พล.ท.กสิกร คีรีศรี: ความสุขมวลรวมประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น!
เลขา เกลี้ยงเกลา / สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจว่า บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุระเบิดครั้งรุนแรง 2 จุดเมื่อวันที่ 1-2 ก.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งทำให้มีกำลังพลและฝ่ายปกครองเสียชีวิตรวมกันถึง 8 ศพ
เมื่อปลายเดือน มิ.ย. กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ได้จัดกิจกรรมพบปะกลุ่ม “ทำดีมีอาชีพ” ประจำปี 2552 โดยมีเยาวชนจากโครงการทำดีมีอาชีพ โครงการญาลันนันบารู (ทางสายใหม่แก้ปัญหายาเสพติด) กลุ่มประชาชนที่ประสงค์ประกอบอาชีพเพื่อต่อยอดให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จำนวน 613 กลุ่ม มาหารือทำความเข้าใจร่วมกัน ภายหลังนำเสนอโครงการต่อ พตท.ผ่านไปยังรัฐบาล กระทั่งได้รับอนุมัติงบประมาณกลับมาจำนวน 35 ล้านบาท ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดงบลงไปในแต่ละพื้นที่
โอกาสนี้ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงการทำงานที่ผ่านมา และแนวโน้มของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในความรับผิดชอบของ พตท.
O อยากให้ประเมินความสำเร็จจากการทำงานของ พตท.ว่ามีมากน้อยแค่ไหน?
ะยืนยันได้ว่าโครงการต่างๆ ของ พตท. ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องปัญหาความมั่นคง การแก้ปัญหาการก่อเหตุความรุนแรง การไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมไปถึงเรื่องของการสนับสนุนการประกอบอาชีพต่างๆ ทุกมิติดีขึ้นเป็นลำดับ แต่คงบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีความก้าวหน้าทุกเรื่องในทิศทางที่น่าพอใจ
คิดว่าความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ผมอยากเอาดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของประชาชนมาลองสำรวจดู ผมเชื่อมั่นว่าตัวเลขที่ออกมาน่าจะดีขึ้น
O ที่ผ่านมาโครงการทำดีมีอาชีพประสบผลอย่างไรบ้าง สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ขนาดไหน?
โครงการทำดีมีอาชีพเป็นโครงการที่ทาง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เห็นว่าพี่น้องและลูกหลานในพื้นที่ยังมีผู้ที่ว่างงานเป็นจำนวนมาก การที่เราฝึกให้ประชาชนเหล่านั้นเป็นผู้มีความสามารถที่จะประกอบอาชีพและหารายได้เลี้ยงตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด จึงได้จัดให้มีโครงการทำดีมีอาชีพขึ้นมา และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มเยาวชนเป็นเบื้องต้น
หลังจากนั้น พตท.ได้ต่อยอดโครงการทำดีมีอาชีพ โดยจัดตั้ง ‘กลุ่มอาชีพ’ เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ผ่านการอบรมมาแล้วและต้องการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับในสิ่งที่วาดหวัง จึงเกิด ‘กลุ่มอาชีพ’ ต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะส่งผลสะท้อนไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำไปสู่ความสันติสุขได้อีกทางหนึ่ง
ในส่วนของผู้ว่างงานและผู้ที่ยังไม่มีอาชีพนั้น ในพื้นที่มีทั้งกลุ่มเยาวชนและกลุ่มพี่น้องที่เลยวัยเยาวชนไปแล้ว เป็นเรื่องที่จะต้องลงไปช่วยในทุกๆ กลุ่มให้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพตามความต้องการ จึงเป็นที่มาของ ‘กลุ่มทำดีมีอาชีพ’ และได้รับการอนุมัติงบประมาณตามที่แต่ละกลุ่มเสนอโครงการมา โดยมีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก 613 กลุ่มใน จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของ จ.สงขลา ทุกโครงการเป็นโครงการให้เปล่า ไม่ต้องคืนเงิน
O การลงทุนแบบให้เปล่าเช่นนี้เหมือนเป็นการอุ้มชูมากเกินความจำเป็นหรือไม่?
การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องปกติและสมควรทำ แต่การจะให้ประชาชนเข้มแข็ง จะต้องมีทุน มีความรู้ และมีความตั้งใจจริงด้วย ผมคิดว่าการช่วยเหลือเช่นนี้มันไม่มากเกินไป เพราะเราให้ไปในระดับที่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นประกอบอาชีพได้ คงไม่ถึงขั้นต้องเป็นยุทธศาสตร์อะไร เพียงแต่ว่ามนุษย์เรามีความความต้องการพื้นฐานของชีวิตอยู่ไม่กี่อย่าง พื้นฐานที่ต้องการเป็นที่ยอมรับ มีเงินมีทองที่อยากใช้จ่ายอย่างพอดี มีความสุขในชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเราได้เสริมสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้ดีและพอสมควร คิดว่าจะสามารถสร้างสันติสุขให้กับหลายพื้นที่ได้
O มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ขั้นตอน และประเมินผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างไร?
