จุฬาราชมนตรีคนใหม่: หากความเป็นธรรมไม่เกิด สันติสุขก็ไม่มีทางเกิด
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“พี่น้องทั้งหลาย วันนี้ได้รับฉันทานุมัติมาทำหน้าที่ ได้รับภารกิจอันสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมดีกว่าท่านทั้งหลาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะพยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำความดี ขอให้ท่านผู้มีความรู้ความสามารถได้สนับสนุนช่วยเหลือผมด้วย และหากกระทำสิ่งที่มิชอบไม่ดีงาม ขอให้ช่วยยับยั้ง ท้วงติง เพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของท่านศาสดาตลอดไป และประการสุดท้ายขอให้ท่านพี่น้องทั้งหลาย ดำเนินอยู่ในกรอบอันดีต่อไป”
เป็นปฐมวาทะของ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ภายหลังได้รับความไว้วางใจจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค.2553 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคมที่ นายอาศิส ให้ไว้กับพี่น้องชาวไทยมุสลิมทั้งมวล
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอาศิสหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นในทุกประเด็น เนื่องจากยังไม่ได้รับพระบรมราชกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ กระทั่งเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ทำให้ นายอาศิส ยอมให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงการทำหน้าที่จุฬาราชมนตรี ในโอกาสที่ได้เดินทางไปบรรยายพิเศษเรื่องบทบาทหน้าที่ของอิหม่ามในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลต่อการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้องในพื้นที่ ในโครงการดะวะห์-ดาอี 2553 ที่ อ.เมือง จ.ยะลา
"ผมเป็นเด็กปอเนาะ ไม่ได้จบเมืองนอก แต่ได้เรียนรู้และทำงานกับผู้คนในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย มีเพื่อนและมิตรที่ดีช่วยแนะนำในสิ่งที่ดี ผมเชื่อในอำนาจของอัลลอฮ์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ทุกอย่างจะเป็นไปตามประสงค์ของพระองค์” นายอาศิส กล่าวในเบื้องแรก
เมื่อถามถึงความคาดหวังของพี่น้องมุสลิมต่อจุฬาราชมนตรีคนใหม่ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น นายอาศิส กล่าวว่า เขาไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนให้ช่วยเหลือกัน
“เมื่อมาอยู่ตรงนี้ ผมไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามประสงค์ของทุกคน หรือให้สำเร็จในทุกเรื่อง สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของพี่น้องทุกคน อย่าทิ้งผมไว้คนเดียว ช่วยกันขอดุอาให้อัลลอฮ์นำทางไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง จะทำอย่างไรถ้าอัลลอฮ์ไม่ช่วยก็ไม่มีทางสำเร็จ สิ่งที่ทำได้คือต้องช่วยกันขอดุอาและทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ผมจะพยายามทำเพื่อพี่น้องมุสลิมและทุกคน”
นายอาศิส บอกว่า สิ่งที่ตั้งเป้าเอาไว้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ตั้งใจที่จะทำ
“สิ่งแรกคือต้องทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีเป็นที่เชื่อถือของทุกฝ่ายก่อน มีทีมงานที่ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะหาทีมงานที่มีใจเป็นธรรมและมีความซื่อสัตย์มาร่วมกันทำงาน แต่เชื่อว่าอัลลอฮ์จะทรงประทานคนดีมีน้ำใจมาช่วยกัน”
นอกจากการเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยแล้ว ตำแหน่งจุฬาราชมนตรียังต้องทำหน้าที่วินิจฉัย (ฟัตวา) ในเรื่องต่างๆ อีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ นายอาศิส กล่าวว่า "เรื่องการฟัตวาเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำต่อให้มีความสมบูรณ์”
ส่วนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอาศิส กล่าวว่า ผู้นำศาสนาและโต๊ะอิหม่ามมีบทบาทในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน และยังเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในการปฏิบัติตามแนวทางอิสลามที่ถูกต้องด้วย
“บทบาทหน้าที่ของอิหม่ามและผู้นำศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบันมีผลต่อการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้องในพื้นที่ อิหม่ามและผู้นำศาสนารับอมานะห์ (ความรับผิดชอบ) ภารกิจจากพี่น้องในชุมชนให้มาเป็นผู้นำดูแลทุกข์สุขและปัญหาในชุมชนตลอดจนสังคม วิถีชีวิตของมุสลิมมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในทุกด้าน มุสลิมทุกคนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมัสยิดตั้งแต่เกิดจนตาย จิตวิญญาณของมัสยิดอยู่ที่โต๊ะอิหม่ามและผู้นำที่ดี ต้องคิดตรงนี้มากๆ ต้องฟูมฟักลูกหลานให้เติบโตเป็นคนดี โดยใช้มัสยิดเป็นพื้นฐานของชุมชน”
“ทุกวันนี้ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่มากที่สุดที่ทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งที่วัฏจักรชีวิตของมนุษย์มี 'สมองและสติสัมปชัญญะ' ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ สมองและสติสัมปชัญญะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจของผู้นำศาสนาที่ต้องตระหนักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน การให้ความรู้ผ่านการคุตบะฮ์สามารถทำให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ได้ ถ้าผู้นำในชุมชนมีความรู้จริง จะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้เป็นอย่างดีและเต็มที่”
การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จุฬาราชมนตรีคนใหม่เน้นย้ำ
“ต้องเข้าใจกฎแห่งการเป็นอยู่ เข้าใจการอยู่ร่วมกันโดยแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เกิดความเป็นธรรมแนวราบ ให้มัสยิดมีบทบาทมากกว่าที่ผ่านมา เรากำลังต้องการผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้ชุมชนได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือครอบครัวเป็นสถาบันแรกและสำคัญที่สุดของสังคม ครอบครัวต้องเข้มแข็ง พ่อแม่ต้องเข้าใจความหมาย บทบาทและหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติได้อย่างดี ให้ครอบครัวเป็นเกราะป้องกันคุ้มครองลูก เพราะครอบครัวดีมาจากพ่อแม่ เมื่อทุกคนในครอบครัวดี ชุมชนและสังคมที่ดีก็จะตามมา”
ส่วน "ความเป็นธรรมแนวราบ" ที่พูดถึงนั้น นายอาศิส ขยายความว่า เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยความเป็นธรรมมี 2 แบบ แบบที่มักพูดถึงกันคือความเป็นธรรมในแนวดิ่ง จากบนลงล่าง หรือความเป็นธรรมจากการปกครอง แต่ในความเป็นจริงความเป็นธรรมในแนวราบ หรือความเป็นธรรมจากผู้คนในพื้นที่เป็นเรื่องใหญ่กว่า
“อัลลอฮ์จะช่วยเหลือเมื่อมีความเป็นธรรมเท่านั้น หากทั้งความเป็นธรรมแนวราบและแนวดิ่งไม่เกิดขึ้น สันติสุขก็ไม่มีทางเกิดเช่นกัน”
เป็นประเด็นสำคัญที่ทิ้งท้ายไว้ให้คิดของจุฬาราชมนตรีคนใหม่...อาศิส พิทักษ์คุมพล.
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- จุฬาราชมนตรีคนใหม่ที่ "ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู" กับภารกิจดับไฟใต้
- "อาศิส พิทักษ์คุมพล" จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของเมืองไทย กับความคาดหวังของคนชายแดนใต้