นิพนธ์ บุญญามณี...จ่าเพียร ศชต. และสิทธิประโยชน์ของตำรวจชายแดนใต้
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ผ่าน 100 วันการเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ไปแล้ว (ครอบครัวจัดงานไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.) แต่ดูหมือนกระบวนการเสาะหาคนผิดที่ทำให้ “จ่าเพียร” ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ ยังแทบไม่มีความคืบหน้า
ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือการพิจารณาเพิ่ม "สิทธิประโยชน์" ให้กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีการคลอดหลักเกณฑ์ออกมาถึง 14 ข้อ รอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่ก็ยังมีคำถามจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ “ดูดี” จะฝ่าด่านระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย เงินใต้โต๊ะ และข้ออ้างว่าด้วยการโยกย้าย “ข้ามภาค” ที่เป็นข้อยกเว้นได้หรือไม่
หรือว่าจะต้องย้อนกลับไปทบทวนกันถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. แยกออกมาจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ.9) เสมือนหนึ่งเป็น บช.ภาค 10 กันเลยทีเดียว?!?
นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” ในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
O ปัญหาที่เกิดขึ้น มองว่าเป็นเรื่องโครงสร้าง ศชต.เลยใช่หรือไม่?
ผมว่าต้นตอปัญหาอยู่ที่ตรงนั้น วันนี้ต้องมาดูกันว่าการมี ศชต.ได้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ที่ให้มีการจัดตั้งหน่วยนี้ขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากเราไม่พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว วันหนึ่งข้างหน้าผมคิดว่าหน่วยงานนี้จะสร้างปัญหาด้านกำลังพล ก่อให้เกิดปัญหาด้านการปฏิบัติ ตลอดจนขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรม
โดยเฉพาะในมิติของกระบวนการยุติธรรมพื้นฐาน หน้าที่ของตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องดูแลเรื่องการสอบสวนและการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ยากกว่าพื้นที่อื่นๆ เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ถ้าพนักงานสอบสวนมีขีดความสามารถไม่เพียงพอหรือไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่พัฒนาก้าวไปไกลมาก การเอาคนผิดมาลงโทษก็จะเกิดปัญหา
เพราะฉะนั้นเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานจึงเป็นเรื่องจำเป็น และต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาได้ทำกันหรือยัง
ตรงนี้เองมันจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องกำลังพลที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานและมีความเหนื่อยล้าจากการปฏิบัติงาน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้อยู่จำเจมานานมาก เขาต้องมีโอกาสได้ปรับเปลี่ยน และเอาคนใหม่เข้าไปแทนที่พวกเขา เอาคนที่ตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่และไม่มีความอ่อนล้าเข้าไปทดแทน แต่หากเรามาดูโครงสร้างในปัจจุบัน หลักก็คือไม่สามารถโยกย้ายข้ามภาคได้ จุดนี้เคยเกิดปัญหามาแล้วในกรณี พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ถามว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับแก้หลักเกณฑ์นี้เป็นการเฉพาะแล้วหรือยัง
ผมคิดว่าเรื่องนี้ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) หรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานตำรวจต้องหันมาให้ความสำคัญ และต้องลงไปติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด และกำหนดนโยบายออกมาให้ชัดเจน
O ล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้บ้างแล้ว เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองผู้บังคับการ สารวัตร ลงไปจนถึงผู้บังคับหมู่ สามารถขอย้ายออกจากพื้นที่ได้หากทำงานครบตามเวลาที่กำหนด เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี...
ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะยังไม่ชัดเจนว่าการโยกย้ายข้ามภาคยังเป็นข้อยกเว้นต่อไปหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือจะดูแลไม่ให้เกิดการวิ่งเต้น หรือการย้ายลงไปกินตำแหน่งเพื่อรับผลประโยชน์ แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งสูงขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจลงไปทำงานจริงๆ ได้อย่างไร
ผมเสนอว่า รรท.ผบ.ตร.ต้องเดินทางลงไปยังพื้นที่เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะต้องมีคณะทำงานหรือคณะอะไรก็แล้วแต่เพื่อทำหน้าที่ติดตามแก้ไขปัญหา ซึ่งก็เป็นอำนาจของ รรท.ผบ.ตร.ที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว
O สรุปก็คือต้องให้ความสำคัญกับการสับเปลี่ยนกำลังพล และต้องเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่ระเบียบหรือหลักเกณฑ์อยู่ในกระดาษเท่านั้น…
ใช่ครับ โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหว เต็มไปด้วยอันตราย และมีความตึงเครียดสูงเช่นนี้ การมีนโยบายสับเปลี่ยนกำลังพลหรือหมุนเวียนกำลังพลอย่างชัดเจน ทั้งหน่วยงานด้านปราบปรามและสอบสวน จะเป็นหัวใจสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ วันนี้หากเรายังคงอยู่ในสภาพเดิม คือใช้กำลังพลเหมือนเดิม วงจรปัญหาก็จะซ้ำเดิม ไม่มีใครอยากทำงาน อยู่กันแบบซังกะตาย หรืออยู่ไปวันๆ ไม่มีอนาคต ไม่มีจิตใจทุ่มเทให้กับการทำงาน จุดนี้ที่ผมเสนอให้เร่งแก้ไขโดยด่วน
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้สำหรับกำลังพลที่ทำงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเรื่องของขวัญกำลังใจ ต้องมีค่าตอบแทนให้คนทำงาน การให้สองขั้นหรืออายุราชการทวีคูณต้องพิจารณาให้กับกำลังพลกลุ่มนี้ก่อนเป็นอันดับแรก รวมไปถึงการโยกย้ายประจำปี ก็ต้องมีหลักประกันว่าแม้เขาจะเป็นตำรวจที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับ ‘นาย’ หรือ ‘ผู้บังคับบัญชา’ โอกาสหรือสิทธิเมื่อถึงเวลาพิจารณาโยกย้ายจะต้องได้รับการพิจารณาก่อน
เท่าที่ติดตามจากหลักเกณฑ์ใหม่ 14 ข้อที่ออกมา ผมเห็นว่ายังเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด และไม่ผูกมัดในบางประเด็น คือยังเปิดให้ใช้ดุลยพินิจได้ เกรงว่าจะมีปัญหาตามมาอีก และอาจจะเป็นปัญหาที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้อีกเหมือนกรณีจ่าเพียร
O มองว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงยังให้ความสำคัญกับ ศชต.และปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยเกินไป?
ครับ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องหันมาดูแล ศชต.และกำลังพลในพื้นที่ให้ใกล้ชิดมากขึ้น มิฉะนั้นก็ต้องย้อนไปพิจารณาถึงเรื่องการจัดตั้ง ศชต.กันใหม่ ว่ามีความจำเป็นหรือไม่เพียงใด หากยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ก็ต้องย้อนกลับไปตรงจุดนั้น เพราะการตั้งหน่วยงานใหม่ต้องตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ตั้งมาแล้วกลับเป็นปัญหาเสียเอง
เปิดสิทธิประโยชน์ 14 ข้อของตำรวจชายแดนใต้
สิทธิประโยชน์ของข้าราชการตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาการพิจารณาจากคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทั้งสิ้น 14 ข้อได้แก่
1.การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีเป็นกรณีพิเศษ
2.บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ (ตามระเบียบ บ.ท.ช. หรือคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบ ค่าทดแทน และการช่วยเหลือ พ.ศ. 2521) โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผลักดันไปยัง คณะกรรมการ บ.ท.ช.ว่าควรเพิ่มสิทธิการได้รับสิทธิ พ.ส.ร.(เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ) เป็นจำนวนไม่เกิน 6 ครั้ง กรณีปฏิบัติงานในย่านอันตราย และไม่จำกัดครั้งกรณีมีพฤติการณ์ต่อสู้ปะทะหรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
