม.ป.ป.ช.ไม่เปิดเผยราคากลาง ยันที่ประกาศยังไม่ใช่ ชี้ตัวเลขที่ระบุ มีใน TOR อยู่แล้ว พร้อมค้านสปน.เซ็นสัญญากับบ.เอกชน ที่ถูกต้องให้กรมที่มีภารกิจโดยตรง
กรณีการดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท การเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ตลอดจนการออกข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR ) การว่าจ้างออกแบบ และก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรฯ ที่มีการกำหนดให้นำเอางานจ้างหลายลักษณะ และอยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการของหน่วยงานราชการหลายแห่งให้มาอยู่ภายความรับผิดชอบของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ 2555 นั้น
ต่อมา คณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2556 ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบแทน โดยที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เป็นหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานจ้างในระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ
ขณะที่ กบอ.เสนอขอแก้ไขนิยามที่ว่า “ส่วนราชการเจ้าของโครงการ” หมายความว่า สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จากเดิมที่ส่วนราชการเจ้าของโครงการ หมายถึง ส่วนราชการที่ครม.มีมติให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ พร้อมกันนี้ได้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรี” หมายถึง รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธาน กบอ. จากเดิมที่หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่กำกับดูแลส่วนราชการเจ้าของโครงการ
สำหรับการแก้ไขประกาศฉบับนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจการบริหารจัดการน้ำทุกโครงการภายใต้วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทให้อยู่ในมือของ สบอช. เพียงหน่วยงานเดียว โดยที่สบอช.เป็นหน่วยงานใหม่นั้น ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานมาตรการป้องกันการทุจริต ป.ป.ช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า หากในอนาคตจะต้องมีการเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชน เพื่อมาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งตามที่มีการกำหนดไว้ ก็คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ การรับผิดชอบ กับการเซ็นสัญญาไม่เหมือนกัน เนื่องจากปกติแล้วการลงนามข้าราชการจะเป็นคนลงนามเอง ไม่ใช่รัฐมนตรี
“งานนี้ต้องแยกให้ 'กรม' ที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเซ็นสัญญากับเอกชนถึงจะถูกต้อง การมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จะไปรู้อะไร ทั้งเรื่องเขื่อน แก้มลิง ฯลฯ”
ส่วนเรื่องการกระทำที่อาจเป็นการขัดกับมาตรการป้องกันการทุจริตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 ได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าดูได้นั้น ดร.พรายพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 มีประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เรื่องการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ดูจริงๆ แล้วไม่ใช่ราคากลาง แต่เป็นจำนวนวงเงินงบประมาณที่กำหนดใน TOR อยู่แล้ว
” ราคากลาง ต้องออกมาเป็นบาทต่อหน่วย ต่องาน แต่นี่เป็นจำนวนเงินต่อโครงการ ผมถือว่ารัฐเลี่ยงบาลี ประกาศออกไปอย่างนั้น" ดร.พรายพล กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า ประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เรื่องการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ มีการประกาศออกมาเพียงหนึ่งวันก่อนถึงวันที่กำหนดให้มี 4 บริษัท ยื่นข้อเสนอ (3 พฤษภาคม 2556) ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับราคากลาง ให้เป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนอแต่อย่างใด และไม่อาจถือได้ว่า ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
อ่านประกอบ
ประกาศ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เปิดเผยราคากลาง โครงการบริหารจัดการน้ำ