เรามีการตรวจสอบหลายขั้นตอน โครงการต่างๆ ที่เยาวชนหรือกลุ่มอาชีพเสนอกันมาจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะมีการตรวจสอบจากหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว หรือหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด (เลขตัวเดียว) รวมถึงคณะทำงานของ พตท.ที่จะเข้าตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เน้นเรื่องความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความยั่งยืนของโครงการ
ผมคิดว่าโครงการที่ผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนจนได้รับงบประมาณสนับสนุน จะมีความมั่นคงในระดับหนึ่งว่าโครงการเหล่านี้น่าจะยั่งยืนและสร้างผลดีให้กับพี่น้องประชาชน หลังจากนี้เราจะมีการติดตามและประเมินผลทุกระยะ ต้องทำในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับ พตท. หรือระดับหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ โดยมีงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 35 ล้านบาท
O ในส่วนของหมู่บ้านพัฒนาสันติ (ที่ส่งชุดพัฒนาสันติเข้าไปทำงานร่วมกับประชาชนในหมู่บ้านจำนวน 217 หมู่บ้าน) มีความสำเร็จและลดเหตุร้ายได้แค่ไหน?
หมู่บ้านพัฒนาสันติในปัจจุบันนั้นแทบไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเลย เพราะเราสามารถดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือประชาชนได้ดีมาก จุดสำคัญคือการทำงานของชุดเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ เพื่อนคอยให้คำปรึกษาอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งกำลังทหารหลัก ทหารพราน และอาสารักษาดินแดน (อส.) เข้าไปดูแล คอยเป็นเพื่อนให้ชาวบ้านสามารถปรึกษาหารือขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นชุดเดิมแทบทั้งสิ้น อาจจะมีทหารชุดใหม่ๆ ลงไปบ้าง แต่ก็ไม่กระทบกระเทือนกับการปฏิบัติงาน จากจำนวน 217 หมู่บ้านที่เราตรวจสอบในชั้นต้น และในปัจจุบันอาจจะมีการสำรวจเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย หรือมีหมู่บ้านตกสำรวจที่เราตรวจไม่พบ และหมู่บ้านเหล่านี้สมควรที่จะเข้าโครงการหมู่บ้านพัฒนาสันติ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก คาดว่าปีหน้าจะมีการปรับแผนพัฒนาอีกเล็กน้อย
สำหรับเจ้าหน้าที่ตอนนี้คงจะยังไม่เพิ่มจำนวนลงไป เพราะจากที่รัฐบาลอนุมัติจำนวน 6 หมื่นกว่าอัตรา คงจะพอเพียงแล้วสำหรับพื้นที่ตรงนี้ แต่ผมขอเรียนว่าถึงแม้สถานการณ์ความรุนแรงจะลดน้อยลง แต่การพัฒนาเพื่อเข้าถึงจิตใจของพี่น้องประชาชนต้องมากขึ้น เพราะการพัฒนาต้องเริ่มจากจิตใจ ต้องใช้ความทุ่มเทอย่างมาก เพราะฉะนั้นจำนวนเจ้าหน้าที่ต้องใช้ระดับนี้ไปก่อน
O การดำเนินการด้านจิตวิทยาสู่โรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาระดับชุมชน) มีรูปธรรมอย่างไรบ้าง?
การเข้าถึงสถานศึกษาต่างๆ นั้น พตท.มีโครงการให้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าไปดูแลช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านี้ และโครงการที่เราทำอยู่แล้วอย่างเป็นรูปธรรมก็คือการส่งเสริมให้โรงเรียนตาดีกาได้ร้องเพลงชาติและมีเสาธง รวมถึงการจัดกำลังพลที่มีความรู้ลงไปช่วยสอน นับว่าเป็นโครงการหนึ่งที่ก้าวหน้าไปมาก
ในปัจจุบันโรงเรียนตาดีกาทุกแห่งที่เราเข้าไปพบปะเยี่ยมเยียนแล้ว จะมีการเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติ โครงการนี้ถือว่าดีเพราะได้มีการพบปะกับนักเรียนและเยาวชนต่างๆ ได้มีการสอบถามถึงทัศนคติ ซึ่งพบว่าทัศนคติของเยาวชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ท.กสิกร คีรีศรี
2 กิจกรรมพบปะ "กลุ่มทำดีมีอาชีพ" ที่โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือน มิ.ย.