เฉลยคำถามค้างใจ… ใครกล้าเซ็นสัญญา เอาหัวประกันโปรเจกต์น้ำ 3.5 แสนล้าน
ภายหลังที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดรับซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ครั้งสุดท้าย ภายใต้งบ 3.5 แสนล้าน โดยมี 4 บริษัทเข้ายื่นซองชิง 9 โมดูล ได้แก่ 1.ITD – Powerchina 2.K – Water 3.Summit SUT และ4.Loxley
จากนี้ไปเหลือขั้นตอนที่คณะกรรมการตรวจอ่านเอกสารข้อเสนอการออกแบบ ซองราคา และเจรจาตกลงราคา โดยคาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและได้ข้อสรุปช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ กบอ.และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
รวมถึงจะนำรายละเอียด เทคนิค พื้นที่ในการดำเนินการ ราคาที่เสนอไปร่างหนังสือสัญญา เพื่อทำเรื่องกู้เงินให้ทันในปลายเดือนมิถุนายนตามกรอบเวลาที่กำหนด
นั่นก็หมายความว่า... การเซ็นสัญญากับบริษัทในแต่ละโครงการฯ นั้น อาจเกิดขึ้นภายหลังเดือนมิถุนายนก็เป็นได้
ขณะที่ยังมีอีก 'คำถาม' อีกมากที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ วิศวกร เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และประชาชนเองยังข้องใจและเห็นว่า อะไรๆ ก็ยังไม่ชัดเจน...
สำนักข่าวอิศรา รวบรวมคำถาม-คำตอบส่วนหนึ่ง จากการสัมภาษณ์และตอบคำถามสื่อ ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. และดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานคณะอนุกรรมการและวิเคราะห์โครงการ กบอ.ที่ดูแลเรื่องเทคนิคและวิชาการ ในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย อาทิ การเซ็นสัญญา และการเวนคืนที่ดิน
@ ว่าด้วยเรื่อง การเซ็นสัญญา
ดร.อภิชาติ แจงให้ฟังว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ร่างหนังสือสัญญา เนื่องจากต้องรอความชัดเจนให้คณะกรรมการตรวจอ่านเอกสารด้านรายละเอียด เทคนิคและราคาก่อน
สำหรับ 'คู่สัญญา' เนื่องจากเป็นเงินกู้ของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ในทุกสัญญาจะเซ็นในนาม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น "นิติบุคคล" เจ้าของเงินโดยตรง มี ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการฯ มีคณะกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบในแต่ละโครงการ ที่มาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการนั้นๆ เช่น เรื่องเขื่อน ต้องมีกรมชลประทานร่วมเป็นกรรมการ เรื่องพื้นที่ปิดล้อม ก็เป็นส่วนงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง
ในกรณี 'คู่สัญญา' ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การเดินสายออกสื่อในช่วงนี้ของทีม กบอ.ที่นำโดย นายปลอดประสพ มักจะกล่าวเสมอว่า "ตนเป็นคู่สัญญา เป็นผู้เซ็นสัญญาเองทุกโครงการ"
ซึ่งท้ายที่สุดใครจะยอมเซ็นสัญญา หรือบังคับให้ใครเซ็นสัญญาเอาหัวเป็นประกันรับผิดชอบโครงการ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไป
@ คลังข้อมูลและการพยากรณ์เตือนภัย เหตุใดต้องใช้ Design-build ?
ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึง โมดูล เอ 6 และ บี 4 เรื่องคลังข้อมูลและการพยากรณ์เตือนภัย ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร และเหตุใดต้องใช้การศึกษาออกแบบและก่อสร้างที่ออกแบบไปด้วยสร้างไปด้วย (Design-build)
ดร.อภิชาติ ให้้คำตอบว่า... การก่อสร้างคลังข้อมูลและการพยากรณ์เตือนภัย ส่วนใหญ่งานเป็นด้านซอฟท์แวร์ จะมีฮาร์ดแวร์บางส่วน โดยจัดทำศูนย์ปฏิบัติการแบบรวมศูนย์ (Single Command) ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดพื้นที่ให้ในภายหลัง
หน้าที่ของเอกชน จะต้องออกแบบฟังก์ชั่นของระบบ ออกแบบศูนย์ซิงเกิลคอมมานด์ ว่าใช้พื้นที่เท่าไหร่ มีกี่อาคาร ประกอบด้วยห้องอะไรบ้าง จึงต้องใช้คำว่า Design-build ที่ต้องออกแบบและก่อสร้างควบคู่กันไป เช่นเดียวกับการก่อสร้างในโมดูลอื่นๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา
@ ตามด้วยเรื่อง เวนคืนที่ดิน
แม้ในทีโออาร์จะระบุว่า เป็นหน้าที่ของเอกชน ที่ต้องทำการศึกษา เจรจากับประชาชนและจ่ายชดเชย แต่เมื่อสอบถามลงลึกในรายละเอียดแล้ว ดร.อภิชาติ บอกว่า แท้จริงแล้ว...เอกชนจะทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยเอกชนเป็นผู้ระบุพื้นที่ ว่าทางน้ำจะผ่านพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงระบุจำนวนเงินที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ไว้ชัดเจนในเอกสารข้อเสนอ
@ เมื่อบริษัทสามารถระบุจำนวนเงินที่ใช้แต่ละพื้นที่มายื่นเสนอ แสดงว่ามีการสำรวจและประเมินพื้นที่แล้ว ?
ทราบมาว่าบริษัทไปเซอร์เวย์พื้นที่ สำรวจราคาที่ดินแล้ว จึงมาเสนอราคาได้
@ แต่ยังไม่มีการพูดคุย ต่อรอง ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ?
เมื่อเสนอราคาได้ ก็น่าจะมีทีมลงไปศึกษาบ้างแล้ว ฉะนั้น หากมีปัญหาตกลงราคากับชาวบ้านไม่ได้ หรือต้องชดเชยเงินเกินกว่าที่เสนอ บริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง
สำหรับการเจรจากับประชาชนในแต่ละพื้นที่ นายปลอดประสพ ชี้แจงว่า ส่วนนี้ทั้งเอกชนและรัฐบาลจะช่วยกันเจรจา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ
1.หากเป็นที่ดินของรัฐ เช่น สร้างเขื่อน ก็เป็นหน้าที่ของกรมอุทยาน กรมป่าไม้จะอนุมัติ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
2.หากเป็นที่ดินของรัฐ แต่ให้เอกสารสิทธิ์แบบหนึ่งแบบใด เช่น สปก.ก็จะต้องมีการชดเชยให้ผุ้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น
3.หากเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของประชาชน และมีความมั่นใจว่า การก่อสร้างในที่ดินดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็จะออก พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ตามระเบียบราชการทุกประการ
จากนั้นถึงจะเป็นขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้ให้เงินทั้งหมดแก่เอกชนไปจัดการเพียงผู้เดียว