“จรูญ ทองนวล” กับหนังสือรวมภาพถ่ายบันทึกเรื่องราวจากปลายด้ามขวาน
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ใครบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ภาพถ่าย 1 ภาพแทนคำพูดได้นับร้อยนับพันคำ” ถือเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ เพราะหลายๆ ครั้ง “ภาพถ่าย” สามารถบอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ และสะเทือนความรู้สึกได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าการบรรยายด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือมากมายเป็นไหนๆ
ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คนมากมายติดตามข่าวสารจากสื่อแขนงต่างๆ ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ แน่นอนว่านอกเหนือจากเนื้อหาข่าวที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษร และคำพูดของผู้ประกาศข่าวแล้ว ยังมี “ภาพถ่าย” ที่ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน
ช่างภาพฝีมือดีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อาจจะมีหลายคน แต่ถ้าเอ่ยถึง "ช่างภาพข่าว" มือรางวัลที่ถ่ายภาพเป็นอาชีพ และเกาะติดสถานการณ์มาตลอดตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหาร เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เรื่อยมากระทั่งถึงปัจจุบัน คงจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ จรูญ ทองนวล ช่างภาพจากเครือเนชั่น
เรียกว่าถ่ายมาตั้งแต่กล้องยังใช้ “ฟิล์ม” มาจนถึงยุค “กล้องดิจิตอล” กันเลยทีเดียว
เชื่อหรือไม่ว่ามีภาพที่บันทึกผ่านคมเลนส์และชัตเตอร์ของเขากว่า 50,000 ภาพ ทั้งภาพเหตุการณ์ที่ใช้ประกอบข่าว และภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งนำไปประกอบสกู๊ป หรือบันทึกเก็บไว้เองจากความประทับใจ
ล่าสุด บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ได้คัดสรรภาพที่น่าสนใจมากกว่า 200 ภาพ จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพข่าวจากชายแดนใต้ในชื่อ “Heaven On Earth” ร่อนลงแผงหนังสือทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้
จรูญ หรือที่น้องๆ สื่อมวลชนในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “บังรูน” บอกเล่าเส้นทางชีวิตการมาเป็นช่างภาพข่าวชายแดนใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ...
“มันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงประมาณปลายปี 2544 ตอนนั้นเนชั่นเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คือหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นหนังสือพิมพ์หัวสี ทำให้บริษัทมีแผนส่งช่างภาพจากสำนักงานในส่วนกลางไปประจำตามศูนย์ข่าวภูมิภาคต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปคนละ 1 เดือน เพื่อให้ได้ภาพข่าวที่มีคุณภาพส่งให้สื่อสิ่งพิมพ์ในเครือที่เพิ่งเปิดหนังสือพิมพ์หัวใหม่ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และสื่อออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ตด้วย”
“ต่อมาช่วงต้นปี 2547 สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดเริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง หรือกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตอนนั้นผมหมุนลงมาทำหน้าที่ช่างภาพประจำศูนย์ใต้อยู่พอดี ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่นี่ และอยู้ยาวมาจนถึงปัจจุบัน”
จรูญ บอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพและทำข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้มากมาย แม้จะไม่ทั้งหมด แต่เหตุการณ์ใหญ่ๆ โดยมากมักไม่เคยพลาด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลแค่ไหน ก็ต้องพยายามไปให้เห็นข้อเท็จจริง
ด้วยเหตุนี้ ภาพความสูญเสีย รอยเลือด คราบน้ำตาของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ จึงผ่านการบันทึกด้วยมือและกล้องคู่ใจของเขาแทบทุกเหตุการณ์
“ในช่วงต้นๆ หลังเหตุการณ์ปล้นปืนและเผาโรงเรียน ผมพักอยู่ที่ จ.นราธิวาส ช่วงนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทุกวัน บางวันหลายเหตุการณ์ด้วยซ้ำ เช้าเกิดเหตุที่ปัตตานี เย็นเกิดเหตุที่ยะลา ค่ำเกิดเหตุที่นราธิวาส เรารู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วจากวิทยุสื่อสาร หรือไม่ก็เพื่อนนักข่าวประจำจังหวัดโทรศัพท์มาบอก ก็ต้องรีบเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุทันที”
“ช่วงต้นปี 2547 มีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ช่วงหัวค่ำ ถ่ายภาพเสร็จเกือบ 5 ทุ่ม ขับรถกลับไปพักที่ จ.นราธิวาส ถึงที่พักเกือบตีหนึ่ง นั่งกินข้าวต้มกับนักข่าวที่อยู่ด้วยกัน เดินทางเข้าที่พักประมาณตี 2 แยกย้ายกันไปอาบน้ำเข้านอน ยังไม่ทันหลับก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากเพื่อนนักข่าวว่าเกิดเหตุโจมตีโรงพักอัยเยอร์เวง ที่ อ.เบตง จ.ยะลา อีก ทั้งๆ ที่จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากที่พักเกือบ 150 กิโลเมตร แต่ก็ต้องรีบหิ้วอุปกรณ์เดินทางออกจากที่พักทันที วันนั้นผมกับเพื่อนนักข่าวเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเกือบ 6 โมงเช้า ถือว่าเราเป็นสื่อมวลชนจากนอกพื้นที่กลุ่มแรกที่ได้เข้าไปถึงที่เกิดเหตุเพื่อเก็บภาพและรายงานข่าว”
การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เกาะติดเหตุการณ์แบบลืมเหนื่อย ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และนั่นทำให้ จรูญ ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ
“ช่วงที่รถคว่ำยังอยู่ในช่วงปี 2547 ตอนนั้นทำงานกันมากเกินไป พักผ่อนน้อย นอนไม่พอ ร่างกายอ่อนล้ามาก พอขับรถก็เลยหลับใน รถเสียหลักตกข้างทางแล้วพลิกคว่ำ โชคดีที่เกิดเหตุในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ทำให้มีคนมาพบและให้ความช่วยเหลือเอาไว้ได้ทัน แต่ผมก็ต้องนอนโรงพยาบาลอยู่นานนับเดือน จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผมพยายามระวังตัวมากขึ้น”
จากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงมาหลายปี จรูญ บอกว่าหลักการทำงานสำคัญที่สุดที่ต้องยึดเอาไว้ คือเรื่องความปลอดภัย
“ผมจะย้ำกับตัวเองตลอด รวมถึงบอกกล่าวกับเพื่อนๆ น้องๆ ช่างภาพและนักข่าวที่ร่วมงานด้วยกันอยู่เสมอว่า ได้งานดี แต่เอาตัวรอดออกมาไม่ได้ มันก็ไม่มีค่า ชีวิตคนทำงานสำคัญมากกว่างานที่ต้องทำ”
เล่าถึงตรงนี้ ทำให้ จรูญ นึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2551 คนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คนพร้อมอาวุธสงคราม กราดยิงคนงานก่อสร้างของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประสานวิทยา ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 5 ศพคารถกระบะขณะลงไปเปิดประตูโรงเรียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องตอกย้ำกับตัวเองเรื่องความปลอดภัย
“หลังเกิดเหตุไม่กี่นาที ผมขับรถอยู่บนถนนสาย 410 ใกล้ๆ กับจุดเกิดเหตุพอดี เลยตัดสินใจขับรถตามหลังรถตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุ โดยลืมไปว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้าไปเคลียร์ที่เกิดเหตุเลย อาจจะโดนซุ่มโจมตีก็ได้ ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าผมเสียวมาก เพราะไปถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรกๆ เลย ยังนึกด่าตัวเองอยู่ในใจว่า ทำไมไม่เข้าไปตอนเขาเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นไปได้ไหมที่คนร้ายจะซุ่มปะปนอยู่กับชาวบ้านทั่วไปเพื่อดูผลงานของตนเอง แล้วก่อเหตุซ้ำอีกเพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ผมคงคิดไม่ทันแน่ว่าจะวิ่งไปหลบตรงไหนดี”
การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่ช่างภาพต้องตระหนักนอกเหนือจากความปลอดภัย ก็คือต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้ ทั้งผู้คน สถานที่ และวัฒนธรรม เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ
“ผมเป็นคนสงขลา แม้จะไม่ใช่พื้นที่สามจังหวัด และไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ก็รู้และเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะมีเพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่สมัยเด็กหลายคน ทำให้ปรับตัวได้ง่าย”
“มีหลายคนสงสัยว่า หากไปเจอชาวบ้านมุสลิม เราควรทักทายเขาแบบไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สำหรับผมนั้นหากชาวบ้านทักทายมาด้วยการสลามก่อนที่เราจะทักทายเขา เราก็ต้องรับสลาม แต่หากเรามีโอกาสทักก่อน ผมคิดว่าการยกมือไหว้เป็นการทักทายที่ดีที่สุด เพราะได้แสดงความจริงใจกับชาวบ้าน หากเราไม่รู้และเข้าใจการสลามแล้วไปทำแบบถูกๆ ผิดๆ จะยิ่งสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี”
อีกสิ่งหนึ่งที่ จรูญ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานในพื้นที่ คือการฟังคำแนะนำจากชาวบ้าน
“ชาวบ้านเขาเป็นคนในพื้นที่ หากเขาห้าม เขาเตือนว่าตรงนั้นตรงนี้มีอันตราย เราต้องฟังคำเตือนเหล่านั้น อย่าไปคิดว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายๆ ขึ้นแล้ว ชาวบ้านต้องเป็นคนไม่ดีเหมือนคนที่ก่อเหตุทั้งหมด เพราะชาวบ้านที่ดีๆ ในพื้นที่มีเยอะ ที่เขาปรารถนาดีและมีน้ำใจกับเราในฐานะคนต่างถิ่น”
และน้ำใจจากพี่น้องมุสลิมก็เคยทำให้เขาตื้นตันในหัวอกมาแล้วหลายครั้ง
“มีครั้งหนึ่งผมเดินทางไปทำข่าวที่หมู่บ้านติดกับเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นหมู่บ้านของชาวไทยมุสลิมล้วนๆ ขณะที่คอยแหล่งข่าวที่จะไปสัมภาษณ์ เห็นต้นเงาะโรงเรียนของชาวบ้าน ผลเงาะสุกแดงไปทั้งต้น จึงคิดขอซื้อสัก 5 กิโลฯจากลุงเจ้าของสวน ลุงก็เก็บเงาะมาให้เกือบ 1 กระสอบ พร้อมกับบอกว่าไม่เอาสตางค์ ให้เอาไปกินฟรีๆ เพราะเก็บไว้ก็ทานไม่หมด จะขายก็ได้ไม่กี่บาท สู้มอบให้เป็นของฝากแขกแปลกหน้าที่มาเยือนถึงหน้าบ้านดีกว่า เพราะไม่แน่ว่าวันหน้าวันหลังจะได้เจอกันอีกหรือไม่”
จรูญ ยังให้ทัศนะเกี่ยวกับการถ่ายภาพทั่วๆ ไป กับการถ่าย “ภาพข่าว” หรือ โฟโต้ เจอนัลลิสต์ (Photo Journalist) ว่า มีความแตกต่างกันไม่น้อย
“การถ่ายภาพข่าวเป็นศาสตร์เฉพาะทางวิชาชีพที่แตกต่างจากช่างภาพในสายอื่นๆ การจะเป็นช่างภาพข่าวได้นั้น ต้องเป็นคนที่ติดตามข่าวสาร และมีความรู้ในข่าวไม่ต่างอะไรกับนักข่าวที่ทำข่าวนั้น ต่างกันเพียงการนำเสนอข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาเป็นภาพ”
“ช่างภาพข่าวที่ดีต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง ทำการบ้านก่อนเสมอ พัฒนามุมกล้องในการถ่ายภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในงานที่ถ่าย เพราะอย่าลืมว่าคนที่อ่านข่าวสารและดูภาพข่าว เขาก็ต้องการอะไรใหม่ๆ เช่นกัน ไม่ใช่ถ่ายภาพอยู่แต่มุมเดิมๆ คล้ายๆ กันตลอด”
และด้วยความที่เป็นช่างภาพที่มีมุมมองการถ่ายภาพและการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา ทำให้ จรูญ ได้รับรางวัลผลงานภาพข่าวยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพข่าวขององค์กรวิชาชีพสื่อหลายต่อหลายครั้ง
“ผมเคยได้รางวัลจากการประกวดภาพข่าวที่ทางเนชั่นส่งเข้าประกวดหลายรางวัล อย่างเช่น รางวัลจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มา 4 ปี รางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดภาพข่าวของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์อาเซียน ปี 2548 และรางวัลสื่อสร้างสรรค์ที่รับผิดชอบต่อสังคม ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2550”
นอกเหนือจากรางวัลที่การันตีความสามารถด้านวิชาชีพแล้ว จรูญยังเป็นช่างภาพจากสายข่าวเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ไปร่วมงานกับช่างภาพจากทั่วโลกในโครงการ Thailand 9 days in The Kingdom
“โครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจมาก เพราะมีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 11 ช่างภาพชาวไทยไปร่วมงานกับช่างภาพอีก 55 คนจากทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพประเทศไทยในโครงการ Thailand 9 days in The Kingdom เพื่อจัดพิมพ์หนังสือภาพเนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2550 โดยรับผิดชอบถ่ายภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมงานกับช่างภาพฝีมือดีทั่วโลก”
สำหรับหนังสือรวมภาพ “Heaven On Earth” ถือว่าเป็นผลงานรวมเล่ม เล่มแรกในชีวิตการเป็นช่างภาพของจรูญ ซึ่งแต่ละภาพที่คัดสรรมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ทุกแง่มุม
เขาได้เขียนถึงเจตนารมณ์ของการจัดทำหนังสือรวมภาพเล่มนี้เอาไว้ในบทนำของหนังสือว่า “ภาพทุกภาพ คำทุกคำที่ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เพื่อตอกย้ำความเจ็บปวดของสังคม แต่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันว่า ครั้งหนึ่งเกิดอะไรขึ้นบนพื้นที่ปลายด้ามขวานของประเทศไทย”
ลองพลิกดูแต่ละภาพแล้วจะรู้ว่า “ภาพๆ เดียวแทนคำนับพัน” จริงๆ
-------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ปกหนังสือรวมภาพ Heaven On Earth
2-3 จรูญ ทองนวล