เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ตอบทุกคำถามเรื่อง “ศูนย์โอทอป”
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เปิดมาได้พักใหญ่แล้วสำหรับศูนย์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP: โอทอป) จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้สโลแกน “ศูนย์สินค้า OTOP สร้างรายได้สู่ชุมชนที่ยั่งยืน” ท่ามกลางกระแสที่มีทั้งหนุนทั้งค้านแนวคิดการตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าขนาดยักษ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี
แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม วันนี้ศูนย์สินค้าโอทอปซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบมลายูขนาดยักษ์ ก็ตั้งตระหง่านอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 (ปัตตานี-หาดใหญ่) ที่บ้านทุ่งนเรนทร์ ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เรียบร้อยแล้ว
“ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ถึงเส้นทางที่ผ่านมาและอนาคตของศูนย์โอทอปขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
O แนวคิดการจัดตั้งศูนย์โอทอป เป็นมาอย่างไร?
แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่สินค้าโอทอป (สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) กำลังรุ่งเรือง และรัฐบาลในขณะนั้นให้การสนับสนุน ผมเองเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของโอทอปในพื้นที่ ในเรื่องที่ควรจะต่อยอดและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ ให้ได้มีโอกาสนำสินค้าของตัวเองมาจำหน่าย ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แนวคิดนี้จึงผุดขึ้น และมีโครงการที่อยากจะก่อสร้างอาคารเป็นศูนย์โอทอป
หลังจากนั้นผมก็ได้ประชุมขอความเห็นจากหลายฝ่าย แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่าถ้าเอาสินค้าเฉพาะปัตตานีอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ ก็เลยปรับแนวคิดใหม่ว่าน่าจะทำศูนย์โอทอปชายแดนใต้ รวมสามจังหวัด เพื่อส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว พร้อมรองรับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อให้มี ‘พื้นที่ขาย’ เชื่อมโยงไปทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยใช้พื้นที่ของ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ศูนย์กลาง
เมื่อได้ข้อสรุปแบบนี้แล้ว ก็เริ่มหาทำเลที่จะก่อสร้าง โดยจุดที่เป็นศูนย์โอทอปทุกวันนี้มีความเหมาะสมอย่างมาก เพราะเป็นปากทางเข้าเมืองปัตตานี และเป็นทางผ่านไปยะลากับนราธิวาสได้ด้วย
ที่ดินผืนนี้เป็นของราชพัสดุ เราก็เลยทำเรื่องขอใช้ประโยชน์ ก็ได้รับมาจำนวน 26 ไร่ จากนั้นจึงมีการออกแบบและหางบประมาณก่อสร้าง โดยช่วงแรกงบประมาณยังขาดอยู่ จึงของบสนับสนุนจากทางจังหวัด ประจวบกับตอนนั้นทางจังหวัดมีงบยุทธศาสตร์ และให้ความสนใจโครงการนี้ด้วย ก็เลยกลายเป็นความร่วมมือของ อบจ.ปัตตานี กับจังหวัดปัตตานี จริงๆ เราเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2546 ตอนนั้นสถานการณ์ยังไม่เกิดขึ้น และสินค้าโอทอปกำลังบูมมาก
O งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณเท่าไหร่?
งบประมาณที่ขอไปครั้งแรกคือ 70 กว่าล้านบาท แต่งบที่ได้มาจริง เป็นงบของจังหวัดซึ่งมีจำกัด ได้มา 33 ล้านบาท โดย 33 ล้านบาทนี้เป็นตัวศูนย์อย่างเดียวที่สร้างเสร็จ ส่วนพวกครุภัณฑ์และส่วนประกอบต่างๆ ถูกตัดออกไปบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ
ต่อมาเราก็เตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อย แค่เอาสินค้ามาจำหน่ายเท่านั้นเอง แต่มีแค่นั้นยังไม่พอ มันไม่สามารถโน้มน้าวหรือสร้างสิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ที่เคยสร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบนี้มาแล้ว ผมจึงตั้งใจอยากจะเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ศาลาละหมาดที่สะอาดเหมือนมาเลเซีย สถานีบริการน้ำมัน โซนอาหารฮาลาล โซนอาหารสามวัฒนธรรม อาหารปลอดสารพิษ สินค้าธงฟ้าราคาถูก และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพราะถ้าไม่มีในส่วนนี้ ศูนย์จะไม่เกิดและไม่เด่นพอ
แต่โครงการที่ว่าก็ต้องลงทุนเยอะเหมือนกัน เยอะกว่าตัวอาคารด้วยซ้ำ คือเกือบๆ 200 ล้านบาท ก็จำเป็นจะต้องใช้เงินกู้ เพราะเงินของ อบจ.มีไม่เพียงพอ ขณะนี้ได้ประสานกู้ผ่านไปยังกองทุนสะสมทรัพย์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (กสอ.) แล้ว
O แสดงว่ากว่าจะเป็นศูนย์โอทอปในวันนี้ได้ พบอุปสรรคปัญหามากพอสมควร...
ครับ พอเริ่มก่อสร้างก็เกิดปัญหาความไม่สงบพอดี ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีการขอขยายเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีช่วยเหลือผู้ประกอบการในสามจังหวัด สุดท้ายเราได้รับมอบศูนย์โอทอปจากจังหวัด มาประมาณหนึ่งปีเศษๆ ที่ผ่านมา
นอกจากปัญหาความไม่สงบแล้ว ยังมีเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าโอทอปด้วยเช่นกัน เรากำลังบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่ ที่สำคัญคือสินค้าโอทอปถึงจุดอิ่มตัวแล้ว กำลังดิ่งลง พอดิ่งลง สินค้าที่รับมาทำให้เราต้องมาคิดและจัดการหาวิธีการที่จะทำให้ตัวสินค้าและศูนย์โอทอปสามารถเดินไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กันได้
O สินค้าที่วางจำหน่ายในศูนย์โอทอปมีอะไรที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือน่าสนใจเป็นพิเศษบ้าง เรียกว่าเป็นทีเด็ดของศูนย์โอทอป?
หลักๆ ก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับคนสามจังหวัดล้วนๆ มีทั้งระดับ 3 ดาว 4 ดาวและ 5 ดาว ผมเน้นสินค้าของคนในพื้นที่เป็นอันดับแรก เพราะวัตถุประสงค์เดิมเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มาจากอีก 72 จังหวัด ผมเน้นสินค้าระดับ 5 ดาว เหตุที่ต้องเน้นก็เพื่อตอบสนองคนที่สนใจและอยากได้สินค้าโอทอปเกรด 5 ดาว แต่ไม่อยากไปไกล ก็ต้องนึกถึงศูนย์นี้เป็นที่แรก
ผมต้องการเห็นประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการยกคุณภาพชีวิตของเขาให้ดีขึ้น ท่ามกลางสภาพปัญหาจากสถานการณ์ความรุนแรง ผมยืนยันว่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่เรามีเพียงพอแน่นอนกับคนในพื้นที่ ส่วนการจัดแสดงสินค้าจากอีก 72 จังหวัด เราได้เตรียมโซนเอาไว้ต่างหาก พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ความสนใจเอาสินค้ามาวางจำหน่ายมากมาย
O ศูนย์โอทอปเปิดให้เช่าพื้นที่แบบไหน และชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร?
ภายใน 1 ปีแรก อบจ.จะยังไม่เปิดให้เช่าพื้นที่ ทุกอย่างฟรีหมด ทั้งเรื่องสถานที่ เจ้าหน้าที่ดูแลขายสินค้า ครุภัณฑ์ต่างๆ และค่าน้ำ ค่าไฟ เราเตรียมความพร้อมให้ทั้งหมด ฉะนั้นในเบื้องต้นชาวบ้านไม่ต้องลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น ทาง อบจ.จะเป็นฝ่ายลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ประชาชนแค่เอาสินค้าที่มีอยู่มาจำหน่าย แต่ถ้าพบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคชิ้นไหนหมดอายุ ก็จะห้ามวางขายเท่านั้นเอง
ที่เราทำอย่างนี้ในปีแรกก็เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มอาชีพต่างๆ เรายอมตั้งงบประมาณรายจ่ายในการดูแลศูนย์โอทอป แต่ในอนาคตข้างหน้าค่อยตกลงกันอีกที เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องของค่าไฟฟ้าและค่าบริหารจัดการต่างๆ
O พี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดบริโภคอาหารฮาลาล กรณีนำสินค้าโอทอปจากอีก 72 จังหวัดมาวางจำหน่าย จะมีวิธีดูแลแยกแยะผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับที่ไม่ฮาลาลอย่างไร?
