“สงครามคลิป”ยังไม่จบ...นักวิชาการแนะไขข้อข้องใจด้วยข้อเท็จจริง
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ใครบางคนเคยบอกเอาไว้ว่า “ข่าวลือคือภาพสะท้อนความเปราะบางของสังคม” จึงไม่แปลกที่สังคมไทยและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเต็มไปด้วยข่าวลือ หนำซ้ำข่าวลือยังมีพัฒนาการตามเทคโนโลยี จากปากต่อปากก็กลายเป็นการส่งรูปส่งคลิป จริงบ้าง ตัดต่อบ้าง ตามแต่เป้าหมายของผู้ส่ง
ที่กรุงเทพฯมีสงครามคลิประหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อกล่าวหาว่าอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงก่อน ท่ามกลางความพยายามช่วงชิงเสียงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ระหว่าง "รัฐบาล" กับ "กลุ่มคนเสื้อแดง"
ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปล่อย “คลิป” จากบุคคลลึกลับ คลิปแล้วคลิปเล่า กล่าวหาทหารบ้าง โจมตีฝ่ายก่อความไม่สงบบ้าง ท่ามกลางสงครามแย่งชิงมวลชนระหว่าง “ทหาร” ในฐานะตัวแทนรัฐไทย กับ "ฝ่ายก่อความไม่สงบ" ที่เชื่อกันว่ามีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน
และไม่ว่า “สงครามคลิป” จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯหรือชายแดนใต้ ก็ล้วนทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างผู้คนมากขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “คลิป” ซึ่งประกอบไปด้วยภาพและเสียง ส่งผลกระทบต่อความคิดและความรู้สึกของผู้คนที่ได้ดูเป็นอย่างมาก ซ้ำยังแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วหลายช่องทางในยุคที่ “สื่อใหม่” หรือ “นิว มีเดีย” (New Media) เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
คลิปที่ถูกส่งต่อๆ กันและโจษขานกันเยอะมากในขณะนี้ที่ชายแดนใต้ คือคลิปชายฉกรรจ์ชุดดำซึ่งถูกอ้างว่าเป็นทหารพราน กำลังข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นหญิงมุสลิม โดยผู้ส่งระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มทหารพรานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครออกมายืนยันหรือปฏิเสธว่าภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจริงดังที่กล่าวอ้างหรือไม่
คำถามก็คือ เราจะจัดการความรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับ “คลิป” ลักษณะนี้มา และรัฐในฐานะที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มีช่องทางดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ผศ.นิชาวดี ตานีเห็ง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้นิยามของ “คลิป” เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า คลิปเป็นร่องรอยหลักฐานของปรากฏการณ์นั้นๆ แต่ต้องยอมรับว่าผู้รับข่าวสารในบ้านเรายังไม่รู้เท่าทัน ภาพที่เห็นจึงมีการเลือกส่งกันมาเฉพาะบางภาพที่มีแค่ด้านบวกหรือลบตามแต่จุดประสงค์ของผู้ส่ง
“การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ (นิว มีเดีย) อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ทำให้ข่าวบางข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ในฐานะผู้รับข่าวสารเห็นคลิปแล้วไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเท็จหรือจริง แต่จะคิดตามเฉียบพลันทันทีเมื่อถูกส่งกันมาว่าเป็นเรื่องจริงไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ผ่านการตรึกตรองมาก เห็นแล้วอาจจะสะเทือนใจ เช่นลูกผู้นำศาสนาดูแล้วไปบอกพ่อ พ่อไปพูดต่อที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน ข่าวสารจากคลิปก็กระจายไปทั่ว อย่าลืมว่าคลิปเป็นร่องรอยปรากฏการณ์ที่เห็นจริง เรื่องจะจริงอย่างไรคนรับสารไม่ทราบ ส่วนคนที่รู้เท่าทันและมีภูมิหลังอาจจะฉุกคิดก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นการประกอบสร้าง (ตัดต่อ) หรือไม่ ยิ่งคลิปทหารพรานที่มาปรากฏในพื้นที่นี้ยิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก”
ในความเห็นของ ผศ.นิชาวดี เธอมองว่าหากเนื้อหาในคลิปพาดพิงถึงใคร โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐในพื้นที่อ่อนไหวเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่ถูกกล่าวอ้างต้องออกมาไขข้อข้องใจ
“หน่วยงานที่ถูกพาดพิงต้องออกมาแถลงข้อสงสัยให้กระจ่างว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่นิ่งเงียบเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีการเอ่ยถึงทหารที่ทำไม่ดี ทำไมต้องเป็นทหารพราน ในฐานะนักวิชาการสื่อสารมองว่า เหตุการณ์นี้มีการสัมภาษณ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ต้นสังกัดของทหารพรานเองกลับไม่เคยออกมาแถลงข้อเท็จจริงให้กระจ่างเลย ถือเป็นความบกพร่องที่แสดงว่าต้นสังกัดและการสื่อสารองค์กรของทหารพรานต้องสร้างระบบใหม่”
“หน่วยทหารพรานในพื้นที่เกิดภาพลักษณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง เป็นภาพลักษณ์ด้านลบแทบทั้งสิ้น แล้วจะสร้างความเชื่อถือ ความศรัทธา และดำเนินงานด้านจิตวิทยามวลชนในพื้นที่ได้อย่างไร หลายๆ ครั้งรัฐอาจมีนโยบายที่ดีและใกล้ทำสำเร็จ แต่เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้หลายครั้ง โอกาสที่จะได้รับความร่วมมือหรือการยอมรับจากประชาชนก็น้อยลง เรื่องขวัญกำลังใจก็สำคัญ ในพื้นที่อาจจะมีทหารพรานดีๆ และตั้งใจทำงานเป็นจำนวนมาก แต่พอมีเรื่องแบบนี้ จะมีกำลังใจทำงานอีกหรือ ฉะนั้นหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องมีการบูรณาการการสื่อสารในภาวะวิกฤติด้วย และเชื่อว่าเหตุการณ์ในคลิปไม่น่าจะเกินความสามารถของฝ่ายความมั่นคงที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่”
เช่นเดียวกับคลิปการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ ผศ.นิชาวดี มองว่า เป็นปัญหาคล้ายๆ กับที่ชายแดนใต้
“ไม่ทราบว่าคลิปเหล่านั้นมาจากเรื่องโครงสร้างอำนาจหรือเป็นการประกอบสร้างหรือเปล่า แต่แนวคิดทฤษฎีของตะวันตกที่เกี่ยวกับการสื่อสารนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างมาตรฐานเดียวกัน เพราะการที่จะสถาปนาความเป็นชาติต้องสามารถสร้างมาตรฐานเดียวกันในทุกมิติของคนในชาติได้ ไม่ใช่มาทะเลาะกันเรื่องการสร้างภาพกล่าวหากัน เราต้องก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเพื่อพัฒนาชาติด้านอื่น เพราะยังมีประเด็นดีๆ อีกมากที่รอการขบคิด”
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยังเห็นว่า ปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งคือคนทำงานสื่อ จะต้องทำการบ้านและรู้เท่าทัน เพื่อรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบความหมายระหว่างผู้ส่งและผู้รับ อย่าให้คลิปกลายเป็นช่องทางในการสร้างข่าวลือมากกว่าข้อเท็จจริง
“การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทย ณ วันนี้เป็นแบบตะวันตก คือเน้นรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ บางสื่อที่มีอุดมการณ์ก็ไม่สามารถหลุดพ้นภาวการณ์แข่งขันนี้ได้ เพราะกลัวตกข่าว ฉะนั้นก่อนการเผยแพร่คลิปแต่ละคลิป องค์กรสื่อจะต้องฉุกคิดพิจารณา ต้องไหวรู้สถานการณ์ก่อนจะทำการสื่อสาร หาข้อมูลอย่างรอบด้านเชิงคุณภาพ และดำรงอยู่ด้วยคุณภาพ อย่ากลัวการตกข่าวอย่างเดียว”
“ในความเป็นจริงคลิปมีสองด้าน คือด้านดีและด้านไม่ดี มุมมองของนักสื่อสารต้องเลือกรับ ปรับ ปรน ผสมผสาน ไม่ใช่สื่อข้างเดียว อย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้น กำลังเป็นปรากฏการณ์แย่งชิงมวลชน แต่รัฐก็ต้องยอมรับโดยบรรทัดฐานของสื่อมวลชนว่า สถานีโทรทัศน์ของรัฐบางช่องกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงไม่มีโอกาสได้รับพื้นที่สะท้อนมุมมองว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร คนรับสารจึงต้องตัดสินเอาเอง จึงเป็นคำถามสำหรับคนทำสื่อว่าใครจะเป็นผู้สร้างสันติภาพ”
ผศ.นิชาวดี ยังวิเคราะห์ด้วยว่า เรื่องราวที่โยงใยเป็นลูกโซ่มาถึงคลิปที่ปรากฏขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหามาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากภาครัฐก็ได้
“หากหน่วยงานระดับท้องถิ่นดำเนินการอย่างจริงจังให้ชาวบ้านเห็นว่ารัฐเข้ามาแล้วพัฒนาจริง ไม่ต้องมีนโยบายสวยหรู แต่เป็นความจริงที่สัมผัสได้ เชื่อว่าประชาชนฐานรากยินดีเสมอในการสร้างชาติและอยู่ร่วมกันอย่างจริงใจ สันติ โดยประเมินกันที่เศรษฐกิจดี ยาเสพติดหมดไป มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่พอกิน ทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทัน มีส่วนร่วมจริง แต่ที่ผ่านมาเห็นว่ายังเป็นแค่ส่วนร่วมเทียม เป็นแค่ตัวเลข ถ้ารัฐต้องการสร้างรัฐชาติให้เข้มแข็งต้องเริ่มจากหมู่บ้าน ตำบล และต้องไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการศึกษา การสื่อสารของรัฐในพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นสุญญากาศ ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ มองข้ามอานุภาพการสื่อสารของชุมชนที่มีความหมายตั้งแต่ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ฉะนั้นรัฐต้องหันมามองฐานรากและจริงจังจริงใจถึงจะสามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อถือแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง” ผศ.นิชาวดี กล่าว
สุดท้ายการแก้ไขทุกปัญหาย่อมหนีไม่พ้นเรื่องชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง...และการเอาชนะข้อข้องใจด้วยข้อเท็จจริง!
----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คลิปที่ถูกส่งต่อๆ กัน เปิดดูได้ทั้งในโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
2 ผศ.นิชาวดี ตานีเห็ง
อ่านประกอบ : "คลิปฉาว"ระบาดใต้...อีกหนึ่งปฏิบัติการข่าวลือในสงครามชิงมวลชน