ศาสตราจารย์คนใหม่"ครองชัย หัตถา" คลี่ปมประวัติศาสตร์ "ปัตตานี-ฮอลันดา" เติมไฟขัดแย้ง?
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏหน้าตาและทัศนะของ อาจารย์ครองชัย หัตถา ผ่านทางหน้าเว็บของโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา แต่การหวนกลับมาครั้งนี้ อาจารย์ครองชัยมาในฐานะ "ศาสตราจารย์คนใหม่" และเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
อาจารย์ครองชัย เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และทำงานอยู่ในพื้นที่นี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว ความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เกิดแรงขับดันที่ผลิดอกออกผลเป็นงานวิจัยและหนังสือที่ชื่อ “อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของคนชายแดนใต้" ซึ่งช่วยฉายภาพให้สังคมไทยได้ "เรียนรู้และเข้าใจ" ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้มากยิ่งขึ้น
และงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาซึ่งตำแหน่ง "ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย" ตำแหน่งสูงสุดในทางวิชาการ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ครองชัย อีกครั้ง เพื่อให้ได้เล่าถึงเส้นทางการทำงานวิชาการตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปมประวัติศาสตร์ "ปัตตานี-ฮอลันดา" ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัย "เติมไฟขัดแย้ง" ที่ชายแดนใต้ ณ พ.ศ.นี้
O อยากให้อาจารย์เล่าถึงที่มาของการได้รับพระบรมราชกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์...
การได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น 'ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย' นั้น ต่อเนื่องมาจากตำแหน่งแรกสุดคือการได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) เมื่อเกณฑ์ปริมาณงานและคุณภาพงานวิจัยออกมาเป็นที่ยอมรับ ก็ได้ขยับเป็นรองศาสตราจารย์ (รศ.) โดยตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) ถือเป็นตำแหน่งสูงสุด บุคคลนั้นต้องมีผลงานวิจัย หนังสือตำรา และเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
ผมทำงานมาถึงระดับหนึ่ง ทำด้วยความสนใจส่วนตัวเชิงวิชาการมากกว่าที่จะทำเพื่อผลงาน แต่บังเอิญว่างานชุดนั้นมันเข้ากับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่ยุติ และประเด็นคำถามคือว่าสามจังหวัดนั้นมีปัญหาอะไรหรือไม่
O เคยคิดหรือไม่ไหมว่าตัวเองจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้?
ตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น ในความคิดของผมถือเป็นตำแหน่งที่สูงมาก แต่ว่าทางมหาวิทยาลัยก็มีกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดไว้อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นเมื่ออาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งมีผลงานเชิงคุณภาพเพียงพอ ก็จะได้รับการประเมิน
ผมเป็นรองศาสตราจารย์เมื่อปี 2536 จนเมื่อปี 2550 ก็ขยับเป็นศาสตราจารย์ แต่ระบบประเมินใช้เวลา 2 ปี ก็คือเพิ่งชัดเจนในปีนี้ การที่ผมก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ จะเป็นตัวอย่างให้รุ่นน้องๆ ได้เห็นและสามารถก้าวไปถึงได้ จากที่คิดว่าลำบากและยาก สำหรับความรู้สึกของผมเองก็ภูมิใจ เพราะถือเป็นตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการ
เมื่อก่อนผมเคยสนใจเรื่องทรัพยากรและความขัดแย้งต่างๆ แต่เมื่อได้ฟังและพูดคุยกับผู้รู้ กับชาวบ้าน ก็พบประเด็นประวัติศาสตร์ และทำให้มองเห็นว่าประเด็นประวัติศาสตร์นั้นเป็นประเด็นเชิงลึกที่ฝังและซ่อนตัวอยู่ เป็นปัจจัยที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เลยเริ่มสนใจและศึกษามาเป็นลำดับ
O งานวิจัยของอาจารย์ใช้เวลากี่ปี?
ประมาณ 20 ปีครับ ผมอยู่ ม.อ.ปัตตานี 31 ปี งานวิจัยแบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกสนใจสิ่งแวดล้อม วิจัยเรื่องขยะ น้ำเสีย น้ำทิ้ง ยุคที่ 2 จะเน้นหนักเรื่องชายฝั่ง เรื่องอ่าวปัตตานี ทำให้ผมเห็นว่าการพัฒนาชายฝั่งต้องมีองค์ความรู้ ต้องมีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ต่อมาในยุคที่ 3 ผมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ปัญหาไฟใต้ตอนนั้นยังปกติธรรมดา อาจจะมีบ้างประปราย แต่หลังจากปี 2547 เหตุการณ์ก็รุนแรง
O อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์?
ผมได้มีโอกาสพบกับ รศ.เหยียน ฉงเฉา นักภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์จากสถาบันภูมิศาสตร์แห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านมาปัตตานีคนเดียว พร้อมกับพกแผนที่เก่ามาด้วย เพื่อตามหารัฐโบราณชื่อ 'ลังกาสุกะ' แต่ท่านอยู่แค่สัปดาห์เดียวก็ต้องกลับ จึงวานให้ผมช่วยศึกษาลังกาสุกะต่อ
ตอนนั้นผมเองยังไม่ได้เริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ แต่พอเราได้แผนที่ดีๆ ซึ่งมีที่มาและอ้างอิงได้ ทำให้รู้สึกอยากติดตาม เลยคิดว่าต้องติดตามเรื่องลังกาสุกะ จนกระทั่งท้ายที่สุดก็เกิดงานชิ้นหนึ่งที่เป็นงานประวัติศาสตร์ชิ้นแรก ชื่อหนังสือ “อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของคนชายแดนใต้" ผมค้นคว้าข้อมูลมาเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2531 จากข้อมูลเบื้องต้นที่อาจารย์เหยียนให้ไว้ ใช้เวลา 20 ปี ทำก่อนงานวิจัยอื่นๆ แต่เสร็จหลังสุด
ลังกาสุกะนั้น ผมพบว่าเป็นอาณาจักรโบราณก่อนศรีวิชัย ตั้งขึ้นโดยคนพื้นเมืองที่นี่ ไม่ได้เป็นอาณาจักรมาจากที่อื่นเลย แต่ประวัติศาสตร์ไม่ค่อยได้พูดถึง แถมพบร่องรอยหลักฐานที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปถึงมาเลเซียมากมาย ท่านอาจารย์จำรูญ เด่นอุดม (พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้) แปลงานจากเรื่องเล่าปัตตานี ก็มีการพูดถึงอาณาจักรดั้งเดิมคือลังกาสุกะ พูดถึงควนลือฆอ (นครศรีธรรมราช)
เพราะฉะนั้นจากองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้ผมค้นคว้าติดตามในเชิงพัฒนาการ ก็พบว่าลังกาสุกะเป็นอาณาจักรยุคต้นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะมาเป็นศรีวิชัย, รัฐปัตตานี, 7 หัวเมืองปัตตานี และมณฑลปัตตานี งานแต่ละชิ้นก็จะไล่มาตามลำดับ เล่มหลังสุด (อาณาจักรลังกาสุกะ ประวัติศาสตร์ยุคต้นของคนชายแดนใต้) ที่ใช้ประเมินการเป็นศาสตราจารย์ ผมทำแรกสุดแต่มาจบหลังสุด
O แสดงว่าอาจารย์ทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หลายชิ้น ไม่ใช่ชิ้นนี้ชิ้นเดียว
ครับ...ก็มีหลายชิ้นด้วยกัน เช่น ตามหาร่องรอยลังกาสุกะ เป็นงานเชิงสำรวจ จะเป็นการไล่เรียงตั้งแต่ยุคโบราณสองพันกว่าปี มาถึงศรีวิชัย, รัฐปัตตานี, 7 หัวเมือง, มณฑลปัตตานี และถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลที่พบในพื้นที่ ต.กรือเซะ ตันหยงลูโละ คลองมานิง บานา และบาราโหม (ชื่อตำบลต่างๆ ในอำเภอเมืองปัตตานี) ทำให้ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางของเมืองขนาดใหญ่ แต่ขาดหน่วยงานรัฐเข้ามาศึกษาค้นคว้า และยังไม่มีนักโบราณคดีคนใดเขียนในเชิงลึก ผมก็เลยศึกษาตรงนี้ทั้ง 5 ตำบล ก็พบว่านี่คือที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางปัตตานีที่มีชื่อเสียงในอดีตกาล
การสำรวจเราพบมัสยิดกรือเซะ ฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มกอเหนียว ซึ่งเราทราบอยู่แล้ว แต่ที่เหลือคือบ่อน้ำฮังตูเวาะห์ สุสานลิ้มโต๊ะเคี่ยมเดิม สุสานชาวต่างประเทศที่เขาเสียชีวิตที่ปัตตานี ถูกฝังไว้เรียกว่ากูโบร์ระแฆ กูโบร์โต๊ะยาวอ เป็นชาวชวาที่เข้ามาเผยแพร่วรรณกรรม เผยแพร่วัฒนธรรมชวาสมัยก่อน ทำให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมชวาเยอะมาก ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับชวา เช่น หนังฆูลิต หนังตะลุงชวา อิเหนา รวมทั้งการแต่งกายแบบชวา
นี่คือที่ไปที่มาที่ทำให้คนสามจังหวัดมีวัฒนธรรมชวามากกว่าวัฒนธรรมไทยตอนบน เพราะหลักฐานคือการมีสุสานคนสำคัญสมัยก่อน เรียกว่าโต๊ะยาวอ รวมทั้งแหล่งอิฐเผา (เตาเผา) ที่ใช้ผลิตอิฐในการก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ ผมพยายามตรวจสอบและตามหาสถานที่ใกล้เคียงกัน ก็ไปพบที่บ้านกะมิยอ (ต.กะมิยอ อำเภอเมืองปัตตานี)
เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าตรง 5 ตำบลนี้คือที่ตั้งของนครปัตตานี และเป็นศูนย์กลางของเมืองขนาดใหญ่ อยู่ริมทะเล ถ้าเราเรียกว่าช่วงนั้นคือรัฐปัตตานี ก็ถือว่าเป็นศูนย์บริหารรัฐปัตตานีที่มีรายาองค์ต่างๆ 23 พระองค์ปกครอง และล้วนเป็นมุสลิม
O ทราบมาว่าอาจารย์พบหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องฮอลันดา และตั้งสมมติฐานว่าเป็นเงื่อนปมหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่อาจสร้างปัญหาในพื้นที่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
จากงานวิจัยเรื่องปัตตานี การค้า การเมือง และการปกครองในอดีต ซึ่งผมปรับปรุงมาเป็น "ปัตตานี: พัฒนาการทางภูมิศาสตร์" ข้อมูลที่ปรากฏในแผนที่แสดงเอเชียทั้งหมดจะมีเมืองต่างๆ ที่บริษัทอีสต์เอเชียติกของฮอลันดาเข้ามาค้าขาย เป็นการค้าระดับนานาชาติ พบว่าปัตตานีเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ฮอลันดาเข้ามาเชื่อมสัมพันธไมตรีและทำการค้า โดยตั้งสถานีการค้าแห่งแรกที่ปัตตานี คือเมืองกรือเซะ นั่นคือ ค.ศ.1601 ซึ่งเพิ่งครบ 400 ปีไปเมื่อ ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ถัดจากนั้น 40 ปี (คศ.1641) ก็ไปตั้งที่มะลากา ตัวเลขเหล่านี้กำลังจะบอกว่าฮอลันดาเพิ่งให้ความสนใจมะละการาว 40 ปีหลังจากเข้ามาติดต่อกับปัตตานี ขณะที่อยุธยามีการเชื่อมสัมพันธไมตรีในปี ค.ศ.1604 นั่นก็คือฮอลันดาอยู่ปัตตานีก่อน แล้วก็ค่อยไปติดต่อค้าขายกับอยุธยา
เพราะฉะนั้นเมื่อถึงปี ค.ศ.2001 ครบ 400 ปี ตรงกับ พ.ศ.2544 ทางฮอลันดา (ฮอลแลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์) ได้ส่งคณะผู้แทนมาประสานเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 400 ปี โดยเลือกปัตตานีเป็นแห่งแรก ซึ่งทางฮอลันดาและฝ่ายไทย (หมายถึงรัฐไทยปัจจุบันที่มีปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศแล้ว) ต่างก็มีเอกสารเก่าตรงกัน
การจะจัดที่ไหนผมว่าไม่สำคัญ แต่ให้เอ่ยถึงว่านี่คือปีแรกที่เขามาเหยียบแผ่นดินประเทศไทย สมัยนั้นคือปัตตานี แต่ทางการไทยไม่สนใจ เพิ่งจะมาจัดเฉลิมฉลองเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ฮอลันดาเพิ่งติดต่อกับอยุธยาก็คือปี ค.ศ.1604 ทั้งๆ ที่เขามาติดต่อกับปัตตานีก่อนอยุธยาถึง 3 ปี สรุปก็คือแทนที่รัฐบาลจะยึดเอาความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ก็คือปีแรกที่มาติดต่อกับปัตตานี กลับกลายไปเลือกปีที่ติดต่อกับอยุธยา ฉะนั้นปัญหาทางประวัติศาสตร์มันมีแน่นอน คือทำไมไม่ใช้ความเป็นจริง
O อาจารย์กำลังจะบอกว่าเรื่องแบบนี้ส่งผลในแง่ความรู้สึก?
ครับ ปัญหาทางประวัติศาสตร์คงจบแค่วิชาการทางประวัติศาสตร์ แต่ปัญหาทางการเมือง ผมเห็นตั้งแต่ปีนั้นแล้วว่าอาจจะมีความรุนแรง อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้ รวมทั้งความขัดแย้งระดับเวทีโลกในอนาคต เพราะผมคิดว่าการที่ไปยึดประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องคือจริงๆ ค.ศ.1601 แต่กลับใช้ ค.ศ.1604 แทน ก็คือปี พ.ศ.2547 และเป็นปีที่เริ่มต้นความรุนแรง (เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหารที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547) ผมไม่ทราบว่าเกี่ยวกันหรือไม่ แต่ในทางวิชาการมันเห็นว่า ปี 2547 นั่นคือปีที่ฮอลันดามีความสัมพันธ์กับอยุธยา แต่ก่อนหน้านั้นได้มีความสัมพันธ์กับปัตตานีอยู่แล้ว
ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมจะเลือกจัดปีที่เป็นปีติดต่อมีสัมพันธไมตรีกันจริง คือปี ค.ศ.2001 (ครบ 400 ปัตตานี-ฮอลันดา) แต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นกลับไปเลือกจัดปี ค.ศ.2004 ซึ่งครบ 400 ปีของอยุธยาไม่ใช่ปัตตานี
เรื่องนี้ถ้าจบแค่นี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการตีความไปถึงขั้นว่า เมื่อ 400 ปีที่แล้วปัตตานีไม่ได้เป็นของไทย (สยาม) ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ทำไมคุณไม่จัด ถ้าไม่ใช่แสดงว่าปัตตานีเพิ่งเป็นของสยาม ฝ่ายสยามไปยึดปัตตานี ไปได้ปัตตานีเป็นเขตปกครองหลังจากนั้น เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าในทางวิชาการอาจมีความเชื่อมโยงกัน อาจมีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตรงนี้ไปเกี่ยวโยงแล้วทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง เพื่อวันหนึ่งจะได้บอกว่าข้อมูลความเป็นมาเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยเคยปฏิเสธมาแล้ว
O ประวัติศาสตร์ปัตตานี-ฮอลันดา-สยามที่รัฐบาลในอดีตทำพลาดไป จะส่งผลร้ายแรงมากกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น การนำไปฟ้องต่อเวทีโลกเพื่อนำไปสู่การไม่ยอมรับ?
อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ แต่คงจะมีผู้นำไปใช้ในอนาคต บอกว่าความจริงมีอยู่และชัดเจน แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับ อาจจะนำไปสู่การตีความอยุธยาสมัยนั้นว่าไม่ได้มีอำนาจอะไรเหนือปัตตานี เมื่อเราละเลยความรู้ตรงนี้ อีกฝ่ายสามารถเอาไปอ้างได้ว่าที่รัฐไม่ได้ให้ความสนใจปีนี้ เพราะว่าขณะนั้นปัตตานีไม่ได้เป็นของไทย (สยาม) ใช่หรือไม่
ในอนาคตถ้าเกิดต้องขึ้นศาลโลก คนก็มองไปไกลว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เคยปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตาม ความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปใช้อ้างอิงในเวทีโลกว่าทำไมประเทศไทยปัจจุบันถึงไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นจริงในอดีต มันก็จะถูกตีความว่าถ้าอย่างนั้นปัตตานีในอดีต ณ เวลานั้น ค.ศ.1601 ไม่ได้เป็นของสยามใช่หรือไม่ ถ้าเรามีคำตอบที่ไม่ดี โอกาสจะยืดเยื้อคาราคาซังต่อเนื่องไปก็มีเหมือนกัน จึงเป็นประเด็นที่คนไทยควรจะรับทราบเอาไว้ว่ามีการใช้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก
O อาจารย์นับถือศาสนาพุทธ แต่งานวิจัยเน้นเรื่องอิสลาม เรื่องคนมุสลิม ถูกมองแปลกๆ หรือเจอแรงกดดันอะไรบ้างหรือไม่?
ผมในฐานะนักวิชาการ ผมไม่ได้แยกแยะอิสลาม พุทธ หรือรัฐไทยกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน แต่อยู่ฝ่ายความจริงที่ข้อมูลมีอยู่ ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็สุดแท้แต่ แต่รัฐมีจุดอ่อนตรงนี้ คือไม่เคารพประวัติศาสตร์ ไม่ได้จัดความสัมพันธ์ตามที่เป็นจริง เรื่องนี้มีผลหรือไม่ต่อเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผมตอบไม่ได้ แต่นี่เป็นจุดผิดพลาดอันหนึ่งที่น่าจะมีผลต่อในอนาคต
ถึงแม้ยังไม่มีใครเอาไปใช้ในวันนี้ แต่วันหนึ่งข้อมูลมันก็ชัดแจ้งอยู่แล้ว เพราะนักวิชาการระดับโลกต่างก็มีข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่าประเทศไทยน่าจะให้ความสำคัญกับปัตตานีช่วงสมัยนั้นด้วยการจัดเฉลิมฉลอง 400 ปี เป็นการยอมรับประวัติศาสตร์ แต่การไม่ยอมรับเท่ากับเป็นการเพิ่มไฟขัดแย้งเข้าไปอีก จะมาสะกิดแผลทำไม อย่าลืมว่าทั้งไทยและฮอลันดาล้วนมีข้อมูลตรงนี้ แต่คนไทยไม่มีใครรู้เลย สมมุติต้องตัดสินในอนาคต ขึ้นศาลโลก แต่ฝ่ายไทยไม่มีข้อมูลเลย โอกาสตอบไม่ได้ ไปอ้ำอึ้งในศาลโลกก็มีสูง
O การใช้ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่?
ความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานีก็มีตัวตนของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายรัฐจะต้องเปิดใจให้เขียนความจริง ผมเชื่อเรื่องการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อพลเมืองของรัฐด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องบนประวัติศาสตร์ซึ่งบางตอนเป็นสงคราม บางช่วงเป็นการกระทำซึ่งกันและกัน ก็มาเล่าความจริงให้หมด เปิดใจทั้งหมด แล้วคนก็จะเข้าใจกัน เพราะว่าไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่ไม่ผ่านประวัติศาสตร์มาเลย
ปัญหาความไม่สงบมันมี 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือเหตุระเบิด ยิง ปิดล้อมตรวจค้นจับกุม ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งคืออยู่ในสมอง ความรู้สึก อคติ ไม่ยอมรับ ต่อต้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้วิชาประวัติศาสตร์มันฟ้องอยู่ คือการไม่ยอมรับ ตรงนี้เราปราบไม่ได้เลย ปราบได้อย่างเดียวคือใช้การศึกษาเข้าไปกล่อมเกลาทำให้รู้สึกเป็นพลเมืองของรัฐ แยกแยะถูกผิด สร้างจิตสำนึก เปิดเผยประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริง ดีกว่าปกปิด ก็จะทำให้คนยอมรับรัฐได้มากขึ้น แต่ถ้ารัฐพยายามจะไม่อธิบาย ขณะที่คนเหล่านี้มีแต่ความทรงจำเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ปัญหาก็ยากที่จะยุติ
O อยากให้อาจารย์ช่วยเสนอแนะประเด็นประวัติศาสตร์ที่อาจนำไปสู่สันติภาพในพื้นที่
ผมมอง 4 อย่างด้วยกัน คือ 1.ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เคยต้องห้าม ถูกรัฐเพ่งเล็ง หรือเก็บออกไปจากแผน เช่น งานเขียนสมัยของ อาจารย์อับดุลเลาะห์ ลอแม เป็นหนังสือที่ถูกราชการห้ามจำหน่าย ทำให้เราไม่มีองค์ความรู้ที่จะเข้าใจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคต้องช่วยกันสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา
2.เร่งจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ครูอาจารย์ได้มีหนังสือสอน มีคู่มือนำไปใช้ เพราะขณะนี้หลักสูตรท้องถิ่นที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ที่ทุกฝ่ายยอมรับยังไม่มี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งชัดเจนว่าต้องสอน คำถามก็คือแล้วครูสอนจะอะไร สอนอย่างไร เป้าหมายการสอนคืออะไร เมื่อแต่ละคนสอนตามที่ตัวเองถนัด หรือคนที่รู้สึกอึดอัด เก็บกดอยู่ เขาก็สอนประเด็นที่เป็นความขัดแย้งกับรัฐ คนที่เป็นครูกลางๆ ที่มาจากตอนบนก็จะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเด็กและครูมาคุยกัน จะต่อประเด็นประวัติศาสตร์ไม่ค่อยได้ เพราะพื้นฐานที่มามันต่างกัน
3.รัฐจะต้องบูรณะพัฒนาแหล่งโบราณคดีต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เท่าเทียมกับการดูแลบูรณะเมืองโบราณอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น อยุธยา สุโขทัย บ้านเชียง เพราะแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ร่วมสมัยกับบ้านเชียงก็จะมีแถวท่าสาป (อำเภอเมือง จ.ยะลา ) ส่วนเมืองโบราณยะรังอายุก็พอๆ กับสมัยศรีวิชัย ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีโครงการศึกษากันเยอะ แต่ปัตตานีและยะลาไม่ค่อยมีโครงการ ฉะนั้นในเชิงของการบูรณะ พัฒนา ขุดค้นหาความรู้และความจริงเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติของประวัติศาสตร์และโบราณคดีต้องทำให้มากยิ่งขึ้น
4.ต้องมีการนำสนอข้อมูลประวัติศาสตร์และจัดแสดงเผยแพร่ ควรจะมีพิพิธภัณฑ์เมือง หรือศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ขณะนี้คำถามก็คือว่าเมื่อเราต้องการจะไปแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราไปที่ไหน คำตอบก็คือยังไม่มี ต้องดูเป็นชิ้นๆ ไป แล้วก็ต่อกันไม่ได้
ความจริงประวัติศาสตร์ปัตตานีมีตัวตนของเขาอยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายรัฐจะต้องเปิดใจยอมรับประวัติศาสตร์ที่จะเขียนขึ้นจากท้องถิ่นที่มีความเจริญมาก่อน ซึ่งแนวทาง 4 ข้อทั้งหมดถ้าทำได้จะเพิ่มความเข้าใจ ลดความขัดแย้งได้ แต่ที่เป็นอยู่มันไม่ได้เข้าใจมากขึ้น เพราะข้อเสนอ 4 ข้อที่ผมว่ามันไม่เกิดสักข้อ ทุกอย่างยังอยู่แบบอึมครึม
ทำความรู้จัก...อาจารย์ครองชัย หัตถา
ศ.ครองชัย หัตถา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จบการศึกษาสาขาวิชาภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2522 ในตำแหน่งอาจารย์ 4 สังกัดภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ก่อนขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ตามลำดับ โดยมีผลงานทางวิชาการ 55 ผลงาน แยกเป็น
ประเภทหนังสือ เช่น ภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี, มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี เป็นต้น
ประเภทงานวิจัย เช่น การสำรวจปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี, การศึกษาสำรวจเพื่อขยายฐานความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองโบราณปัตตานีที่ตันหยงลุโละ จังหวัดปัตตานี, กรือเซะ: มุมมองใหม่จากหลักฐานภูมิประวัติศาสตร์และโบราณคดี กรณีศึกษามัสยิดกรือเซะ และความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์ เป็นต้น
ประเภทบทความและเอกสารวิชาการ เช่น การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งเมืองโบราณปัตตานีจากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจทางธรณีสัณฐาน, ภูมิศาสตร์กับการศึกษาด้านมนุษยนิเวศวิทยา, “ลังกาสุกะ: เมืองท่าบนเส้นทางแห่งเอเชียและอารยธรรมในสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 - 21, สภาพภูมิศาสตร์ของปัตตานีในอดีต กรณีศึกษาเรื่องแหล่งแร่ ทองคำ และยุคทองของปัตตานี เป็นต้น
ประเภทผลงานอื่นๆ ที่เผยแพร่ทางวิชาการ เช่น กรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี, ลังกาสุกะ มรดกอารยธรรมคาบสมุทรมลายู, สถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์อิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ชีวิตรับราชการของอาจารย์ครองชัย เคยได้รับเลือกเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง, หัวหน้าแผนกวิชาภูมิศาสตร์ และปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางสังคมอีกมากมาย อาทิ อุปนายกสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, กรรมการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี, ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี, คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเสนอรายชื่อแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก (กรมศิลปากร) เป็นต้น
--------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ศาสตราจารย์คนใหม่...อาจารย์ครองชัย หัตถา
3 ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ครองชัย