เรื่องนี้ไม่มีปัญหาแน่นอนครับ เพราะผมให้นโยบายชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็คือสินค้า ต้องตีตราฮาลาลชัดเจน มีการตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นฮาลาลปลอมหรือไม่ นอกจากนี้ โซนขายสินค้าก็มีการแยกแยะ แบ่งสัดส่วนพื้นที่ชัดเจน ไม่ปะปนกัน แม้กระทั่งสินค้าที่มาจากสามจังหวัดก็ตาม
ผมเตรียมศูนย์ข้อมูลเอาไว้ด้วย โดยในศูนย์ข้อมูลยังรวบรวมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของปัตตานี ยะลาและนราธิวาสเข้าไป จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ สมมุตินักท่องเที่ยวจับสินค้ามาหนึ่งชิ้น สงสัยเรื่องกระบวนการผลิตว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง หรือแหล่งผลิตอยู่ตรงไหน ศูนย์ข้อมูลก็จะตอบให้ทันที รวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับอาหารฮาลาลหรือไม่ฮาลาลได้ด้วย
O ขณะนี้ศูนย์โอทอปให้บริการอย่างไร และในอนาคตมีแนวโน้มจะเปิด 24 ชั่วโมงเหมือนในจังหวัดอื่นๆ หรือไม่?
งานกลางคืนขอสงวนไว้ก่อน ด้วยข้อจำกัดที่ตอนนี้ศูนย์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยเปิดแค่เวลาทำงานปกติ คือช่วงเวลาเช้าถึงเย็น วันหยุดอย่างเสาร์-อาทิตย์ก็เปิด และตั้งใจอยากให้มีกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติม หรืออาจเป็นกิจกรรมตามปฏิทินของจังหวัด เราก็แทรกทันที เช่น งานวิชาการของเขตพื้นที่การศึกษา งานวัฒนธรรมของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เป็นต้น ก็ให้เขามาจัดที่ศูนย์นี้เลย เป็นการสร้างความคึกคัก ดึงพี่น้องประชาชนเข้ามาชม เข้ามาจับจ่ายใช้สอย
ในอนาคตเรามุ่งหวังเปิดบริการ 24 ชั่วโมงแน่นอน แต่ขณะนี้เราทำ 24 ชั่วโมงไม่ได้เพราะเรื่องของสถานการณ์ยังเป็นอุปสรรค และยังไม่มีสิ่งจูงใจพอ ผมว่าอย่างน้อยปั๊มน้ำมันเป็นสิ่งแรกที่จะต้องเปิด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ตามด้วยร้านอาหาร มีสถานีตำรวจเกิดขึ้นใกล้ๆ ถ้าอนาคตเรามีสิ่งเหล่านี้ครบ ก็จะเปิด 24 ชั่วโมงได้เหมือนกันทางภาคใต้ตอนบน
O ตั้งความหวังอะไรกับศูนย์โอทอปแห่งนี้บ้าง?
ผมมุ่งหวังอยากเห็นศูนย์สินค้าโอทอปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนชายแดนใต้ได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าหลากหลาย และได้พบกับความสะอาดของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสถานที่ การบริการ ทั้งยังเป็นจุดพักรถ ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์ รถตู้ทุกสาย สามารถแวะทำกิจกรรมและประกอบศาสนกิจได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกได้ตามต้องการ
ผมอยากเห็นสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่เย็นเป็นสุขและเกิดสันติสุข ซึ่งศูนย์โอทอปจัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของความตั้งใจที่อยากจะเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น การจะทำตรงนี้ได้ต้องทำทั้งระบบ ซึ่งเป็นภารกิจของ อบจ.ที่ต้องทำในอนาคตอยู่แล้ว แต่ผมก็อยากให้ทุกคนช่วยกัน เพราะลำพัง อบจ.อย่างเดียวคงจะไม่ไหว เพราะศูนย์โอทอปไม่ได้เป็นของ อบจ. เราแค่มาดูแล แต่เจ้าของที่แท้จริงคือพี่น้องชาวปัตตานีทุกคน
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี
3 ภาพถ่ายด้านหน้าศูนย์โอทอปขนาดยักษ์ชานเมืองปัตตานี
4 บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของ