ระหว่างบรรทัดจากจดหมายของผู้ว่าฯกฤษฎา...เมื่อยะลาถูกคลื่นความรุนแรงโหมกระหน่ำ
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและนำมาซึ่งความสูญเสียจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่การที่ข้าราชการระดับสูงอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด หรือที่เรียกกันติดปากว่า “พ่อเมือง” แสดงความเจ็บร้อนแทนชาวบ้าน และไม่อาจอยู่นิ่งเฉยต่อไปได้ ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจไม่น้อยอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ชาวบ้านไม่มีความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
ดังเช่นที่จังหวัดยะลา หลังจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบถี่ยิบตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาฯ ต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน ทั้งปาระเบิด ลอบวางระเบิด และลอบยิงผู้บริสุทธิ์ จนมีชาวบ้านตาดำๆ เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หนำซ้ำหลายเหตุการณ์ยังเป็นปริศนาคาใจคนในพื้นที่ ทำให้ “พ่อเมือง” อย่าง นายกฤษฎา บุญราช ร้อนใจ และตัดสินใจทำในเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก คือเขียนจดหมายขอโทษชาวยะลา...พี่น้องประชาชนในเขตรับผิดชอบของตน
ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่า “วิธีการ” เขียนจดหมาย ก็คือถ้อยคำ “ระหว่างบรรทัด” ในนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่มันได้สะท้อนความจริงหลายประการในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน และปัญหาที่สะสมมานานหลายปี
เนื้อความในจดหมายระบุว่า “ในช่วงเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2553 ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณโชว์รูมมาสด้า หอนาฬิกาย่านชุมชนตลาดเก่า และล่าสุดเมื่อ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีคนร้ายขว้างระเบิดที่ร้านอาหารในเขตเทศบาลนครยะลาพร้อมกันถึง 2 แห่ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งก่อนหน้านี้มีคนร้ายลอบยิง นายดอรอแม ดะเก๊ะ หรืออุสตาซแม ซึ่งสอนหนังสือที่ปอเนาะดำรงวิทยา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เสียชีวิต 1 คน
ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวพี่น้องชาวยะลา ตลอดจนเพื่อนข้าราชการที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงดังกล่าว ผมในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ต้องขอประทานโทษพี่น้องทั้งหลายที่ไม่สามารถปกป้องชีวิตของพี่น้องชาวยะลาผู้บริสุทธิ์ได้ เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลังนี้ หลายฝ่ายมองว่าเกิดจากการกระทำของผู้ที่อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ต้องการโต้ตอบเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ก่อเหตุร้ายดังกล่าวขึ้น
ผมจึงใคร่ขอร้องท่านทั้งหลายและทุกฝ่ายให้หยุดการกระทำ การก่อเหตุ หรือการแก้แค้นกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตต่อไปอีก ผมขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้โอกาสแก่ผมและเพื่อนข้าราชการจังหวัดยะลาในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความเป็นธรรม ความถูกต้องตามกฎหมายแก่พี่น้องชาวยะลาอีกครั้งหนึ่ง
ผมขอเรียนว่านับตั้งแต่ผมเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จนได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเมื่อเดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ผมได้ปฏิบัติงานสำคัญประการหนึ่ง คือ สร้างความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องทุกหมู่เหล่า โดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนาแต่อย่างใด ดังนั้นเห็นได้จากการที่ผมได้จัดตั้งศูนย์ยะลาสันติขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการก่อการร้ายให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย โดยขณะนี้มีพี่น้องของเราได้รับการประกันตัวจากเรือนจำ และบางคดีศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้วจำนวน 65 คน รวมทั้งยังมีผู้ต้องหาอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอประกันตัวอีกด้วย
และก่อนหน้านี้ผมได้ประสานงานให้ความช่วยเหลืออุสตาซชาวยะลา 2 ท่าน ซึ่งถูกดำเนินคดีในประเทศกัมพูชาจนได้รับอิสรภาพกลับมาแล้ว จึงเป็นสิ่งที่เรายืนยันได้ว่าผมและทางราชการมีความจริงใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับจังหวัดยะลาของเราอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันผมกำลังริเริ่มโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า คนชรา ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องและเป็นธรรมเท่าเทียมกัน
ดังนั้นจึงขอแจ้งมายังพี่น้องทั้งหลายว่า หากท่านผู้ใดเห็นว่าตนเองหรือครอบครัวของท่านไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง ใส่ความ ขอได้โปรดแจ้งให้ผมได้รับทราบเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขให้ท่านโดยตรง ที่หมายเลขโทรศัพท์ 089-2030467 หรือเขียนจดหมายถึงผม รวมทั้งท่านสามารถติดต่อผมผ่านเว็บไซต์จังหวัดยะลา www.yala.go.th ได้อีกด้วย”
ทั้งหมดคือข้อความใน “จดหมาย” ที่ผู้ว่าฯกฤษฎาเขียนถึงพี่น้องชาวยะลาทุกคน โดยส่งผ่านอิหม่ามแต่ละชุมชน ผ่านนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่งของจังหวัด ด้วยหวังจะสื่อสารให้ถึงตัวพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด
ผู้ว่าฯกฤษฎา เปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า จังหวัดยะลาประสบปัญหาความไม่สงบ ในฐานะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้น้อมนำยุทธศาสตร์ พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ รู้รักสามัคคี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาหมู่บ้าน ชุมชน โดยแนวทางปฏิบัติราชการและภารกิจที่สำคัญคือ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการมอบหมายให้ "ผู้นำ 4 เสาหลัก" คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อิหม่ามและผู้อาวุโสของหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแก้ไขปัญหาหมู่บ้าน ชุมชนของตนเอง รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมด้วยการทำกฎกติกาหมู่บ้าน เรียกว่า “ฮูกมปาก๊ะ” เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง รวมทั้งอบรมลูกหลานเยาวชนให้พ้นจากพิษภัยของยาเสพติด
ส่วนการสร้างความเป็นธรรมและช่วยเหลือประชาชนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือบุคคลที่ถูกออกหมายจับหรือต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็ได้สนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการโดยมาแสดงตนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงปัจจุบันรวม 65 ราย
นอกจากนั้น ยังได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 339 ราย เป็นเงิน 53,326,503 บาท (53.3 ล้านบาท) ภายใต้แผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ครอบคลุม 3 เรื่อง คือ เยียวยาด้านชีวิต หมายถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์, เยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ และเยียวยาทรัพย์สิน
“ผมยืนยันได้ว่าการเยียวยาชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น เราสามารถเยียวยาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ณ นาทีนี้ไม่มีตกหล่น ส่วนเยียวยาทรัพย์สินนั้นยังมีค้างคาบ้าง เพราะบางคนขอมาก แต่รัฐจ่ายน้อย แต่ก็เหลือไม่ถึง 25 ราย อยากให้เข้าใจว่าการประเมินทรัพย์สินต้องใช้เวลา เพราะต้องให้แผนกช่างไปประเมินราคาทรัพย์สินด้วย”
“ปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ผมจะเอาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยลงพื้นที่เลย อย่างกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่เกิดเหตุระเบิดโชว์รูม มาสด้า ผมได้ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อำเภอ ช่างโยธา ตลอดจนเทศบาลร่วมกันรับแจ้งความเสียหายของทรัพย์สิน แล้วลงพื้นที่ประเมินราคากันทันที ซึ่งก็สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น” พ่อเมืองยะลา ระบุ
ผู้ว่าฯกฤษฎา ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ผลการสำรวจครั้งใหม่พบว่ามีผู้ด้อยโอกาสถึง 4,362 ราย ได้ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 885 ราย
“ณ ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือยังมีคนไม่หวังดีไปยุแยงชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และยังมีปัญหาวัยรุ่นติดพืชเสพติด (เช่น ใบกระท่อม) จึงทำให้เกิดโครงการล่าสุดคือ โครงการดาวะห์/ดาอี (ผู้เผยแผ่ศาสนา) โดยได้ขอให้ผู้นำที่เป็นอิหม่ามอ่านคุตะบะห์ทุกวันศุกร์ เน้นหนักในเรื่องการทำความดี ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ผมพยายามบอกกับพี่น้องจังหวัดยะลาตลอดว่าถ้าเรา ดูแลนกกรงหัวจุกอย่างไร ก็ขอให้กลับไปดูแลลูกหลานของทุกท่านอย่างนั้น” ผู้ว่าฯกฤษฎา กล่าว
น่าสนใจ “นัยยะ” ระหว่างบรรทัดทั้งในจดหมายและคำพูดของ “พ่อเมืองยะลา” ที่เทน้ำหนักของปัญหาไปที่ “ความไม่เป็นธรรม” ที่ชาวบ้านได้รับ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและความรู้สึกอย่างชัดเจน
การเดินหน้า “ปลดชนวน” ทางความรู้สึก เพื่อเอาชนะสงครามข่าวลือ คือแนวทางที่ได้รับการเสนอมาแล้วหลายครั้ง ทั้งจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และกลุ่มที่ทำงาน “สายพิราบ”
แต่การใช้สันติวิธีเอาชนะความรุนแรง เป็นเรื่องที่ต้องใช้สติ พละกำลัง และความอดทนมากมายเสมอ ทว่า...มีสันติสุขรออยู่ที่ปลายทาง
------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา