เงินเยียวยากับสารพัดปัญหา...และทิศทางใหม่ดับไฟใต้ด้วย “เยียวยาคุณภาพ”
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 ไฟใต้ ภารกิจหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบก็คือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งใช้เม็ดเงินไม่น้อย และมีปัญหาตามมาไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินซึ่งหลายๆ ครั้งกลับสร้างความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ จนต้องมีการพูดถึงเรื่อง “เยียวยาจิตใจ” และการ “เยียวยาคุณภาพ” เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ข้อมูลจากฝั่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 14 ก.พ.2553 เฉพาะศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานีให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบไปทั้งสิ้น 3,561 ราย มีทั้งทุพพลภาพ บาดเจ็บ และเสียชีวิต เม็ดเงินที่ใช้ไปสูงถึง 497 ล้านบาทเศษ
แต่ “เงิน” ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวของงานเยียวยาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
เอก ณัฐทิพชาติ หรือ “ปลัดหนึ่ง” หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานี เล่าถึงกระบวนการเยียวยาที่รัฐทุ่มเทตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของงานเยียวยาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
O งานเยียวยาของรัฐยึดหลักอะไร และในระยะ 6 ปีสะท้อนให้เห็นพัฒนาการอะไรบ้าง?
ที่เห็นเด่นชัดมี 5 ประการ อย่างแรกคือ “นโยบาย” เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกศาสนาหรือสถานะ จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไปก็ได้รับการดูแล และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล นโยบายเรื่องนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน
สอง “งบประมาณ” กล่าวคือตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งงบกลางสำหรับใช้เพื่องานเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย ทุนการศึกษาบุตร การจ้างงานเร่งด่วน (โครงการ 4,500) โครงการส่งเสริมอาชีพรายบุคคลและกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตและครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับครัวเรือน
สาม “การพัฒนางบจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปลี่ยนเป็นงบประมาณแผ่นดิน” คือกระบวนการเยียวยาในระยะแรกที่เริ่มต้นโดยภาครัฐนั้นใช้เงินของกองสลาก และนำมาจ่ายโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์เท่าที่ควร ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ผ่านการประเมิน ประมวลผล และอุปสรรค ตรงนี้ก็เป็นพัฒนาการขึ้นมา ที่สำคัญเงินงบประมาณแผ่นดินที่นำมาใช้แทนเงินจากกองสลากก็เป็นการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและหลักความคิดความเชื่อทางศาสนาของพี่น้องที่เป็นมุสลิมด้วย
ตัวอย่างของพัฒนาการก็เช่น วันนี้มีอนุกรรมการช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นหลักประกันกรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ แต่ไปเกิดผลเสียหายอันไม่เจตนาต่อบุคคลอื่น หรือเจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือทรัพย์สิน ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือขึ้นมา
สี่ ความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างกลไกภาครัฐ ภาคราชการ กับภาคประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบมีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น มีการทำงานหลากหลายมิติมากขึ้น ลำพังราชการฝ่ายเดียวทำคงสำเร็จยาก จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกที่เป็นภาคประชาชน หรือ เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน แล้วทำงานในลักษณะเครือข่าย เพราะบางครั้งเอ็นจีโอสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าภาคราชการ ไม่ติดขัดในเรื่องระเบียบกฎหมาย มีวิธีคิดนอกกรอบ ช่วยอุดช่องว่างในสิ่งที่หลักเกณฑ์หรือระเบียบกฎหมายของราชการไปไม่ถึงได้
ห้า ศูนย์เยียวยาจังหวัด อำเภอ และตำบล เป็นการพัฒนาตนเองให้ทันกับสถานการณ์ และปรับวิธีคิดวิธีการทำงานจากเดิมที่เป็นฝ่ายตั้งรับ ก็เปลี่ยนแปลงสู่การช่วงชิงมวลชน ชิงเป้าหมาย ชิงพื้นที่ คำว่า “ช่วงชิง” ในที่นี้เป็นการทำงานในเชิงรุก โดยยึดผู้ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์กลาง เราก็มาคิดว่าทำอย่างไรเราจะเข้าถึงเขาได้อย่างรวดเร็ว การจ่ายเงินมีความเป็นธรรม ตอบคำถามได้ และดูแลทุกข์สุขของทุกครัวเรือนในทุกมิติได้ ทั้งหมดนี้คือหลักการทำงานและพัฒนาการ ซึ่งคิดว่าได้ผลในระดับหนึ่ง
O ถ้าดูจากตัวชี้วัดผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบ คิดว่ากระบวนการเยียวยาในพื้นที่เกิดผลสำเร็จขึ้นมากหรือไม่?
ตัวชี้วัดต้องมองเป็นเรื่องๆ ผมคิดว่าตัวชี้วัดที่เราเห็นได้ชัดเจนและสำเร็จก็คือความเข้มแข็งของกลุ่มสตรีหม้าย นำไปสู่การรวมตัวในนามของภาคประชาชน เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดว่าหลังจากที่สามีเสียชีวิตเขาต้องรับภาระเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเลี้ยงดูลูก ทำให้รัฐต้องเข้าไปช่วยเสริมอีกแรงไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ควรได้ ทุนการศึกษา และการจ้างงานเร่งด่วน (4,500)
เราพบว่าพวกเขามีการพัฒนาความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากความสำเร็จเดิม เช่น วันนี้เมื่อกลุ่มเกิดการเข้มแข็ง เขาต้องการร้านค้าเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับกลุ่มสตรีหม้าย กลายเป็นความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง โดยที่พวกเขาตั้งร้านค้าขึ้นมาแล้วช่วยกันบริหาร รัฐเปิดให้ลงหุ้น ให้ผู้ได้รับผลกระทบที่อยากจะลงหุ้นก็สามารถมาสมัครเข้ากลุ่มได้ อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนว่างบประมาณที่รัฐลงไปหรือให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไปนั้นไม่สูญเปล่า
ในส่วนของเด็กกำพร้าเองก็มีการร่วมตัวกันเหมือนกัน เป็นโครงการในลักษณะพี่ช่วยน้อง ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจกันเอง
O งานเยียวยาที่ทำมารู้สึกพอใจมากน้อยแค่ไหน?
งานเยียวยาตลอด 6 ปีถือว่าอยู่ในขั้นพอใจ แต่ก็ต้องปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะว่างานเยียวยามันไม่ใช่จบแค่การจ่ายเงิน แต่มันต้องบูรณาการทุกมิติ ไม่ว่าจะการช่วยเหลือเป็นตัวเงิน งาน อาชีพ การศึกษา และการเยียวยาจิตใจ ต้องติดตามดูแลไปตลอด โดยถือว่าครอบครัวเหล่านี้เป็นครอบครัวพิเศษที่ต้องได้รับความเห็นใจจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้รับกระทบได้เห็นอกเห็นใจคนที่ได้รับผลกระทบ มีอะไรก็เอื้อเฟื้อแบ่งปัน สร้างความสามัคคีเกิดขึ้นร่วมกัน สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ภาคราชการอย่างเดียว
O งานเยียวยาในอนาคตควรพัฒนารูปแบบอย่างไร?
ผมคิดว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในแง่ภาระหน้าที่ต่อคนในท้องถิ่นของตนเอง การสนับสนุนงบประมาณ และการประสานข้อมูลระหว่างอำเภอกับจังหวัดและท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และมีงบประมาณเป็นของตัวเอง น่าจะช่วยเสริมได้เยอะ ถ้ารู้ว่ามีคนในพื้นที่ของเราได้รับผลกระทบ ก็ต้องคิดโครงการเข้าไปช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้สามารถอยู่ในพื้นที่ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แม้จะขาดผู้นำไปก็ตาม
นอกจากนั้น กระบวนการทางศาสนาที่ผู้นำทางศาสนาจะต้องทำหน้าที่ชี้แนะกับเด็กมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าส่วนหนึ่งเราพบว่าเด็กที่ขาดพ่อนั้น บางคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางคนก้าวร้าว บางคนเป็นเด็กเก็บกด ไม่ค่อยพูดค่อยจา ถ้าเราใส่ใจด้วยการเยี่ยมเยียนสอบถามสารทุกข์สุขดิบ ให้กำลังใจทางอ้อม มันก็เหมือนเราทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาไปในตัว
การช่วยเหลือประชาชนในวันนี้ ในทัศนะของผมคิดว่ารัฐให้อย่างเพียงพอทั้งตัวเงิน ทุนการศึกษา และโครงการส่งเสริมอาชีพ แต่ผมมองว่าระยะยาวนั้นเราควรจัดทำแผนเรื่องเด็กกำพร้าขึ้นมาเป็นการเฉพาะ แล้วยกเป็นกรณีศึกษา สมมติว่าปัตตานีมีอยู่ประมาณ 1,200-1,300 คน กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ต้องคิดต่อว่าเรียนจบกี่คนแล้วเราจะช่วยเขาเหล่านั้นให้มีงานทำได้อย่างไร โดยภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ ผมคิดว่าแผนสำหรับรองรับบุคคลเหล่านี้เข้าทำงานมีความจำเป็น ถือเป็นหลักประกันให้กับผู้ปกครองว่าเมื่อแก่ตัว ลูกเรียนจบจะได้งานทำจริงๆ
O ปัญหาหวังเงินเยียวยามากเกินไป ตรงนี้จะแก้ไขอย่างไร?
ยอมรับว่าหลายๆ เหตุการณ์ในวันนี้ (หมายถึงเหตุการณ์ความรุนแรง) บางเรื่องก็ใช่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ทุกคนพุ่งเป้าไปที่เงินเยียวยาแล้ว ผมก็เป็นห่วงว่าถ้าสังคมหวังแต่เงินเยียวยาจากภาครัฐ จะกลายเป็นความอ่อนแอ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คงต้องมองหลายๆ มิติแล้วนำมาสังเคราะห์ เช่น เมื่อเขาขาดผู้นำครอบครัวไป ครอบครัวก็ลำบาก งบประมาณก็มีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปเสริม อันนี้ผมคิดว่ายังมีความจำเป็นอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้บุคคลเหล่านี้อยู่ต่อไปได้ด้วยกำลังใจ ต่อสู้ชีวิตได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง
ผมมองว่าเป็นเรื่องของทุกหน่วยงานที่ต้องช่วยกันทำ ทั้งภาคเอกชนและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนคดีหรือเหตุการณ์ที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวนั้น ก็ต้องมีกระบวนการสอบสวนที่ตอบคำถามให้ได้ว่าเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ถ้าเราไม่สามารถตอบได้ชัดเจน มันก็จะเป็นปัญหาอีกว่ารัฐไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
สำหรับคนที่ได้รับเงินเยียวยา ขอให้ยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องความพอเพียงมาเตือนใจอยู่เสมอ ความพอเพียงก็คือรู้จักพอประมาณ มีเหตุผลว่าเราจะใช้เงินอย่างไร ต้องคิดถึงภาระหรือผลระยะยาว ส่วนหนึ่งต้องเก็บออม และใช้อย่างไร เงินเป็นแสนๆ บาท วันเดียวก็หมดได้ถ้าไม่รู้จักใช้และไม่จัดระบบตัวเอง วันรุ่งขึ้นกลายเป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคมต่อไปอีก ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม อยากให้หยิบยกคำสอนทางศาสนามาใช้ เงินหลายแสนบาทถ้าไม่มีหลักธรรมมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวก็หมดได้ภายในวันเดียว
หมอสุภัทร: ดับไฟใต้ด้วย"เยียวยาคุณภาพ"
จากปัญหาเรื่อง “เงินเยียวยา” ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง “การเยียวยาคุณภาพ” ขึ้น โดยการผลักดันของมูลนิธิเพื่อการเยียวและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา หนึ่งในกรรมการมูลนิธิฯ เล่าให้ฟังถึง “การเยียวยาคุณภาพ” ซึ่งจะเป็นก้าวย่างอันสำคัญของงานเยียวยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
O จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้คืออะไร?
