เด็กๆ ดีใจได้เปิดเทอมใหม่พร้อมเพื่อนภาคอื่น วอนเลิกยิงครู-หยุดเผาโรงเรียน
แม้จะยังไม่อาจวางใจได้ 100% แต่ก็ต้องถือว่าบรรยากาศวันเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่ชายแดนใต้ปีนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ยังไม่มีเหตุร้ายทำลายขวัญกันเกิดขึ้น เด็กๆ ทุกคนดีใจที่โรงเรียนเปิดได้ตามปกติ และหลายคนยังตั้งความหวังกับการพูดคุยสันตภาพระหว่างรัฐกับขบวนการบีอาร์เอ็นว่าน่าจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น ตามที่ได้ยินได้ฟังมาตามประสาเด็กด้วย
ด.ช.สารอฟ คะแด อายุ 13 นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านกือยา ต.ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี บอกว่า รู้สึกดีใจที่โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติเหมือนกับโรงเรียนในภาคอื่นๆ พวกเราจะได้เรียนตามปกติเหมือนเด็กอื่นๆ ไม่ต้องเลื่อนวันเปิดเรียนออกไปหรือต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว
"ผมไม่อยากให้มีการทำร้ายครู ไม่มีการเผาโรงเรียนอีก เพราะทุกครั้งที่ครูถูกทำร้ายหรือโรงเรียนถูกเผา ผลกระทบจะมาตกที่พวกเรา คือโรงเรียนต้องปิด พวกเราไปโรงเรียนไม่ได้ ครูก็ไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะกลัวเหตุการณ์ คิดว่าเปิดเทอมปีนี้จะไม่มีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับครูของพวกเรา"
ด.ช.มารุต กาแจ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.5 จากโรงเรียนบ้านพงกูแว อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่า เปิดเทอมใหม่ปีนี้อยากให้ครูมาสอนเร็วๆ อยากเรียนเร็วกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมาต้องรอถึง 9 โมงกว่าโรงเรียนจะเข้า และยังเลิกเร็วอีกด้วย
"ผมไม่ชอบเลย เพราะทำให้เราได้ความรู้น้อย วันนี้ดีใจมากที่โรงเรียนเปิดได้ตามปกติ แม้ต้องเห็นทหารอยู่ในโรงเรียนเยอะกว่าเมื่อก่อน แต่ถ้าเพื่อความปลอดภัยของครูก็คิดว่าทำใจยอมรับได้ ครูจะได้ไม่ต้องถูกทำร้าย ครูจะได้ไม่ต้องกลัวคนร้าย"
อย่างไรก็ดี ก่อนเปิดเทอมใหม่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ มีข่าวร้ายที่เกือบจะกลายเป็นจริงของเด็กไทยทั่วประเทศ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยุบ-ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คนเข้ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนและงบประมาณ
แน่นอนว่าพื้นที่ชายขอบอย่างชายแดนใต้ ซ้ำยังมีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบ 1 ทศวรรษ ย่อมมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คนจำนวนไม่น้อยทีเดียว
แม้ล่าสุดกระทรวงศึกษาฯได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่ยุบโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เด็กนักเรียนตัวน้อยๆ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานก็ยังอยากส่งเสียงถึงผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ด.ช.ดาเก็ม บาเฮ็ม อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกว่า รู้สึกงงและรู้สึกไม่ค่อยดีที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาการศึกษาด้วยการยุบโรงเรียน
"ผมไม่เอา ไม่อยากให้ยุบเลย การยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะยิ่งทำให้เป็นปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่นี้มีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นอยู่แล้ว โรงเรียนต้องปิดบ่อยๆ จนทำให้เด็กได้เรียนน้อย มีความรู้น้อยกว่าเด็กนักเรียนในพื้นที่อื่น ถ้าจะมายุบโรงเรียนขนาดเล็กอีก จะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น ที่ผ่านมามีเพื่อนๆ ในพื้นที่เยอะมากที่ไม่เรียนหนังสือแล้วถูกคนไม่ดีชวนไปทำในเรื่องไม่ดี ขายยาบ้าง เสพยาก็มี ฉะนั้นถ้ายิ่งยุบโรงเรียนปัญหาจะยิ่งมากกว่าเดิม"
ด.ญ.อามานี ลาเต๊ะ นักเรียนโรงเรียนบ้านกาโดะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส บอกว่า "ไม่เอา ไม่อยากให้ยุบโรงเรียน เพราะถ้าโรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบเป็นโรงเรียนของหนู หนูต้องไม่ได้เรียนหนังสือแน่ๆ ฉะนั้นอย่ายุบโรงเรียนหนูเลย หนูอยากเรียนหนังสือ"
ด้าน พาตีเมาะ จินตรา ครูโรงเรียนบ้านกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาล เพราะจะยิ่งเพิ่มปัญหา ที่ผ่านมาทุกคนตระหนักดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องการศึกษา ฉะนั้นหากได้เพิ่มความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เด็กๆ ก็จะได้ไม่หลงผิดไปทำเรื่องไม่ดี
"การที่แต่ละชุมชนมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ แม้จะมีการพัฒนาน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำให้เด็กๆ ขาดการศึกษา การปิดหรือยุบโรงเรียนในชุมชนจะทำให้เด็กไม่ได้เรียน โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ไม่มีกำลังพอที่จะส่งลูกไปเรียนยังที่ไกลๆ ได้"
เช่นเดียวกับ อิบราเฮ็ม ฮาวอ ครูในพื้นที่ จ.ยะลา ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น การปิดโรงเรียนคือการตัดโอกาสของเด็ก เพราะในพื้นที่นี้ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนมักให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่าการศึกษาของลูก
วันเปิดเทอมที่ชายแดนใต้ ไม่ได้มีเฉพาะครู นักเรียน และผู้ปกครองเท่านั้นที่ตื่นเต้น เห็นเป็นวันสำคัญ แต่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่ต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู นักเรียน และโรงเรียน ก็มองว่าวันเปิดเทอมใหม่เป็นวันพิเศษของพวกเขาเช่นกัน แต่เป็นความพิเศษคนละแง่มุม
"ช่วงนี้ก็ต้องเน้นหนักการรักษาความปลอดภัยครูตามแผนบูรณาการของกองทัพภาคที่ 4 ยิ่งอยู่ในช่วงเปิดเทอมใหม่ต้องเน้นหนักเป็นพิเศษ เพราะกลัวว่าคนร้ายจะมาดักทำร้ายครู ปีนี้มีการจัดกำลังเฝ้าทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงตามไหล่ทางซึ่งเป็นเส้นทางที่ครูเดินทางไป-กลับ และต้องเฝ้าตลอดทั้งวัน ต้องจัดทีมตระเวนส่งข้าวส่งน้ำกันเลย" เจ้าหน้าที่ทหารระดับหัวหน้าชุด รปภ.ในพื้นที่ ระบุ
มาตรการที่ปรับกันใหม่ไม่ได้เข้มข้นเฉพาะแค่ที่พูด แต่ยังมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอีกหลายอย่าง เช่น ใช้ชุดลาดตระเวนเดินเท้าแทนการใช้รถ เพราะปลอดภัยกว่า แม้จะเหนื่อย แต่หากถูกโจมตีด้วยระเบิดก็จะสูญเสียน้อย มีโอกาสยิงตอบโต้ได้บ้าง ถ้านั่งรถอาจจะตายยกคัน
ส่วนการรับโทรศัพท์ระหว่างปฏิบัติงานจะทำให้วอกแวก เสียสมาธิ จึงมีคำสั่งห้ามรับเด็ดขาด แม้พ่อแม่โทรมาก็ห้ามรับ แต่ให้โทรกลับเมื่อเสร็จภารกิจ
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการเน้นย้ำกัน ก็คือ การรับฝากสิ่งของจากชาวบ้าน เพราะคนร้ายมักทำทุกวิถีทางให้เจ้าหน้าที่เปิดช่องโหว่ วิธีที่นิยมใช้คือหลอกให้ชาวบ้านนำของฝากมาให้เยอะๆ เมื่อชาวบ้านให้เยอะ เจ้าหน้าที่ก็ต้องถือด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไม่สามารถจับอาวุธได้ เวลาเกิดเหตุร้ายก็ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้
สำหรับปัญหาใหญ่ที่เป็นตัวเร่งสถานการณ์และฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังคือ การออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือการยัดคดีให้กับผู้ต้องหาทั้งๆ ที่คนคนนั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว
"คงจะเคยได้ยินข่าวที่บางคนมีหมายเยอะมาก บางส่วนเป็นเพราะเจ้าหน้าที่บางหน่วยไปให้ข่าวกับสื่อ และสุดท้ายก็สร้างความเคียดแค้นชิงชัง ทุกคนมีญาติมีพี่มีน้อง เขาก็ต้องโกธรและรู้สึกไม่ดีกับเราที่ยังทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่ การก่อเหตุรุนแรงก็จะมาเกิดกับเรา ไม่ไปเกิดกับคนที่ให้ข่าว หลายครั้งเราเองยังตกใจกับข่าวที่ออกมาว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่จากข้อมูลที่มีของเรารู้ว่าคนที่เจ้าหน้าที่พูดถึงนั้นไม่ได้อยู่บ้านหลายปีแล้ว"
จากประสบการณ์ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนผ่านไปใหม่ๆ (ปี 2547) ทำให้ทหารรายนี้ตระหนักดีว่า พลังสำคัญที่จะเป็นกำแพงให้กับชุด รปภ.ครู ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นชาวบ้านในพื้นที่นั่นเอง
"ชาวบ้านเท่านั้นที่จะเป็นกำแพงให้กับเรา หลายๆ ครั้งพอจะมีเหตุ ชาวบ้านจะโทรศัพท์มาแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง ก็ทำให้เราปลอดภัย และผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้" เขากล่าว
กับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน หัวหน้าชุด รปภ.ครู มองว่า เหตุการณ์ดูจะหนักขึ้น เพราะมีหลายปัจจัยแทรกเข้ามา ทั้งยาเสพติด น้ำมันเถื่อน กลุ่มผู้มีอิทธิพล ดูแล้วสงบยาก ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้สงบเสียที อยากกลับบ้าน เพราะคิดถึงลูก
"ผมได้ข่าวว่ารัฐบาลไปพูดคุยสันติภาพ ก็ได้แต่หวังว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และหวังว่าปีนี้จะไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นกับครู และโรงเรียนไม่ถูกเผา แต่ไม่รู้ว่าความหวังของผมจะเป็นจริงได้หรือเปล่า"
ความหวังของทหาร ครู และเด็กๆ ที่ชายแดนใต้ดูจะไม่ต่างกัน...ทุกคนเฝ้าฝันถึงสันติภาพ...แต่เป็นสันติภาพที่ยังมองไม่เห็น!