3.สิทธิในการได้รับการนับเวลารับราชการเป็นทวีคูณ (ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ) และคิดคำนวณในสิทธิ์ ก.บ.ข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ด้วย
4.สิทธิในการแต่งตั้งหมุนเวียน ให้กลุ่มสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ (สว.- รองผบก.) และตำแหน่งเทียบเท่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ให้ทุกกองบัญชาการ (บช.) จัดสรรตำแหน่งรองรับตำรวจที่อยู่ครบเวลาและสมัครใจย้ายออก กรณีส่งคนเลื่อนสูงขึ้นให้ทดแทนเพียงร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 ให้ใช้รองรับการเลื่อนสูงขึ้นของ ศชต. และให้ทดลองงาน 6 เดือน หากไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินให้ส่งตัวกลับ และให้ต้นสังกัดพิจารณาผู้เหมาะสมรายใหม่
กลุ่มรองสารวัตร และพนักงานสอบสวน (สบ 1) เมื่อครบกำหนด 3 ปี ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสรรอัตราการบรรจุนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) หรือ ผู้สอบได้เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรให้ ศชต.ปีละ 100 นาย และให้ย้ายออกปีละ 100 นาย แต่ในช่วง 5 ปีแรกยังมีความขาดแคลนกำลังพล จึงให้ย้ายออกปีละ 50 นาย
กลุ่มผู้บังคับหมู่ (ผบ.หมู่) เมื่อครบกำหนด 5 ปี ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสรรอัตราและการบรรจุบุคคลภายนอกให้ ศชต.ปีละ 1,000 นาย แล้วให้ย้ายออกปีละ 1,000 นาย ในช่วง 5 ปีแรกให้ย้ายออกปีละ 500 นาย
การหมุนเวียนพนักงานสอบสวน (สบ 2- สบ 4) เมื่อครบกำหนด 3 ปี ให้สิทธิหมุนเวียนออกได้ตามระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ ผลการปฏิบัติงาน ความดีความชอบ ความประพฤติ และการลงทัณฑ์
5.สิทธิได้รับเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย
6.สิทธิได้รับคะแนนเพิ่มเป็นพิเศษ เมื่อมีกรณีเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อแต่งตั้งเลื่อนชั้นเป็นข้าราชการตำรวจสัญญาบัตร
7.สิทธิพิเศษในการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.เงินสวัสดิการสงเคราะห์ต่างๆ
9.เบี้ยเลี้ยงตามสิทธิที่พึงได้รับ
10.หลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
11.หลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนชั้นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
12.การบรรจุทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานการณ์ก่อความไม่สงบ ให้สิทธิทายาทแก่บุตรหรือคู่สมรสของตำรวจที่ทุพพลภาพจนไม่สามารถได้รับการสงเคราะห์ให้รับราชการต่อไปได้ตามหลักเกณฑ์เดียวกับผู้เสียชีวิต และกรณีตำรวจที่เสียชีวิตและทุพพลภาพยังไม่มีคู่สมรส แต่ต้องอุปการะบิดามารดา ให้สิทธิการบรรจุทายาทแก่พี่หรือน้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวแทนกันได้
13.การรับสมัครและคัดเลือกตำรวจชั้นประทวนที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรเพื่อดำรงตำแหน่งในสังกัด บช.ศชต.
และ 14.กำหนดแนวทางการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ศชต.
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
2 อนุสาวรีย์หน้าโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. โดยอนุสาวรีย์นี้เป็นรูปปั้นตำรวจยืนกอดไหล่กับเด็กชายชาวพุทธและเด็กชาวมุสลิมที่แต่งกายแบบชาวมลายูท้องถิ่น สร้างเมื่อราวปี พ.ศ.2509 ถือเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
อ่านประกอบ :
- บทสัมภาษณ์สุดท้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา...อยากให้ผู้บังคับบัญชารับรู้ว่าพวกเราทำงานกันอย่างไร
- ขอย้ายไม่ได้ย้าย..."พ.ต.อ.สมเพียร" ผู้กำกับบันนังสตาถูกระเบิดเสียชีวิตแล้ว
- บทพิสูจน์กรณี "สมเพียร เอกสมญา" สังคมไทยยัง "เข้าไม่ถึง" ชายแดนใต้