การเยียวยาที่ผ่านมา บทบาทหลักจะตกไปอยู่ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ไม่ว่าจะถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียก็จะมีการช่วยเหลือเรื่องเงินเป็นหลัก ซึ่งชัดเจนว่าเงินที่ให้ชาวบ้าน 1 แสนบาทขึ้นไปนั้น ที่พบเห็นจะหมดไปภายในเดือนเดียว หมดไปกับการเคลียร์หนี้สิน โอกาสที่เงินก้อนนี้จะได้นำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยืนอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง มีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก
ปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มส่งนักจิตวิทยาลงพื้นที่ เพื่อเน้นเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถบรรเทาความทุกข์ของผู้ได้รับผลกระทบลงได้มาก แต่พอมาวิเคราะห์ก็พบว่ายังเป็นมุมเชิงสังคมสงเคราะห์อยู่ มันยังไม่สามารถทำให้ผู้สูญเสียโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหญิงหม้าย กลุ่มยากจน หรือกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงผู้สูญเสีย สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง มีอาชีพ เลี้ยงลูกได้ ลูกมีการศึกษาต่อเนื่องและมั่นคง เรื่องเหล่านี้มันยังไม่เกิด ก็เลยนำมาสู่การคิดว่า จะทำอย่างไรเราถึงจะสามารถช่วยกันเยียวยาคนเหล่านี้ได้ให้ยืนขึ้นได้อย่างแท้จริง
ผมคิดว่าบทเรียนสำคัญที่ทีมของพวกผมได้มีโอกาสสัมผัส คือบทเรียนของ อาจารย์ปิยะ กิจถาวร (คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) โดยอาจารย์ช่วยเหลือคนยากลำบาก คนชายขอบ ด้วยการให้เงินทุน 5,000 บาท เงินจำนวนนี้ให้เขาไปทำในสิ่งที่เขาคิดว่าน่าจะทำเพื่อพัฒนาอาชีพให้ยั่งยืน
ยกตัวอย่างที่ อ.จะนะ มีคนสานเศษกระจูด เดิมเขาซื้อกระจูดมาทีละนิด เนื่องจากไม่มีทุน เอามาสานเป็นเสื่อกระจูด สานเสร็จก็รอคนมารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ก็ได้ผืนละ 40 บาท วันหนึ่งสานได้อย่างมากก็ 2 ผืน แต่พออาจารย์ปิยะได้ให้เงินทุนไป 5,000 บาท เขาก็นำไปซื้อเศษกระจูดได้ในปริมาณมากขึ้น วัตถุดิบก็ถูกเพราะซื้อคราวละมากๆ สานเสร็จก็ไม่ต้องรีบขาย เพราะเขามีทุน เขาก็สามารถเอาไปขายวันตลาดนัด ราคาก็สูงขึ้น
วงจรจากเงิน 5,000 บาท ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น แต่เขาก็ต้องคืนเงินกลับมา ไม่ใช่ว่าไม่คืน อยู่ที่สัจจะของเขาว่าแต่ละเดือนต้องคืนมากี่ร้อยบาท ผมคิดว่ารูปธรรมอย่างนี้มันเป็นตัวอย่างที่ดีที่น่าจะนำมาใช้เกี่ยวกับงานเยียวยา ให้คนที่มีความยากลำบากเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ สามารถใช้เงินจำนวนน้อยแต่ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ เราก็เลยเรียกแนวคิดนี้ว่า “เยียวยาคุณภาพ” ซึ่งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ ได้รับแนวคิดนี้มาเพื่อผลักดันต่อไป
O ปัญหาที่พบในการผลักดันแนวคิดใหม่มีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลงพื้นที่ คือภาคราชการจะเข้าพื้นที่ลำบาก ยิ่งเป็นพื้นที่สีแดงด้วยแล้วยิ่งยาก ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยรัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนคนมีจิตอาสา รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ที่ผ่านมาก็ทำงานเข้มแข็ง ไม่ว่าก่อนหรือหลังเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ
ตอนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบชัดเจนเลยว่าเจ้าหน้าที่อนามัยลงพื้นที่น้อยลง เพราะว่าไม่สบายใจ ในหลายๆพื้นที่ไม่กล้าลง แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ บทบาทของ อสม.ในการอาสาเข้าไป ตามลูกมาฉีดวัคซีน เข้าไปเจาะเบาหวาน หรือเข้าไปคัดกรองต่างๆ แทนเจ้าหน้าที่อนามัยด้วยจิตอาสา กลไกพวกนี้ควรได้รับการสนับสนุนขึ้นมา
ผมคิดว่ามีหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ลงไปได้ ซึ่งส่วนนั้นก็ควรจะต้องลง เพื่อช่วยกันคลายปมแบะแก้ปัญหาต่อไป เราเชื่อว่าหัวใจของการสร้างความสมานฉันท์ คือการเยียวยา ลดความไม่ไว้วางใจ ลดความทุกข์ของผู้คนที่ได้รับกระทบให้มากที่สุด ซึ่งมันจะนำมาสู่การไม่เกลียดชังกันในสังคม หรือไม่มีอคติต่อกันระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งในที่สุดจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และนี่คือต้นทุนอันสำคัญในการสร้างสันติภาพ
มันไม่ใช่การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับหัวหน้าขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งอันนั้นมันคงเป็นสันติภาพในเชิงโครงสร้างระดับบน แต่สันติภาพในหมู่บ้าน ความสมานฉันท์ในชุมชนมันต้องเกิดจากความไว้วางใจและการเห็นอกเห็นใจกันของคนในชุมชน ซึ่งกรณีการเยียวยาคุณภาพแบบนี้มันจะช่วยได้เยอะ
O งานเยียวยาคุณภาพเน้นกลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ?
