‘รฟท.-รฟม.-บีทีเอส’ หนุนกู้เงิน 2 ล้านล้าน หวังพลิกโฉมระบบรางประเทศไทย
ดร.อาณัติ อาภาภิรม หนุนเมืองไทยควรมีรถไฟความเร็วสูง แต่มีด้วยความจำเป็น ระมัดระวัง ไม่ใช่เพื่อทันสมัย แนะทำแบบสั้น ๆ ก่อน สร้างไปเรียนรู้ไป หลังจำศิล หยุดนิ่งกับระบบรางมานาน
(16 พ.ค.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีหัวรถจักรที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศไทย ในหัวข้อ "Rolling Stock Technology Symposium" โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิตหัวจักรชั้นนำของโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหัวรถจักรทุกประเภท ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเขตเมือง ระบบรถดีเซล และระบบรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบโมโนเรล ในการนี้มี ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (รฟม.) และ กรรมการบริษัท ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงนโยบายที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการเงินกู้สองล้านล้านบาทของรัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาการขนส่งระบบรางนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะในระยะยาวจะประหยัดกว่าค่าขนส่งทางถนนมาก
"ที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนด้านระบบรางน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ทั้งนี้จะเป็นเงินสำหรับการพัฒนาระบบรถไฟราว 1.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการปรับปรุงรถไฟเดิมและการสร้างรถไฟความเร็วสูง"
นายประภัสร์ กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการปรับปรุงรางให้เป็นรางคู่ทั้งประเทศ และจะมีทางสายใหม่ 3 เส้นทาง รวมถึงพัฒนาหัวรถจักร กับตู้โดยสารเพิ่มเติม ซึ่งกำลังประกาศให้เอกชนเข้าเสนอราคาหัวรถจักร 50 หัว และตู้โดยสาร 115 ตู้ และหวังว่าในอนาคตจะพัฒนาเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้น 4 เส้นทาง คือ เชียงใหม่ โคราช หัวหิน ระยอง นั้น ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ที่กำลังจะออก คือ ให้อำนาจ กระทรวงการคลังไปกู้เงิน ยังไม่เกี่ยวกับเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลบอกกับสภา โดยกระบวนการขออนุมัติโครงการก็จะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่มีการใช้วิธีพิเศษ คือ ต้องทำเรื่องเสนอ มีการศึกษารายละเอียด ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงจะมีการไปกู้เงิน
"ที่มีข่าวว่าจะไปกู้เงินสองล้านล้านมากองไว้ ไม่ใช่ จะกู้ต่อเมื่อโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น” ผู้ว่าการ รฟท. กล่าว
รฟม.ชมเปาะรัฐจริงใจพัฒนาระบบรถไฟฟ้า
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (รฟม.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553 ทำให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 400 กิโลเมตร โดย รฟม. รับผิดชอบประมาณ 230 กิโลเมตร เป็นจำนวน 6 สาย มูลค่าการลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างทุกสายไม่เกินปี 2558 และให้เปิดให้บริการได้ไม่เกินปี 2562 ตั้งเป้าผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อวัน ในราคา 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะต้องใช้เงินอุดหนุนสูงมาก การขาดทุนก็จะมากขึ้นด้วย
ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าใหม่ 6 สาย เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่สำคัญสองฉบับ คือ พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน กับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ โดย พ.ร.บ.เงินกู้เป็นตัวสะท้อนว่า รัฐบาลมีความจริงใจกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพราะถ้าไม่ใช้ พ.ร.บ.เงินกู้จะไม่สามารถดำเนินการได้ใน 8 ปี เพราะจะติดเพดานหนี้สาธารณะที่จำกัดไว้ที่ 20% ต่อปีของงบประมาณแผ่นดิน และจะทำให้เกิดความคล่องตัวตามมา เนื่องจากการกู้ครั้งนี้กระทรวงการคลังไม่ต้องมาขอครม.เป็นครั้ง ๆ อีกต่อไป สามารถกู้เงินล่วงหน้าเตรียมเงินรอไว้ได้ แต่ยังคงให้ครม.อนุมัติเป็นรายโครงการเหมือนเดิม
ส่วน พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้คล่องตัวกับการร่วมทุนกับเอกชน มากกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 2535 กม ฉบับนี้ผ่านสภาแล้ว ประมาณเดือนตุลาคมนี้จะสามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะมีกระบวนการทำราคากลางตามกฎหมายที่ ป.ป.ช. กำหนด
หนุนไทยควรมีรถไฟความเร็วสูงแบบสั้นๆ
ด้าน ศ.ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัท ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กล่าวว่า นโยบายสาธารณะด้านระบบขนส่งทางบกไทยในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา เน้นพัฒนาแต่ระบบถนน จนจำศีลระบบราง ปัจจุบันจึงเป็นสภาวะความไม่สมดุลของทั้งสองระบบ ประชาชนนิยมใช้ระบบถนนเนื่องจากมีคุณภาพมากกว่า ขณะที่ระบบรางยังด้อยคุณภาพ เช่น รถไฟที่ไม่ตรงเวลา ดังนั้นถึงเวลาที่ควรจะสร้างการแข่งขันทั้งสองระบบให้สมดุลกัน
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อาณัติ ยังแสดงความเห็นด้วยว่า เมืองไทยควรมีรถไฟความเร็วสูง เป็นการมีด้วยความจำเป็น ไม่ใช่เพื่อทันสมัย แต่อยากให้มีแบบระมัดระวัง มีแบบสั้น ๆ ก่อน โดยสร้างไปเรียนรู้ไป
“เราหยุดนิ่งกับระบบรางมานานมาก มายุคนี้จะพัฒนาก้าวกระโดดทันที การลงทุนจะสูง ต้องสร้างด้วยความเร็วที่สมเหตุสมผล และต้องมีโครงสร้างการบริหารที่เหมาะสมมารองรับกิจกรรม และเงินจำนวนมากขนาดนี้ อาจมีการสร้างหน่วยงานใหม่ หรืออาจรื้อฟื้นกรมรถไฟขึ้นใหม่ เพราะจะตั้งงบประมาณได้เอง แล้วมอบให้การรถไฟดำเนินการ เพื่อให้การแข่งขันสมดุลมากขึ้น” ศ.ดร.อาณัติกล่าว