“หมอพรทิพย์”แจงทุกประเด็น คดีตายปริศนา “สุไลมาน แนซา”
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ผ่านมาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของใครหลายคน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเขาผูกคอตายเองจริงหรือไม่?
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) นำโดย นายกริยา มูซอ เลขาธิการ สนน.จชต. ได้เป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแสดงความโปร่งใสและแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจนเกิดความสูญเสียขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นการเสียชีวิตของสุไลมาน ยังเป็นกระแสร้อนแรงในพื้นที่ ทำให้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หมอผ่าศพชื่อดัง และเชี่ยวชาญด้านการตรวจสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ถึงกับต้องบินลงพื้นที่เพื่อไขข้อข้องใจด้วยตัวเอง
หมอพรทิพย์ เริ่มต้นอธิบายถึงการเสียชีวิตด้วยการ “แขวนคอ” หรือ “ผูกคอตาย” โดยบอกว่า การเสียชีวิตจากการแขวนคอ รัดคอ หรือบีบคอนั้น สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมาจาก 4 กลไก ประกอบด้วย
กลไกแรก สิ่งที่รัดไปกดโดนหลอดลม ซึ่งการกดโดนหลอดลมจะใช้น้ำหนักมาก เมื่อไหร่ที่เราแขวนคอ น้ำหนักตัวเราจะทิ้งลงมา ลิ้นของผู้ที่แขวนคอจะโผล่ออกมาจากปาก กรณีของสุไลมานถือว่าพบลักษณะลิ้นเป็นเช่นนั้น
กลไกที่สอง คือการกดโดนเส้นเลือดดำ ปมเชือกที่ใช้ผูกคอจะโดนเส้นเลือดดำ อาการของผู้เสียชีวิตในลักษณะนี้ ใบหน้าจะมีสีเข้มและจะมีจุดเลือดออกบนใบหน้า
กลไกที่สาม คือการกดโดนเส้นเลือดแดง เมื่อกดโดนเส้นเลือดแดงจะไม่มีอะไรให้เห็นเลย นอกจากลักษณะใบหน้าของผู้เสียชีวิตจะซีด
กลไกที่สี่ คือการกดโดนปุ่มอันหนึ่งซึ่งเป็นตัวควบคุมการเต้นของหัวใจ การกดโดนปุ่มนี้มักจะเจอในกรณีบีบคอ ซึ่งทั้ง 2-3 กรณีหลัง ไม่พบความผิดปกติเหล่านี้ในศพสุไลมาน
หมอพรทิพย์ กล่าวต่อว่า การตรวจสอบทางการแพทย์เกี่ยวกับกรณีการตายด้วยการแขวนคอนั้น แพทย์ผู้ชันสูตรจะพึงระวังเสมอ เพราะอาจจะเกิดกรณีเสียชีวิตมาก่อนแล้วจับแขวนคอก็ได้ แต่ในกรณีของนายสุไลมาน ยืนยันได้ชัดเจนว่า ขณะที่ผ้ารัดคอ นายสุไลมานยังมีชีวิตอยู่
“เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เหลือประเด็นถัดมาคือ เขาหมดสติแล้วถูกจับแขวนคอ หรือถูกจับแขวนแบบมีสติ กรณีที่มีสติแล้วถูกจับแขวนคอนี้เป็นไปได้ยากมาก ถามว่าเพราะอะไร คำตอบคือเท้าของผู้ตายแตะพื้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ หากเจ้าตัวไม่อยากตายจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย กรณีนี้มันคือการทิ้งน้ำหนักตัวของผู้ตายลงมาเอง”
“หากเป็นกรณีที่ถูกจับแขวนทั้งที่ยังมีสติหรือยังไม่ตาย จะพบในกรณีที่เท้าลอยขึ้นจากพื้น แต่กรณีนี้เท้าแตะพื้น จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่เราไม่คิดว่าเป็นการจับแขวนคอในขณะที่มีสติ เพราะไม่พบร่องรอยของการต่อสู้เลย ไม่มีร่องรอยอะไรที่ทำให้เห็น”
หมอพรทิพย์ บอกว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงตรงนี้ ก็จะเหลืออยู่ประเด็นเดียวที่เป็นไปได้คือ อาจจะหมดสติอยู่ แล้วมีการจับแขวนคอ
“คำว่าหมดสติที่เคยเจอมา อาจถูกไฟฟ้าช็อต ถูกวางยา ถูกอะไรต่อมิอะไรประมาณนี้ กรณีนี้หมออธิบายได้ว่า เป็นข้อจำกัดของหลักการทางศาสนากับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ หากไม่มีการผ่าศพพิสูจน์ ก็ยากที่จะทราบถึงสาเหตุในประเด็นเหล่านี้”