เราเน้นกลุ่มผู้หญิง กลุ่มสตรีหม้ายที่ยากจน เด็กกำพร้า ผู้หญิงที่สามีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และมีลูกหลายคน คิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถ้าเราช่วยเขาได้ มันก็จะส่งผลต่อครอบครัวของเขาทั้งครอบครัว และเราค้นพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ขยับ มีความต้องการที่จะฟื้นฐานะ สร้างฐานะเพื่อการดูแลลูก ดังนั้นแรงขับดันของเขาจะสูง เพียงแต่ต้องการการสนับสนุนบางอย่าง นั่นคือเงินและมิตรภาพ คำแนะนำ และกำลังใจ พวกนี้จะเสริมได้
ส่วนในแง่ของฝ่ายผู้ก่อเหตุ ผู้หญิงมากมายต้องรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวหลังจากสามีโดนจับ โดนวิสามัญฆาตกรรมบ้าง กลุ่มนี้รัฐเองควรให้การช่วยเหลือ ไม่มีการแบ่งแยก เพราะจริงๆ ผู้ก่อเหตุนั้น เราจะมองเขาเป็นสีดำหมดไม่ได้ แต่ผมกลับคิดว่าทั้งหมดมันเป็นประสบการณ์ที่เขาพบมาตั้งแต่เล็กถึงความอยุติธรรมที่สังคมเขาได้รับ หรือครอบครัวเขาเคยได้รับ มันก็สะสมเป็นตัวตนของเขา ทำให้เขามีโอกาสที่จะเอนเอียงไปเข้าขบวนการได้
เมื่อเขาผิดไปแล้ว เขาอยู่ข้างนั้นแล้ว มันก็มี 2 ทางเลือก คือ 1.จับขังคุกตามโทษที่ควรได้ 2.นำเขากลับเข้าสู่สังคม ให้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มันต้องอยู่ร่วมกัน แล้วก็ค่อยๆ ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ พัฒนาชุมชนในทิศทางที่สมควรจะเป็น ไม่ใช่ทิศทางแบบปัจจุบัน
ทิศทางแบบปัจจุบันผมคิดว่ามันแย่ เปิดร้านขายเหล้า เปิดคาราโอเกะข้างมัสยิด ผมรับไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนี้จริงๆ ในสังคมบ้านเรา ใครมีเงินก็ฉวยโอกาสทำโน่นทำนี่ได้เต็มไปหมด มิติวัฒนธรรมหายไป มิติศาสนาหายไป ไม่เฉพาะมิติของมุสลิมที่หายไป ของศาสนาพุทธก็หายไป ทั้งหมดมันถูกกลืนในกระแสทุน กระแสบริโภคนิยม ผมคิดว่าหลายคนที่เข้าไปอยู่ในขบวนการ เป็นคนที่มีอุดมการณ์ต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เข้าไปเพราะว่าถูกหลอก คนเราไม่ถูกหลอกง่ายๆ แบบนั้นหรอก หลอกก็แค่ครั้งคราว ครั้งสองครั้งอาจจะหลอกกันได้ แต่ถ้าอยู่เป็นครึ่งปีถึงหนึ่งปี อย่างนี้ไม่โดนหลอกแล้ว อันนี้คือเขาเข้าไปอยู่ด้วยอุดมการณ์
การจะสู้กับอุดมการณ์ มันก็ต้องใช้อุดมการณ์สู้กัน ไม่ได้ใช้กำลังสู้กัน การใช้กำลังกวาดล้างก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ได้แค่กดเอาไว้เพื่อไม่ให้ลุกลาม แต่ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ตรงนี้ผมคิดว่าการเยียวยา การได้มีโอกาสคุยกัน ได้เห็นหนทางในการสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน จะเป็นวิถีที่สำคัญ แต่โอกาสที่จะได้เปิดประเด็นสานเสวนามันยังไม่มี บรรยากาศเช่นนี้ยังไม่เกิด ชาวบ้านยังไม่ไว้วางใจ และภาพของรัฐก็ไม่ได้เปิดบทบาทนี้ขึ้นมา แต่ยังเป็นภาพการทหารนำการเมืองอยู่ แม้ปัจจุบันจะพูดว่าการเมืองพยายามนำการทหาร แต่ภาพลักษณ์ก็ยังเป็นการทหารนำการเมืองอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องเร่งปรับ และผมคิดว่าแนวทางการเยียวยาคุณภาพจะเปิดทางให้สร้างความไว้วางใจและเริ่มพูดคุยกันได้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป