อปท.ม็อบหน้าทำเนียบร้องรบ.เพิ่มสัดส่วนงบท้องถิ่น 30%
ม็อบอปท.ร้องรบ.เพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น 2.72 % เป็น 30% เหตุภาระงานมากไม่พอบริการปชช. ‘วราเทพ’ แจงทำยาก-รอสภาฯปรับเพิ่ม รบ.เบี้ยว!ไม่เอาเรื่องเข้าครม. ม็อบลั่นชุมนุมใหม่ 28 พ.ค. 56
วันที่ 14 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการชุมนุมของสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยประมาณ 4,000 คน นำโดยนายธนภณ กิจกาญจน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ 2557 เป็นร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 27.28 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกแถลงการณ์ใจความว่า รัฐบาลขาดความจริงใจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งรายได้สุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ 27.28 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงมติ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ที่กำหมดไว้ที่ร้อยละ 27.77 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ทำให้รายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 เพียงร้อยละ 0.01 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามภาระงานที่รัฐบาลส่วนกลางมอบหมายให้ทั้งด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา การป้องกันและควบคุมโรค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนจัดสรรรายได้ให้อปท. ปีงบประมาณ 2557 เป็นร้อยละ 30 ของรายได้รัฐบาล
นายพิชัย บุณยเกียรติ นายกอบจ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในแกนนำผู้ร่วมชุมนุมกล่าวว่า การมาเรียกร้องวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวผู้บริหาร แต่มาเพื่อจะพัฒนาหมู่บ้าน ตำบล จังหวัดของประชาชนทั่วประเทศ ภาระหน้าที่ของอปท.วันนี้มีมากขึ้น เนื่องจากนโยบายกระจายอำนาจของรัฐบาลทั้งงานด้านการศึกษา ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา อาชีพ การกีฬา และสุขภาพ จำนวนเงินที่อปท.ขอเพิ่มไม่มากซึ่งหากได้เพิ่มตามที่ขอจะสามารถนำมาดูแลประชาชนในท้องถิ่นได้มากขึ้น
โดยมีนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมารับเรื่องฯ โดยนายวราเทพกล่าวว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อ ครม.พิจารณาว่าจะทบทวนได้หรือไม่ หรืออาจใช้ตัวเลขของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.)ซึ่งเสนอไว้ที่ร้อยละ 27.77 ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลถอดภารกิจที่เป็นนโยบายของรัฐบาลออกจากสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นนั้นต้องมีการหารือกัน และในการพิจารณางบประมาณปี 2558 ต่อไป
โดยข้อเสนอขอเพิ่มรายได้ท้องถิ่นเป็นร้อยละ30 นั้นคงจะเป็นไปได้ยากในเวลานี้ เนื่องจากวงเงินจะก้าวกระโดดอย่างมาก และสำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณการเอาไว้ซึ่งคงจะแก้ไขอะไรไม่ได้มากนัก แต่อำนาจในการตัดสินใจอีกส่วนอยู่ในชั้นของสภาผู้แทนฯที่จะ พิจารณางบรายปีเพื่อแปรญัตติปรับเพิ่มวงเงินด้วย" ทั้งนี้จะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายวราเทพรับปากจะนำเรื่องเข้าครม.ให้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้รอตัวแทนรัฐบาลนำผลการประชุมครม.มาแจ้งให้ทราบจนกระทั่งเที่ยงก็ยังไม่มีการประสานงานกลับมาแต่อย่างใด จึงได้แยกย้ายกันกลับ
โดยนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ตามที่นายวราเทพรับปากหรือไม่ เพราะไม่มีตัวแทนรัฐบาลคนใดมาแจ้งข่าว จึงได้แยกย้ายสลายการชุมนุมไป โดยคาดว่าจะกลับมาชุมนุมเรียกร้องเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค. 56
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงผลประชุมครม. มีการถามถึงการแก้ปัญหาม็อบอปท.ว่าได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.หรือไม่ โดยร.ท.สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้รับทราบข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมจากการรายงานของนายวราเทพ แต่ไม่ได้มีการพิจารณาใดๆ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นกับเรื่องดังกล่าวว่า อยากให้เป็นแนวทางเดียวกันในทุกภาคส่วนทั้งการพิจารณาค่าตอบแทนให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานในระดับชาติและท้องถิ่น โดยขอให้อย่าดูที่ตัวเลขอย่างเดียว แต่ให้ดูที่หน้าที่และประสิทธิภาพในการทำงานให้เหมาะสมกัน ซึ่งจะหาทางแก้ปัญหาต่อไป
ที่มาภาพ :: http://www.dailynews.co.th/politics/204362