“เพราะหากเป็นกรณีที่ถูกทำให้หมดสติโดยใช้ไฟฟ้าช็อต ถ้าได้ผ่าศพพิสูจน์จะตรวจพบจุดที่เลือดออกจากเยื่อหุ้มหัวใจ แต่หากเขาโดนวางยาทำให้หมดสติ การเจาะเลือดจะตรวจสอบได้ ซึ่งในมุมนี้จะบอกได้ว่าเป็นการทำให้หมดสติก่อนหรือไม่ แต่เมื่อไม่ได้ทำการผ่าศพพิสูจน์ มันก็ตอบโจทย์นี้ไม่ได้”
“เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็คงเหลือเพียงประเด็นเดียวที่จะตรวจสอบได้ คืออุปกรณ์ที่เขาใช้ในการแขวนคอ ซึ่งจากที่ได้รับทราบมา ทางญาติของผู้ตายได้นำมาให้ผู้ตายก่อนจะเกิดการแขวนคอ 1 วัน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ต้องบอกว่าเหลือพยานชิ้นสุดท้าย ซึ่งก็คือผลการตรวจดีเอ็นเอบนอุปกรณ์ที่ผู้ตายใช้ การตรวจรอบแรกนั้นไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่นเลย และตอนนี้จะขอผ้าผืนที่ใช้ผูกคอตรวจหาดีเอ็นเออีกรอบหนึ่ง”
หมอพรทิพย์ บอกอีกว่า การเข้าไปตรวจสอบหรือเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุของทีมที่เข้าไปนั้น ได้กำชับเรื่องการเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุให้มากที่สุด อย่างกรณีของผ้าที่เป็นอุปกรณ์ในการผูกคอ ได้กำชับไว้เลยว่าห้ามแกะปมผ้า สิ่งนี้ทำให้ทราบว่า ปมของผ้าในการผูกคอตายนั้นไม่ใช่เงื่อนตาย แต่เป็นเงื่อนในลักษณะที่สามารถรูดได้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการตรวจสอบดีเอ็นเอ จะตอบได้ว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตายหรือไม่ หากไม่พบดีเอ็นเอของบุคคลอื่นตามที่ตรวจสอบแล้วในเบื้องต้น การสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจะมีน้ำหนักไปทางผูกคอตายเอง
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังขาว่าหากผูกคอตายเอง ทำไมเท้าจึงยังแตะพื้นอยู่นั้น หมอพรทิพย์ อธิบายว่า การผูกคอตายด้วยท่าทางเช่นนี้ ส่วนตัวเคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ถือว่าเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่ขาแตะอยู่กับพื้น
“กรณีแบบนี้ไม่ค่อยน่าสงสัยเหมือนกับกรณีผูกคอตายแล้วเท้าลอยขึ้นจากพื้น เพราะเมื่อพิสูจน์แล้วส่วนใหญ่พบว่า กรณีที่ผูกคอตายแล้วขาลอยจากพื้น มักเป็นการกระทำจากคนอื่นแทบทั้งสิ้น”
“หลายคนสงสัยว่าผูกคอตายแล้วขายังแตะพื้นอยู่จะตายได้หรือ กรณีที่ผู้ตายผูกคอตายเองนั้น บางคนเอาเชือกผูกกับโต๊ะแล้วคว่ำหน้าลงไปกับพื้นแล้วตายก็เคยมีมาแล้ว กรณีเช่นนี้มันอยู่ที่น้ำหนักตัวที่ถูกทิ้งลงไป อย่างการผูกคอกรณีของสุไลมาน ไม่เกิน 2 นาทีก็เสียชีวิตแล้ว เพราะผ้าจะไปกดเส้นเลือด ฉะนั้นมันทำให้ตอบได้ว่า กรณีของสุไลมาน คนอื่นทำให้ตายเป็นไปได้ยากมาก ในความหมายของการที่ยังมีสติอยู่ก่อนเสียชีวิต”
หมอพรทิพย์ ยังบอกด้วยว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด แล้วญาติติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิต ปัญหานี้แก้ไขได้หากมีการผ่าพิสูจน์ศพ
“ในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เขาก็อนุญาตให้ผ่าศพพิสูจน์เพื่อไขข้อข้องใจได้ กรณีที่เกิดขึ้นกับสุไลมานถือว่าจำเป็นต้องผ่าศพ เพื่อจะได้อธิบายถึงสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเขาถูกทำร้ายก่อนตายหรือไม่ ตามที่มีความสงสัยกัน จึงอยากให้ผู้นำศาสนาช่วยทำความเข้าใจหรือหาทางออกในเรื่องนี้ด้วย” หมอพรทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ (แฟ้มภาพ)