“พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา” กับการบ้านข้อยากบนเก้าอี้ ผกก.เมืองปัตตานี
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“เก่าไป ใหม่มา” เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ เมื่อ พ.ต.อ.มนัส ศิกษมัต ถูกย้ายด่วนพ้นเก้าอี้ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เมืองปัตตานี วันนี้ พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา ก็ได้รับคำสั่งให้กระโดดจาก ผกก.สภ.ปะนาเระ ไปรักษาราชการแทน
ชื่อของ พ.ต.อ.นฤชา แม้จะใหม่สำหรับ สภ.เมืองปัตตานี แต่ไม่ใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แน่นอน เพราะเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่นี้มานานถึง 8 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งฝากผลงานเอาไว้มากมาย
อย่างไรก็ดี พื้นที่อำเภอเมืองชายแดนอย่างปัตตานีซึ่งมีหลากหลายปัญหาทับซ้อนและซ่อนอยู่ใต้พรม ไม่ใช่มีแค่สถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ทำให้ พ.ต.อ.นฤชา ต้องเจอกับการบ้านข้อยาก ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ารู้สึกกังวล แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายไม่น้อย...
O วางนโยบายการดูแลพื้นที่เขตเมืองอย่างไร เพราะสภาพพื้นที่แตกต่างจาก อ.ปะนาเระ ที่เคยทำหน้าที่อยู่มากทีเดียว?
ความแตกต่างของพื้นที่คงเป็นเรื่องความหนาแน่นของประชากร และปัญหาทางสังคม แน่นอนว่าชุมชนเมืองย่อมมีปัญหามากกว่า และปัญหาของชุมชนชนบทย่อมเบาบางกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ความซับซ้อนและความกว้างของปัญหามันต่างกัน แต่ก็อาศัยตรงที่ว่าเราเคยอยู่นครบาลมาก่อน (หมายถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ผมเคยเป็นสารวัตรปราบปราม สน.ท่าเรือ มองว่านิยามความแตกต่างของพื้นที่คงมีเท่านั้น
สำหรับนโยบาย แน่นอนอันดับแรกเราต้องยึดยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นอกเหนือจากนั้นก็คือยุทธศาสตร์สันติวิธี เพราะผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงสามารถหยุดปัญหาได้เพียงชั่วคราว แต่ถ้าในระยะยาวจะแก้ปัญหาแบบยั่งยืนต้องใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธี เรื่องความไม่เข้าใจต่างๆ เราต้องถอยกันคนละก้าว แล้วหันหน้าเข้ามาคุยกันด้วยสันติวิธี และต้องให้อภัย ทุกอย่างต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ก็จบเลย จะเกิดความบาดหมางกันเพิ่มขึ้น ความแค้นก็จะลึกลงไปอีก และจะแก้ไขปัญหาไม่ได้
อีกด้านหนึ่งคือนโยบายของผู้บังคับบัญชา คือศูนย์ปฏิบัติการตํารวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ซึ่งปัจจุบันมีท่าน พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ เป็นผู้บัญชาการ แต่นโยบายตรงนี้ก็ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ท่าน พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แล้ว (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา สบ10 เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งมีคำนิยมก็คือ “เข้มแข็งอำนาจรัฐ ปฏิบัติยุติธรรม เลิศล้ำงานมวลชน”
“เข้มแข็งอำนาจรัฐ” ก็หมายถึงว่า หน่วยและกำลังพลต้องมีความพร้อม มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ และหน่วยจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน
“ปฏิบัติยุติธรรม” ก็คือการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ เพราะเรื่องของความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วน “เลิศล้ำงานมวลชน” ก็คือการทำงานมวลชนต้องมุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพราะการก่อความไม่สงบหรือลักษณะที่ใกล้เคียงกับการก่อการร้ายในปัจจุบันนั้น เขาใช้กองกำลังประจำถิ่น มียุทธศาสตร์และยุทธวิธี มีทั้งปฏิบัติการทางจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้กองกำลังประจำถิ่นเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตอบโต้ในสถานการณ์แบบนี้เราต้องใช้กองกำลังประจำถิ่น นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน
นี่คือ 3 นโยบายหลักๆ แต่ในส่วนของโรงพักเอง ผมก็มีนโยบายที่ไม่ยาก ก็แค่การปฏิบัติการเชิงรุก เพราะการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรุก ยกตัวอย่างเช่น การชกมวย เมื่อมีคู่ต่อสู้ การ์ดจะต้องไม่ตก เดินหน้าต่อย 1-2 ต้องชกเขา ยกการ์ดอย่างเดียวคงไม่ชนะหรอก มวยถ้าไม่ออกหมัดคงไม่ชนะ เพราะเราต้องยอมรับว่าวันนี้เรามีคู่ต่อสู้ ถ้าเปรียบการชกมวยมันก็เป็นความรุนแรง แต่การออกหมัดตอบโต้ของเราอาจจะไม่ใช่ความรุนแรงก็เป็นได้ บางทีอาจจะออกเป็นยุทธศาสตร์พระราชทาน ยุทธศาสตร์สันติวิธี
O ปฏิบัติการเชิงรุกที่พูดถึงมีอะไรบ้าง?
ในส่วนของ สภ.เมืองปัตตานี ชุดปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดสืบสวนสอบสวน ชุดมวลชนสัมพันธ์ ชุดป้องกันปราบปราม อะไรก็แล้วแต่เราต้องมีการปฏิบัติเชิงรุก เราจะรอให้เหตุเกิดก่อนไม่ได้ แต่จะต้องเข้าไปควบคุมสถานการณ์โดยการริเริ่มของเราเอง เรื่องของการริเริ่มก็คือการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามซึ่งจะมาแบบเหนือความคาดหมายอยู่เสมอ ลักษณะของการตอบโต้การก่อการร้ายจะต้องมีความยืดหยุ่น อ่อนตัว เอนกประสงค์ และมีความชาญฉลาดกว่า
ทั้งหมดนี้หมายถึงว่าทุกชุดปฏิบัติการจะต้องมีความคิดริเริ่มเอง ในขณะเดียวกันในพื้นที่เขตเมืองมีปัญหาอยู่ก็คือการควบคุมบุคคล ยานพาหนะ และสถานที่สำคัญ การป้องกันบุคคลแปลกหน้าต้องมีการตรวจสอบ และเมื่อมีบุคคลเหล่านี้เข้ามาต้องมีการรับแจ้งทันที ขณะเดียวกันเรื่องการปฏิบัติด้านอื่นๆ อย่างเช่นงานป้องกันปราบปราม จะเน้นการเคลื่อนไหว เน้นการตรวจเชิงคุณภาพ การตรวจเชิงรุก ปฏิบัติการลับ ลวง พราง บางส่วนมันต้องมี เราจะมีการเรียกตรวจแบบฉุกเฉิน
ส่วนด้านการสืบสวนก็จะเน้นไป 4 ด้านคือ 1.มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน 2.มีการเร่งรัดติดตามจับกุมบุคคลที่มีหมายจับและเข้ามาในพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน 3.ปิดล้อมตรวจค้น 4.การจัดตั้งแหล่งข่าวให้ครบทุกหมู่บ้านตำบล
แต่เราต้องยอมรับว่า สภ.เมืองนั้นมีปัญหา ผมไม่ได้ว่าใคร แต่เอาเป็นว่ามันมีปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตอบโต้สถานการณ์ก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ของเราหลายส่วนมีปัญหา ขวัญกำลังใจค่อนข้างจะตกต่ำ ผมมีหน้าที่มาปลุกและมาเร่งเขา ซึ่งผมเองไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ แต่นโยบายหลักๆ ของผมคือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน
O มองสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้เป็นอย่างไร?
ถ้าพูดถึงเหตุร้ายรายวันในภาพรวมทั้งสามจังหวัด ผมถือว่าลดลงนะ แต่ว่าในเชิงคุณภาพของเหตุการณ์เราต้องยอมรับว่าเหตุมันใหญ่ ผลของเหตุนั้นก็ถือว่ามาก ถึงแม้ว่าสถานการณ์รายวันจะลดไป แต่ต้องยอมรับว่าศักยภาพของฝ่ายตรงข้ามยังมีอยู่ เราก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายทั้งหมดที่กล่าวไว้ข้างต้น
ส่วนปัญหาอุปสรรคที่พบ ประการแรกคือขวัญและกำลังใจของตัวเจ้าหน้าที่เอง ซึ่งคำว่าขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่มีองค์ประกอบอยู่มาก ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ ซึ่งผมเคยใช้สิทธิเรียกร้องหลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา (อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา) เสียชีวิตด้วย ตรงนี้ก็เป็นเสมือนขวัญกำลังใจ
ปัญหาอุปสรรคอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหากำลังพลกับภารกิจของกำลังพล สภ.เมืองมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 200 นาย มันไม่พอหรอกที่จะรองรับพื้นที่ 9.6 ตารางกิโลเมตร เฉพาะเขตเทศบาลเองมีพื้นที่ 4.8 ตารางกิโลเมตร เอาแค่ในเขตเทศบาลก็แย่แล้ว ที่สำคัญเขาไม่ได้ทำงานพร้อมกันทั้ง 200 คน ผลัดหนึ่งทำได้เต็มที่ก็ 50 คนในพื้นที่ 4.8 ตารางกิโลเมตร
จากปัญหาเรื่องคน ก็มาที่ปัญหาเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ เราต้องยอมรับว่าในพื้นที่เขตเมืองต้องใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือซีซีทีวี ซึ่งนอกเหนือจากที่ทางเทศบาลมีแล้ว ทางตำรวจก็ต้องมีต่างหาก เพราะการติดตั้งกล้องของเทศบาลถือว่าติดในมุมกว้างเกินไป แต่ในส่วนของตำรวจเราต้องการสืบสวนติดตามจับกุม จึงต้องการความคมชัดของภาพ หรือซูมให้เห็นได้ในระยะใกล้ จะได้เห็นหน้าคนร้ายอย่างชัดเจน ซึ่งผมก็อยากได้กล้องประเภทนี้มากๆ
O รู้สึกกดดันหรือไม่กับการที่ต้องมารักษาการต่อจากผู้กำกับคนเก่าซึ่งถูกย้ายแบบฟ้าผ่า?
ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ ถ้าถามผมก่อนผมอาจจะปฏิเสธ เหตุผลก็คือผมอยู่ที่นี่มา 8 ปีแล้ว (หมายถึงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) ผมมีชีวิตส่วนตัวของผม ผมก็อยากใช้ชีวิตส่วนตัวแบบ พล.ต.อ.สมเพียร ต้องการบ้าง (หมายถึงย้ายออกจากพื้นที่ชายแดนใต้) ผมยังเหลืออายุราชการอีก 11 ปี ผมรู้สึกว่าผมเหนื่อยแล้ว อยากให้หมุนเวียนคนอื่นมาทำงานบ้าง ถ้าผู้บังคับบัญชาถามผมก่อน ผมต้องใช้คำว่า “อาจจะปฏิเสธ” และผมก็ไม่ได้ตั้งใจมา ผู้บังคับบัญชามอบหมายจริงๆ เลยเที่ยวนี้
แต่เมื่อมาอยู่แล้วมันก็เป็นความท้าทายของตำรวจคนหนึ่ง ถ้าได้ทำอะไรที่ท้าทายความสามารถมันก็ดี ผมจะพูดอยู่เสมอว่าเดี๋ยวจะรู้ว่าของจริงหรือของปลอม...หมายถึงตัวผมเอง แต่ผมก็จะไม่ละความพยายาม ผมจะไม่ยอมแพ้ ถ้าถามว่าหนักใจไหม ต้องตอบว่ากังวลมากกว่า แต่ถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว เราทำเต็มที่แล้ว เราอย่าไปเสียใจกับสิ่งที่มันจะเกิด คือเราต้องถามว่าเราทำเต็มที่แล้วหรือยัง อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด
O สมัยอยู่ สภ.ปะนาเระ เคยควักทุนส่วนตัวซื้ออุปกรณ์ตัดสัญญาณรีโมทคอนโทรลและมือถือให้ลูกน้องเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ วันนี้มาอยู่ที่ สภ.เมือง ต้องซื้อเพิ่มอีกหรือไม่?
เรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวนั้น ตอนที่ผมอยู่ สภ.ปะนาเระ ผมหมดเงินไปประมาณ 3 แสนกว่าบาท แต่ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นขวัญกำลังใจและเป็นเครื่องส่งเสริมความกล้าให้กับคน แม้กระทั่งการตรวจหรือการตั้งด่าน ถ้าตำรวจอยู่กัน 2 นายนะ ถ้าผมเป็นโจรผมจะยิงให้ร่วงเลย ผมก็บอกว่าจะต้องอยู่ในชุดปฏิบัติการทั้งหมด 4 คน และไปด้วยกันตลอดเวลา วัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ก็เหมือนกัน เป็นเพียงแค่เครื่องมือเสริมความกล้า เป็นขวัญกำลังใจให้เขาเท่านั้น มันยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวที่เรายังไม่มี ไม่ใช่ว่าจะห้าวกันขนาดนั้น เพราะผมไม่เคยสอนลูกน้องแบบนั้น แต่ก็ดีกว่าเดินตัวเปล่า
เรื่องแบบนี้ผมไม่สามารถรองบประมาณของทางราชการได้ ผมต้องอาศัยพี่น้องประชาชน พรรคพวกเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งช่วยเป็นตัวเงินผมก็ยินดี เพราะผมไม่อยากเห็นลูกน้องผมเจ็บหรือตาย ตอนนี้ก็ได้มีการระดมไปบ้างแล้ว และก็ได้มาพอสมควร
--------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา
อ่านประกอบ :
- ผ่าปมบึ้มปัตตานี-เด้งผู้กำกับ...ความไร้เอกภาพในเมืองมากผลประโยชน์
- เด้ง ผกก.เมืองปัตตานีเซ่นระเบิด จับอาวุธล็อตใหญ่จ่อป่วน 6 ปีกรือเซะ
- วันโลกถล่มของตำรวจปัตตานี บึ้มหน้าโรงพัก-คาร์บอมบ์ซ้ำดับ 1 เจ็บกว่าครึ่งร้อย
- เครื่องตัดสัญญาณรีโมท-มือถือ..."ทางเลือก-ทางรอด" ของตำรวจทหารแดนใต้