เมื่อลูกศิษย์เป็นแนวร่วมป่วนใต้…ความจริงจากหัวใจของครูบันนังสตา!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ขณะที่รัฐบาลสั่งให้โรงเรียนทุกแห่งในกรุงเทพฯเลื่อนวันเปิดเทอมใหม่ออกไปอีก 1 สัปดาห์จากปัญหาความรุนแรงกลางเมืองหลวง แต่ครูที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องออกไปสอนหนังสือตามปกติในเช้าวันนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อ 10 วันก่อนหน้า เพิ่งมีครูถูกยิงเสียชีวิตไปอีก 1 คน
เป็นศพที่ 128 ของบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องเซ่นสังเวยให้กับสถานการณ์ความไม่สงบที่ปลายด้ามขวานในห้วงเวลา 6 ปีเศษที่ผ่านมา...
เรื่องเศร้าของครูชายแดนใต้ประหนึ่งนิยายเรื่องยาวที่เล่าขานกันไม่รู้จบ แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือความรู้สึกของครูคนหนึ่งซึ่งต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า “ลูกศิษย์ของฉันเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ”
เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กับครูสาวตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบันนังสตาโดยกำเนิด
“ฉันเป็นคนบันนังสตา เติบโตและเรียนหนังสือที่บันนังสตา ฉันมีเพื่อนเป็นมุสลิมหลายคน มีความรักความผูกพันกันมาตั้งแต่เด็กๆ ฉันเรียนจบจากในพื้นที่ และไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กระทั่งจบปริญญาและกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด”
ปี 2541 ครูสาวก็เริ่มอาชีพสอนหนังสือ และด้วยความที่เป็นคนพื้นที่ จึงไม่เคยคิดขอย้ายตัวเองไปที่ไหน ไม่ว่าสถานการณ์ที่บันนังสตาจะเลวร้ายสักเพียงใดก็ตาม
“ชาวบ้านมาขอร้องทุกวันไม่ให้ฉันย้ายออก ยิ่งมีเหตุรุนแรงเกิดถี่ขึ้น ชาวบ้านก็ยิ่งกลัวว่าฉันจะถอดใจ” ครูสาวบอก
ด้วยความที่เป็นคนบันนังสตา ทำงานและมีบ้านอยู่ที่บันนังสตา ทำให้ทุกๆ เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในอำเภอแห่งนี้ ผ่านการรับรู้ของเธออย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุซุ่มโจมตี “หมวดตี้” กับ “ผู้กองแคน” หรือ ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ กับ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข จนทั้งคู่ต้องทิ้งชีวิตไว้ที่บันนังสตา
ถามว่ากลัวไหม เธอตอบตรงๆ กว่า "กลัว" แต่นั่นยังไม่เท่ากับสถานการณ์ร้ายที่เธอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เอง คือโศกนาฏกรรมฆ่าและตัดศีรษะชุด รปภ.ครู ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในคณะครูที่ทหารผู้เคราะห์ร้ายทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย
“ตอนนั้นก็นั่งรถมาเหมือนปกติทุกวัน เมื่อถึงถนนสายกาโสด-เขื่อนบางลาง หมู่ 6 บ้านตาแลแป ต.บันนังสตา ก็สังเกตเห็นว่ารถมอเตอร์ไซค์ของทหารที่ขี่ตามหลังเรามาหายไป ยังนึกในใจว่าทำไมเขายังไม่มาอีกนะ มีอะไรหรือเปล่า จังหวะนั้นได้ยินเสียงปืน ทำให้คนขับรีบจอดรถ และบอกให้พวกเราลงไปหลบอยู่ข้างๆ รถ”
“พอเสียงปืนสงบ เราก็ขึ้นรถกำลังจะไปต่อ แต่ออกรถได้ไม่นานก็ได้ยินเสียงปืนอีกระลอก พี่ทหารคนหนึ่งบอกให้พวกเรารออยู่ตรงนี้ เดี๋ยวเขามา เราก็ลงไปหลบอยู่หลังบังเกอร์ของทหาร พักใหญ่ๆ ก็มีกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายเดินมาไหว้ แล้วพูดว่า ‘สวัสดีครับครู’ จากนั้นก็เดินผ่านไป”
แทบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง เพราะบางคนในกลุ่มนั้นคือลูกศิษย์ที่เคยเรียนหนังสือกับเธอ!
“ตอนที่มีเด็กผู้ชายมาไหว้พร้อมพูดคำว่าสวัสดีครับครู ฉันแทบล้มทั้งยืน เพราะจำได้ว่าเป็นลูกศิษย์ของเราเอง และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อเหตุ” เธอเล่าความรู้สึกที่อธิบายยาก และว่า “หลังจากวินาทีนั้น ฉันก็ถามตัวเองมาตลอดว่าเราไม่ดีตรงไหนถึงไม่สามารถสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีได้ ทำไมลูกศิษย์ของเราจึงหลงผิดไปทำเรื่องแบบนี้”
นั่นไม่ใช่ครั้งเดียวที่ครูสาวต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย แต่ยังมีอีกหลายครั้งที่เธอต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนในที่สุดต้องตัดสินใจหอบลูกน้อยย้ายไปอยู่ที่ตัวเมืองยะลา แม้ตัวเธอจะยังทำหน้าที่ครูที่บันนังสตาต่อไปก็ตาม
“ครั้งที่หนักที่สุดตอนนั้นอยู่ที่บ้านกับลูก จู่ๆ ก็มีเสียงปืนรัวยาวเข้ามาถึงในบ้าน ฉันตกใจมากจนอยู่ในบ้านไม่ไหว ต้องพาลูกวิ่งไปหลบในบ่อน้ำหลังบ้านที่พ่อฉันขุดเอาไว้ โชคดีตอนนั้นมันยังไม่มีน้ำ ฉันกลัวมาก กลัวที่สุด หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ฉันตัดสินใจบอกกับสามีว่าต้องพาลูกไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยกว่านี้แล้ว”
ปัจจุบันครูสาวยังสอนหนังสืออยู่ที่บันนังสตา และต้องเจอกับเหตุเขย่าขวัญแทบไม่เว้นแต่ละวัน...
“บางวันนั่งรถมาก็เจอตะปูเรือใบ บางวันนั่งรถไปกับเพื่อนครูก็ไปต่อไม่ได้ ต้องเลี้ยวรถกลับ เพราะทางข้างหน้ามีเหตุการณ์ วันนั้นก็ต้องงดสอนเด็กๆ ไปโดยปริยาย”
ครูสาวเล่าว่า สมัยก่อนเวลาจะเกิดเหตุรุนแรง มักจะมีชาวบ้านโทรศัพท์มาเตือนล่วงหน้า เช่น โทร.บอกว่าวันนี้อย่าไปโรงเรียนนะ จะมีเหตุ ซึ่งเท่าที่สังเกตดู วันไหนที่มีการเตือน เหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นจริงๆ
“เมื่อก่อนมีคนโทร.มาเตือนบ่อย แต่เดี๋ยวนี้เงียบหายไป แต่เราก็รู้สึกแปลกใจว่า ในเมื่อก่อนเกิดเหตุชาวบ้านยังรู้ล่วงหน้า ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่รู้และไม่สามารถจัดการอะไรได้”
จากประสบการณ์ในฐานะคนพื้นที่และผ่านเรื่องราวร้ายๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ครูสาวบอกว่า ปัญหาความไม่สงบไม่มีใครแก้ได้นอกจากคนในพื้นที่เอง ฉะนั้นการใช้โครงสร้าง "ผู้นำ 4 เสาหลัก" จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
“4 เสาหลักประกอบด้วยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และผู้นำทางธรรมชาติ ถ้าร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดูแลลูกหลานของตัวเองและคนในชุมชนให้ทั่วถึง ก็จะแก้ปัญหาได้แน่นอน”
เธอบอกว่าเคยมีคนมาแนะนำให้ย้ายออกจากพื้นที่ แต่รู้สึกเป็นห่วงเด็กๆ จึงไม่อาจตัดใจจากไป
“ฉันรักลูกศิษย์ทุกคนเหมือนลูกหลาน รักลูกอย่างไรก็รักนักเรียนของเราอย่างนั้น ทุกวันนี้เวลาสอนหนังสือก็จะพยายามสอดแทรกเรื่องการทำความดี เพราะไม่อยากให้ใครต้องหลงผิดอีก”
“ส่วนคนในครอบครัว คือลูกกับสามี แต่ละวันก่อนออกจากบ้านมักจะมองตากัน และพูดให้กำลังใจกันว่า ‘เดี๋ยวกลับมานะ เราจะเจอกันอีก’ ฉันพูดทั้งๆ ที่ไม่รู้หรอกว่าออกจากบ้านไปแล้วจะเจอกับอะไรบ้าง ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสามีและลูกหรือเปล่า เวลาได้ยินข่าวเหตุการณ์รุนแรงทุกครั้งก็ได้แต่ภาวนา นี่คือชีวิตจริงๆ ในแต่ละวัน”
ครูสาวบอกว่า แม้วันนี้เธอจะยังไม่ถอย แต่ยอมรับว่าท้อมากเหลือเกิน
“เหตุการณ์มันเกิดกับคนใกล้ตัว ทั้งญาติเรา ญาติเพื่อน แฟนของเพื่อน ต้องสังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 10 คน ยิ่งมารู้ว่าลูกศิษย์ของเราเป็นคนก่อเหตุอีก ยิ่งท้อใจมากที่เราไม่สามารถสอนให้พวกเขาเป็นคนดีได้ แต่ฉันเชื่อว่าเด็กๆ พวกนั้นไม่ได้ตั้งใจจะทำไม่ดี อาจจะมีเหตุจำเป็นที่ทำให้พวกเขาต้องทำ ไม่อย่างนั้นเขาไม่มาไหว้ฉันหรอก” ครูสาวน้ำตาคลอ...
เป็นน้ำตาของครูที่เปรียบเสมือน "เรือจ้าง" คอยแจวส่งลูกศิษย์ข้ามฟากไปให้ถึงฝั่งฝัน โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน...
---------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ครูสาวจากบันนังสตา